รู้จักภาวะ “ผิวหนังติดสเตียรอยด์” เมื่อใช้กับผิวหนังนานเกินไป

Home » รู้จักภาวะ “ผิวหนังติดสเตียรอยด์” เมื่อใช้กับผิวหนังนานเกินไป
รู้จักภาวะ “ผิวหนังติดสเตียรอยด์” เมื่อใช้กับผิวหนังนานเกินไป

หากใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์กับผิวหนังนานเป็นปีๆ อาจเสี่ยงภาวะผิวหนังติดสเตียรอยด์ และมีผลกระทบต่อผิวหนังอย่างรุนแรงได้

สเตียรอยด์ คืออะไร?

สเตียรอยด์ หรือสเตอรอยด์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไตภายในร่างกายของคนเรา โดยหลักๆ มี 2 ชนิด คือ โคติซอล(Cortisol) และ อัลโดสเตอรอยด์(Aldosterone) นอกจากนี้ เมื่อคนเราอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายก็จะหลั่งสารสเตียรอยด์ออกมามากขึ้น 

ต่อมาในวงการแพทย์แผนปัจจุบันจึงสร้างสารสเตียรอยด์สังเคราะห์ขึ้นมาจากสเตียรอยด์ชนิดโคติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นสเตียรอยด์ต้นแบบของร่างกาย เพื่อพัฒนาตัวยาบางชนิดให้ ออกฤทธิ์แรงขึ้นเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางชนิด

ยาประเภทใดบ้าง ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

ยาแผนปัจจุบันหลายชนิดมีสารกลุ่มสเตอรอยด์เป็นส่วนประกอบ เช่น 

  • ยารักษาโรคภูมิแพ้ 
  • ยารักษาโรคหอบหืดชนิดพ่นสูดทางปาก ได้แก่ เบโดรเมธาโซน และบูเดโซไนด์ 
  • ยาหยอดตา ยาป้ายตา 
  • ยารักษาโรคไตบางชนิด 
  • ยารักษาอาการข้ออักเสบ
  • ยาแก้แพ้

นอกจากนี้ยังมียาอีกหลายตัวที่เป็นสเตียรอยด์ทั้งชนิดยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่น ยาทา ซึ่งตัวยาทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกร

อันตรายจากการใช้สเตียรอยด์ไม่ถูกวิธี

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์มักมาจากการใช้สเตียรอยด์ไม่ถูกวิธี เช่น กิน/ใช้มากเกินไป ทาลงบนผิวหนังในบริเวณกว้างเกินไป กิน/หรือใช้นานเกินไป เป็นต้น

โดยอันตรายจากสเตียรอยด์มีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่ใช้ เช่น หากเป็นยากิน การกินยาไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้

  • ติดเชื้อโรค (ยากดการทำงานของภูมิคุ้มกัน) 
  • เป็นเบาหวาน (ยาเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด) 
  • มีอาการบวมและความดันโลหิตสูง (ยาทำให้ร่างกายขับน้ำลดลง แต่เพิ่มการสะสมไขมันที่หน้า หลัง และท้อง) 
  • กระดูกพรุน (ยารบกวนสมดุลการสร้างกระดูก)
  • เป็นแผลในทางเดินอาหาร
  • ผิวหนังเหี่ยวย่น บาง
  • ตาเป็นต้อ
  • ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ
  • รบกวนการเจริญเติบโตในเด็ก

เป็นต้น

สเตียรอยด์ ในยาทาผิวหนังภายนอก

Topical Steroids เป็นยาสเตียรอยด์สำหรับรักษาโรคผิวหนังที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น Dermovate, TAcream, Beta cream, Topicort, Prednisil cream โดยมากจะนิยมซื้อมาใช้เป็นยาทาผิวหนังในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเซ็บเดิร์ม หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผิวไหม้แดด เป็นต้น

แต่อาจมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ใช้ยาเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล อาจมีสาเหตุมาจากอาการต้านยา ดื้อยา หรือหยุดยาแล้วกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งอาจมาจากการซื้อยาทาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ หรือการไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดมากพอ

รู้จักภาวะ “ผิวหนังติดสเตียรอยด์”

หากใช้ยาสเตียรอยด์บนผิวหนังเป็นเวลานาน อาจเกิดการติดยาสเตียรอยด์ (Steroid Addict) เมื่อหยุดยาหน้าจะแดงมีสิวผดเกิดขึ้น ปัญหานี้พบบ่อยมากเนื่องจากมีการใช้สเตียรอยด์เกินความจำเป็นในคลินิกรักษา ผิวหนังและเสริมความงาม

ในต่างประเทศมีการเรียกอาการผิวติดสเตียรอยด์ได้หลายแบบ ขึ้นกับอาการที่แสดงออก เช่น 

  • Red Skin Syndrome (RSS, อาการผิวแดง)
  • Topical Steroid Addiction (TSA, อาการติดสเตียรอยด์)
  • Topical Steroid Withdrawal (TSW, อาการลงแดงหลังหยุดสเตียรอยด์)

สาเหตุของอาการผิวติดสเตียรอยด์

ผิวติดสเตียรอยด์เป็นสภาวะอ่อนแอของผิวที่เกิดมาจาก

  • การใช้สเตียรอยด์ในการรักษาปัญหาผิวบางอย่าง เช่น ผื่นแพ้ สิว
  • การใช้เครื่องสำอางสำหรับทำให้ผิวขาวที่มีส่วนประกอบบางประเภท
  • การทาสเตียรอยด์ให้ผู้อื่นแล้วลืมล้างมือ

อาการของผิวติดสเตียรอยด์

ก่อนหยุดทายาสเตียรอยด์

  • มีความแดงตีกลับระหว่างรอบทายา
  • มีผื่นกระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย
  • คันมาก รู้สึกแสบร้อน บางครั้งเหมือนเข็มจิ้ม
  • ต้องการสเตียรอยด์ที่แรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคงผลรักษาที่ดีไว้ (ทำให้อาการสงบ)
  • อาการระคายเคืองต่อสารที่แพ้รุนแรงขึ้น

หลังหยุดทายาสเตียรอยด์

  • ผิวแดงจัดคล้ายผิวไหม้แดด
  • ผิวลอกอย่างเห็นได้ชัด
  • มีน้ำเหลืองซึม
  • มีอาการบวมในบริเวณที่สัมผัสสเตียรอยด์ทั้งทางตรง และทางอ้อม
  • ไวต่อสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆ เช่น น้ำ การเคลื่อนไหว เสื้อผ้า อุณหภูมิ หรือแม้แต่ครีมบำรุงทั่วไป
  • ตาแห้ง และระคายเคืองง่าย
  • ผิวหนาย่น และมีสีคล้ำขึ้น คล้ายผิวหนังช้าง

การป้องกันอาการผิวหนังติดสเตียรอยด์

  1. ไม่ซื้อยามาทาเอง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ รับยาที่เหมาะสมจากแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด
  2. โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นหลังจากการใช้ยาภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนั้นค่อยๆ ลด การใช้ยาลง เช่น เปลี่ยนเป็นชนิดที่อ่อนลง หรือ ลดจำนวนครั้งที่ทา (ทั้งนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ด้วย)
  3. หลีกเลี่ยงการทายาบนผิวหนังปกติ ที่ไม่มีอาการใดๆ
  4. ไม่ใช้ยาทามากเกินความจำเป็น เช่น หากแพทย์แนะนำให้ทาวันละ 2 เวลา ก็ควรทาแค่ 2 เวลา การทายาบ่อยกว่าปกติไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แต่อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาในกลุ่มฤทธิ์แรงปานกลางและสูง ในปริมาณเกินกว่า 45 กรัมต่อสัปดาห์ใน ผู้ใหญ่และไม่เกิน 15 กรัมต่อสัปดาห์ในเด็ก
  6. หากซื้อยามาทาเอง แล้วอาการของโรคผิวหนังที่เป็นแย่ลงในขณะที่ใช้ยา ควรหยุดยา และรีบไปพบแพทย์ผิวหนัง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ