รู้จัก “ตะกรุดพิศมร” จากหนัง “ธี่หยด 2” ชื่อนี้มีอยู่จริง เป็น 1 ใน 9 สุดยอดเครื่องรางมงคล หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย
เป็นหนังผีไทยที่มาแรงที่สุดในนาทีนี้ สำหรับ ธี่หยด 2 เรื่องราวสุดลี้ลับที่มีทั้งผีและไสยศาสตร์มนต์ดำ เข้ามาเกี่ยวข้อง หากใครที่ได้ไปดูภาพยนตร์มาแล้ว น่าจะจำได้ว่า 1 ในเครื่องรางของขลังของ พี่ยักษ์ พระเอกของเรื่องใช้ปราบผีในหนังคือ “กระสุนพิศมร” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ “ตระกรุดพิศมร” ของจ่าประพันธ์ อีกหนึ่งตัวละครสำคัญ
สำหรับในภาพยนตร์ ของขลังสิ่งนี้ใช้ทำอะไร และมีอานุภาพมากแค่ไหน คงยังไม่อาจสปอยล์ก่อนได้ แต่จะขอกล่าวถึง “ตระกรุดพิศมร” ของขลังที่มีอยู่จริง และเป็น 1 ใน 9 เครื่องรางมงคล ที่มีพุทธคุณรอบด้าน เป็นที่เลื่องลือตั้งแต่โบราณจนมาถึงยุคนี้ ตามบทโคลงกลอนที่นักสะสมเครื่องรางของขลังรุ่นบุกเบิกได้กล่าวถึงไว้ว่า
“หมากดี ที่วัดหนัง ถ้าเบี้ยขลัง วัดนายโรง
ไม้ครู คู่วัดอินทร์ ส่วนมีดบิน วัดหนองโพ
พิสมร วัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้าย วัดโตนดหลวง
ราหู คู่วัดศีรษะ แหวนอักขระ วัดหนองบัว
ลูกแร่ ที่วัดบางไผ่ ฤทธิ์เหลือร้ายหาใดปาน
เก้าสิ่งล้วนเป็นมงคล ทั่วทุกคนควรค้นหา
ติดกายยามยาตรา ภัยมิกล้ามาแผ้วพานฯ”
ความหมายของบทกลอนบอกเล่าถึง 9 เครื่องรางทรงคุณค่ายิ่งนัก ทุกคนต่างแสวงหามาครอบครอง ได้แก่
- หมากทุย “หลวงปู่เอี่ยม” วัดหนังราชวรวิหาร
- เบี้ยแก้ “หลวงปู่รอด” วัดนายโรง
- ตะกรุดไม้ครู “หลวงปู่ภู” วัดอินทรวิหาร
- มีดหมอ “หลวงพ่อเดิม” วัดหนองโพธิ์
- ตะกรุดพิสมร “หลวงพ่อแก้ว” วัดพวงมาลัย
- ตะกรุดอุดครั่ง “หลวงพ่อทองศุข” วัดโตนดหลวง
- ราหูกะลาตาเดียว “หลวงพ่อน้อย” วัดศรีษะทอง
- แหวนอักขระ “หลวงปู่ยิ้ม” วัดหนองบัว
- ลูกสะกดเนื้อแร่บางไผ่ “หลวงปู่จันทร์” วัดโมลี
ตะกรุดพิสมร
“ตะกรุดพิศมร ถอนไม่ได้” เป็นสมญานามของเครื่องรางนี้ เพราะพุทธคุณความเข้มขลังของตะกรุดพิศมร ที่มีความศักดิสิทธิ์จนเป็นที่เลื่องลือ ไม่มีเวทย์มนตราใดหรืออาวุธศักดิสิทธิ์ใดจะมาถอดถอนให้ตะกรุดพิศมรเสื่อมได้
วัดพวงมาลัย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ด้านตะวันตก ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ.2415-2430 โดย ท่านสัสดีพ่วง และภรรยา นางมาลัย ได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินให้สร้างเป็นวัด ชื่อว่า วัดพ่วงมาลัยสุนทราราม ต่อมาภายหลังเรียกกันสั้นๆ ว่า วัดพ่วงมาลัย จนกลายมาเป็น วัดพวงมาลัย ในทุกวันนี้ เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ได้นิมนต์ พระครูวินัยธรรม (หลวงพ่อแก้ว พรหมสโร) มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นเจ้าอธิการวัดช่องลม ต.บ้านปรก อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
หลวงพ่อแก้ว เป็นพระธุดงค์ที่มีความเชี่ยวชาญทางสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีคนนับถือมาก เชื่อกันว่าท่านสำเร็จญาณวิเศษ สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆ ได้ทั้งปัจจุบัน อดีต และอนาคต หลวงพ่อแก้ว เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องตะกรุด ที่ทำจากใบลาน รวมทั้งเหรียญ ผ้ายันต์ และลูกอม เลื่องลือกันว่า ด้านคงกระพันชาตรี สุดยอดมากครับพี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตะกรุดใบลาน ที่ หลวงพ่อเจาะจงทำให้บรรดาลูกศิษย์ และญาติโยมใกล้ชิด ที่เคารพนับถือท่านเป็นการเฉพาะตะกรุดของท่านจะยึดถือเอาใบลาน เป็นหลักในการทำ
โดยท่านเจาะจงจะต้องนำมาจาก ต้นตาล ที่ขึ้นอยู่ที่ ปากคลองบางปืน เท่านั้น (ปัจจุบัน บ้านบางปืน อยู่ที่หมู่ ๖ ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม) โดยใบลานที่ได้นี้จะเป็น ยอดใบลานเดือน ๕ เป็นใบลานอ่อน ตากแห้งม้วนไม่แตก ต้นตาลที่ว่านี้ จะขึ้นโดดเดี่ยวกลางทุ่งบ้านบางปืน สาเหตุที่ต้องใช้ ใบลานปากคลองบางปืน หลวงพ่อแก้ว บอกว่า เพราะชื่อ “บางปืน” ที่กร่อนเป็น “บังปืน” ให้ความหมายในการข่มนาม ใช้ชื่อในการสะกดลงอักขระเลขยันต์ เพื่อบ่งบอกให้ เทพ เทวดา ฟ้าดิน ได้รับรู้ว่า ของของท่านใช้ดีทางไหน เป็นอุปเท่ห์ในการลงวิชาอาคม อันเป็นเคล็ดลับของการลงเครื่องรางของขลังประการหนึ่ง คือ การข่มนามแจ้งเทพ
เมื่อได้ ใบลานจากบางปืนมาแล้ว ท่านจะตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 5-6 นิ้ว แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จากนั้นจึงนำมาลงอักขระบนใบลาน ด้วยตัวขอม อ่านได้ว่า “ภู ภิ ภู ภะ” ล้อมรอบด้วยตัว “มิ” ไว้ตรงกลาง ประกอบด้วยอักขระหนุนตามสมควร
ถ้าเป็นตะกรุดลูกเล็กๆ เเบนๆ จะเรียกว่า “ตะกรุดพิสมร” ส่วนดอกยาวขึ้นมาหน่อย ป้อมๆ อ้วนๆ ลักษณะเหมือนกลองเพลวัด จะเรียกว่า “ตะกรุดลูกกลอง” ถ้าดอกยาวๆ มีทั้งถักเชือก และไม่ถักเชือก เป็นใบลานเปล่าๆ ลงอักขระแล้วม้วน มีที่ปิดทองเก่าก็มี แต่พบเห็นได้น้อย โดยมากจะเสียหายหมด เรียกว่า “ตะกรุดใบลาน” ตะกรุดทั้งหมดนี้ เรียกรวมๆ กันว่า “ตะกรุดใบลานบังปืน” ม้วนด้วยคาถาหัวใจเสือสมิง “ภู ภิ ภู ภะ” ด้วยเวลาค่ำคืนดึกสงัดปราศจากเสียงหวีดร้องของเหล่าสรรพสัตว์ ถือเป็นฤกษ์มหาอุตม์ตะกรุดใบลานบังปืน ของหลวงพ่อแก้วจะพันด้วยด้ายสายสิญจ์ ไม่ใช่การถักลาย หลวงพ่อจะพันด้วยตัวท่านเอง ระหว่างการพันด้ายท่านจะบริกรรมคาถาไปด้วย ให้สังเกตจะเป็นการพันแบบง่ายๆ แล้วจึงนำมาจุ่มรักในภายหลัง