มีใครที่เป็นมนุษย์ออฟฟิศที่ต้องทำงานอยู่ตรงหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลากันบ้าง ขอให้ยกมือขึ้น! แน่นอนว่าในหนึ่งวันของการทำงานนั้นแทบจะใช้เวลากับคอมพิวเตอร์และยังต้องนั่งติดโต๊ะด้วยท่าเดิมๆ 7– 8 ชั่วโมงกันไปเลย ยิ่งถ้าใครต้องคลิกเมาส์หรือใช้โทรศัพท์มือถือตลอดเวลาก็จะทำให้เป็นโรคนี้กันได้ง่ายๆ
และถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองปวดตามข้อมือ นิ้วมือ ปลายมือ ปลายเท้า หรือรู้สึกชาตามมือตามเท้า บางทีคุณอาจจะเป็นโรคปลายประสาทอักเสบก็ได้นะ ว่าแต่โรคนี้มันคืออะไร iNN หาคำตอบมาให้แล้ว ไปอ่านกันเลย
โรคปลายประสาทอักเสบ คืออะไร?
โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) คือภาวะของเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับส่งคำสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่างๆในร่างกายเกิดความเสียหายหรือเกิดโรคบางชนิด ทำให้เส้นประสาทมีอาการบาดเจ็บและทำให้เกิดความผิดปกติในเรื่องของการตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ต้องบอกก่อนว่าในร่างกายของคนเรานั้นจะมีระบบประสาทส่วนปลายที่จะทำหน้าที่รับคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลาง แล้วส่งต่อคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกได้ ระบบประสาทส่วนปลายจะมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นสายไฟฟ้าในการนำคำสั่งไปตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งเส้นประสาทส่วนปลายที่ออกจากสมองจะมีทั้งหมด 12 คู่ซ้ายและขวา แต่ละคู่ควบคุมการทำงานในแต่ละส่วนของร่างกายที่แตกต่างกันไป
อาการเบื้องต้นที่พบได้บ่อยในโรคปลายประสาทอักเสบ
- มีอาการมือชา เท้าชา หรือรู้สึกชาตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- มีอาการปวดแปร๊บๆ บนใบหน้าคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต
- มีอาการร้อนวูบวาบ หรือแสบร้อนใต้ผิวหนัง
- มีอาการบ้านหมุน เดินเซ รู้สึกสูญเสียการทรงตัว
- มีความดันโลหิตต่ำ
- มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ
- ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก หรือ มีอาการหน้าเบี้ยว
นอกจากมนุษย์ออฟฟิศที่เป็นโรคนี้กันบ่อยแล้ว คนทั่วไปก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ต้องบอกก่อนว่าจริงๆแล้วสาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรคหรือเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ เช่น
- คนที่ทำงานหนักจนไม่มีเวลาได้พักผ่อน
- คนที่ดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- คนสูบบุหรี่
- คนที่รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
- คนที่ชอบนั่งไขว้ขาหรือชอบนั่งในท่าที่อาจจะกดทับเส้นประสาท
- คนที่ร่างกายขาดวิตามินบางชนิด เช่น บี 1 บี 6 และ บี 12
- คนที่รับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อเส้นประสาท
- คนที่เป็นโรคเบาหวาน
- คนที่เป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งไขกระดูก , มะเร็งต่อมน้ำเหลือง