ประเด็นเรื่อง “ที่ดิน ส.ป.ก.” สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาปรากฏเป็นข่าวให้คนในสังคมได้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง จนหลายคนอาจจะสงสัยว่า ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ว่านี้คืออะไรกันแน่ มีความสำคัญอย่างไร แล้วสามารถซื้อขายหรือโอนให้คนอื่นได้หรือไม่ วันนี้ Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จัก ที่ดิน ส.ป.ก. เผื่อวันข้างหน้าจะมีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินประเภทนี้
“ที่ดิน ส.ป.ก.” คืออะไร
“ที่ดิน ส.ป.ก.” หรือที่ดิน “ส.ป.ก.4-01” คือ ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง หรือมีเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอกับการครองชีพ โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะออกเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินให้กับประชาชนเพื่อเข้าไปทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยกำหนดไว้ว่า ที่ดินนั้นต้องใช้ทำเกษตรกรรมอย่างเดียวเท่านั้น และไม่สามารถทำประโยชน์อย่างอื่นได้
การเกิดขึ้นของ ส.ป.ก. มาจากการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ซึ่งมีการเรียกร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ต่อมา สัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้ตรา พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯ 2518 ขึ้นมาใช้บังคับ
ใครมีสิทธิได้รับที่ดิน ส.ป.ก.
สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. มีดังต่อไปนี้
- มีสัญชาติไทย
- บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว
- ประพฤติดี ซื่อสัตย์สุจริต
- ร่างกายสมบูรณ์ ขยันขันแข็ง
- ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอ
- ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน
- ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบของ ส.ป.ก.
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯ 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 ได้ระบุผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. ไว้ 3 ประเภท คือ
- เกษตร ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปีเพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่น ไม่เกิน 50 ไร่
- ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
- สถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร, สหกรณ์การเกษตร หรือชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
ที่ดิน ส.ป.ก. ซื้อขายได้ไหม
หากดูกันตามตัวบทกฎหมาย ที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้ เนื่องจากตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินฯ 2518 มาตรา 39 ระบุว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยชอบธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
หากมีการซื้อขายกัน จะถือว่าเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การซื้อขายนั้นจะตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โอนที่ดิน ส.ป.ก. ให้ใครได้บ้าง
ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถเป็นมรดกตกทอดได้ โดยสามารถโอนสิทธิและตกทอดทางมรดกสิทธิได้ ให้คนดังต่อไปนี้
- สามี/ภรรยา
- บุตร
- บิดามารดาของเกษตรกร
- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของเกษตรกร
- พี่น้องร่วมบิดา หรือมารดาเดียวกันของเกษตรกร
- หลานของเกษตรกร
ผู้รับโอนที่ดิน ส.ป.ก. ต้องเป็นเกษตรกรหรือผู้ประสงค์ที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักเท่านั้น ทั้งนี้ การโอนสิทธิสามารถโอนได้เมื่อเกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. ยังมีชีวิต โดยโอนสิทธิให้ทายาทได้ ต่อเมื่อมีเหตุผลและความจำเป็น เช่น แก่ชรา เจ็บป่วย เป็นต้น หรือสามารถตกทอดทางมรดกสิทธิ เมื่อเกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. เสียชีวิต ทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับมรดกสิทธิได้