ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมนำเข้า และจัดจำหน่ายวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” อีกหนึ่งตัวเลือกวัคซีนสำหรับคนไทยที่สนใจ มาทำความรู้จักวัคซีนซิโนฟาร์มให้มากขึ้นกัน
- เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ชี้แจง 5 ข้อ ปมจัดหาวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม”
- อัปเดต “วัคซีนโควิด-19” มีกี่ชนิด ตัวไหนเข้าไทยบ้าง
รู้จักวัคซีน “ซิโนฟาร์ม”
ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า BBIBP-CorV เป็นวัคซีนประเภท Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เหมือนกันกับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ของจีน และ (Covaxin) ของอินเดีย
ที่มาจากวัคซีนซิโนฟาร์มมีการผลิตจาก 2 บริษัท ได้แก่
- บริษัท Beijing Institute of Biological Product ที่ปักกิ่ง รับรองมาตรฐานและประสิทธิภาพจาก WHO หรือองค์การอนามัยโลกให้ใช้ได้เป็นกรณีฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ปัจจุบันกำลังใช้อยู่ใน 41 ประเทศทั่วโลก
- บริษัท Wuhan Institute of Biological Product ที่อู่ฮั่น เป็นตัวที่ WHO ยังไม่รับรองมาตรฐานและประสิทธิภาพ และใช้อยู่ในประเทศจีนประเทศเดียว
วัคซีนซิโนฟาร์ม ทำงานอย่างไร?
นายแพทย์สมชัย ลีลาศิริวงศ์ ที่ปรึกษาผู้จัดการความเสี่ยง โรงพยาบาลพระรามเก้า ระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนประเภท Inactivated vaccines หรือวัคซีนชนิดเชื้อตาย เป็นการผลิตขึ้นจากการนำเชื้อโควิด-19 มาทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน ก่อนฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เทคนิคนี้ผลิตได้ค่อนข้างช้า และต้นทุนสูง เนื่องจากต้องผลิตในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3
วัคซีนซิโนฟาร์ม เหมาะกับใครบ้าง? ฉีดกี่เข็ม?
WHO แนะนำให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับคนอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป แต่กับกลุ่มอายุเกิน 60 ปี อาจจะยังมีข้อมูลไม่มากเท่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี
วัคซีนซิโนฟาร์มต้องฉีด 2 เข็มเหมือนกับวัคซีนโควิด-19 อื่นๆ ทั่วไป เข็มแรกห่างจากเข็มที่ 2 ราว 3-4 สัปดาห์
นอกจากนี้วัคซีนซิโนฟาร์มยังถือเป็นวัคซีนที่มีการจัดเก็บได้ง่าย โดยสามารถแช่ไว้ในตู้แช่แข็งที่ระดับความเย็น 2-8 องศาเซลเซียส เหมือนกันกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
วัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 เท่าไร?
จากข้อมูลในปัจจุบันระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์มมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้ราว 78.1-79.34% แต่สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 100%
สำหรับการป้องกันโควิด-19 ในสายพันธุ์ที่ต่างๆ กันนั้น ขณะนี้ยังไม่ข้อมูลไม่เพียงพอ
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม
ในช่วงการทดลองเฟส 1 / 2 ไม่พบข้อมูลผลข้างเคียงจากการฉีดซิโนฟาร์มที่รุนแรง แต่พบอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม WHO ได้รับรายงานว่า มีผู้ที่มีอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงหลังฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 ราย โดยมีอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรง และโรคทางระบบประสาทที่หายาก หรือที่เรียกว่า อาการสมองและไขสันหลังอักเสบหลังการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีอีกรายที่มีอาการธรอมบัส (thrombus) หรือการเกิดก้อนลิ่มเลือดอีกด้วย แต่ผลข้างเคียงทั้งหมดยังไม่สามารถสรุปได้มาจากการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม