รู้จักจรวดเซอร์ค่อน หัวรบนิวเคลียร์เหนือเสียง หมัดโลกาวินาศของปูติน
รู้จักจรวดเซอร์ค่อน – วันที่ 15 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดกระแสความกังวลในหมู่ประชาคมโลกหลังรัสเซียเปิดเผยคลิปปล่อยขีปนาวุธเซอร์ค่อน จรวดติดหัวรบนิวเคลียร์รุ่นใหม่ล่าสุด ที่มีความเร็วเหนือเสียงกว่า 9 เท่า และยังไม่มีระบบป้องกันทางอากาศใดสามารถสกัดได้
เว็บไซต์รัสเซียบียอนด์ ระบุถึงขีปนาวุธรุ่นดังกล่าวว่าเป็นจรวดเหนือเสียงรุ่นแรกของโลกที่ไม่มีระบบป้องกันภัยทางอากาศใดสามารถสกัดกั้นได้ โดยขีปนาวุธรุ่นนี้ ชื่อว่า เซอร์ค่อน (3M22 Tsirkon) เพิ่งเข้าประจำการครั้งแรกในกองทัพรัสเซียในปีนี้
ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือไฮเปอร์โซนิก เซอร์ค่อนได้รับการพัฒนาภายใต้โปรเจ็ก 22350 ของกองทัพรัสเซีย ติดตั้งบนเรือรบฟริเกต แอดมิรัล กอร์ชคอฟ และกระทรวงกลาโหมรัสเซียลงนามซื้อขีปนาวุธมาใช้ประจำการแล้ว
การทดสอบเมื่อเดือนธ.ค. 2564 พบว่าจรวดสามารถทำความเร็วได้เกือบหนึ่งหมื่นกิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วเหนือเสียง 9 เท่า หรือ 9 มัก และใช้เพียงเครื่องยนตร์ไอพ่น ไม่ได้ใช้แรงโน้มถ่วงโลกเข้าช่วยเหมือนขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile – ICBM)
การทดสอบข้างต้นจรวดสามารถยิงทำลายเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปถึง 450 กิโลเมตรได้สำเร็จ แต่พิสัยการยิงของจรวดนั้นยังไม่ได้รับการเปิดเผยจากรัสเซีย แต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เคยอ้างว่า จรวดรุ่นนี้สามารถทำลายเป้าหมายได้ไกลกว่าพันกิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ทราบแน่ชัดมีเพียงว่า จรวดเซอร์ค่อนไม่สามารถถูกติดตามด้วยเรดาร์ หรือถูกยิงสกัดด้วยระบบต่อต้านขีปนาวุธใดๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ สร้างความกังวลให้กับหลายชาติ
ที่น่ากังวลอีกประการนั้นมาจากระบบปล่อยขีปนาวุธที่จรวดรุ่นดังกล่าวใช้เป็นท่อปล่อยแนวตั้งแบบ 3C-14 ที่มีใช้อยู่ในเรือรบทั่วไปของรัสเซีย ใช้ปล่อยจรวดอีกหลายรุ่น เช่น ขีปนาวุธพิสัยไกล คาลิบร์ และขีปนาวุธทำลายเรือ โอนิกส์ หมายความว่า ขีปนาวุธเซอร์ค่อนสามารถนำเข้าประจำการได้แทบจะทันทีในเรือรบของรัสเซียที่มีระบบปล่อยจรวดมาตรฐานอยู่แล้ว
นายอเล็กซี คริโวรุชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย กล่าวว่า จรวดเซอร์ค่อนจะได้รับการติดตั้งให้กับเรือพิฆาต (คลาส มาร์แชล ชาโปชิคอฟ) และเรือประจัญบาน หรือแบทเทิลครุยเซอร์ (คลาส แอดมิรัล นาคิมอฟ) รวมถึงเรือรบทั่วไป ตลอดจนเรือดำน้ำ เค-560 (คลาส เซเวรอดวิสก์) ซึ่งเป็นกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ติดตั้งขีปนาวุธร่อน หรือจรวดครุยส์
ทั้งนี้ เทคโนโลยีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยอดีตสหภาพโซเวียตนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ตั้งแต่ช่วงปี 2503 เพื่อใช้เป็นระบบส่งหัวรบนิวเคลียร์ของขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรแล้วพุ่งลงมาใส่เป้าหมายด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก
ความเร็วของหัวรบนิวเคลียร์จากขีปนาวุธข้ามทวีปในระบบดังกล่าว คาดว่าจะเร็วถึง 6-10 กิโลเมตรต่อวินาที ยกตัวอย่าง ขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นบุรานของอดีตสหภาพโซเวียตนั้นพุ่งกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วเหนือเสียงถึง 25 เท่า หรือ 25 มัก
เช่นเดียวกันกับขีปนาวุธคินซัล ขีปนาวุธข้ามทวีปแบบปล่อยจากเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงอย่างมิก-31 แต่ความพิเศษของขีปนาวุธเซอร์ค่อนนั้นอยู่ที่การทำความเร็วเหนือเสียงได้สูงถึง 9 เท่า โดยไม่ต้องใช้แรงโน้มถ่วงโลกเข้าช่วย
ด้านรายละเอียดทางด้านวิศวกรรมของจรวดเซอร์ค่อนยังคงเป็นปริศนาและสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้เชี่ยวชาญว่าทางการรัสเซียใช้หลักการออกแบบอย่างไร โดยหนึ่งในข้อสันนิษฐานของผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า อาจมาจากวัสดุแบบใหม่อย่างคาร์บอนไฟเบอร์หุ้มโลหะผสม
วัสดุชนิดดังกล่าวได้รับการโฆษณาอย่างมากโดยบริษัท แท็กทิคัล มิสเซิล คอร์ป รัฐวิสาหกิจผู้พัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธของรัสเซีย ที่นำวัสดุดังกล่าวมาจัดแสดงด้านการแพทย์ ว่าสามารถใช้เป็นสะโพกเทียมให้กับผู้ป่วยสะโพกแตกได้
คาร์บอนไฟเบอร์หุ้มโลหะผสมมีลักษณะเหมือนกับกระดูกของมนุษย์ทั้งยังสามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายได้โดยไม่สร้างปฏิกิริยาด้านภูมิคุ้มกัน
เหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นวัสดุชนิดนี้เนื่องจากมีคุณสมบัติทนความร้อนถึง 2,500 องศาเซลเซียส น้ำหนักเบา และมีความทนทานแข็งแรง เป็นคุณสมบัติที่โครงสร้างของจรวดเซอร์ค่อนจำเป็นต้องมีหากจะเคลื่อนที่ได้ระยะทาง 1 พันกม. ภายใน 5 นาที ถือเป็นเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่ายุคสงครามเย็นมาก
ทำไมเรดาร์ถึงตามจับจรวดเซอร์ค่อนไม่ได้
เว็บไซต์มิลิทารี่ ระบุว่า ขีปนาวุธเซอร์ค่อนถือเป็นหนึ่งในอาวุธจากรัสเซียที่น่ากังวลจากมุมมองของทางการสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจรวดรุ่นนี้อาจสามารถหลบเลี่ยงการถูกตรวจพบโดยระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีใช้ในปัจจุบันของสหรัฐฯ
สาเหตุเนื่องมาจากจรวดเซอร์ค่อนนั้นมีความเร็วที่สูงมากและมีเพดานบินที่ต่ำ ทำให้มีวิถีการเคลื่อนที่ที่สามารถเจาะทะลุระบบต่อต้านขีปนาวุธทั่วไปได้
ขีปนาวุธชนิดนี้ยังใช้เชื้อเพลิงพิเศษที่มีความก้าวหน้าสูงทำให้มีรัศมีโจมตีไกลถึง 1,000 กม. โดยความเร็วที่สูงอย่างมากของจรวดเซอร์ค่อนทำให้อากาศที่ด้านหน้าของขีปนาวุธเปลี่ยนสถานะเป็นพลาสม่า มีคุณสมบัติดูดซับคลื่นวิทยุทำให้เรดาร์ไม่สามารถมองเห็นได้
ระบบต่อต้านขีปนาวุธ อีจิส ของสหรัฐฯ ปัจจุบัน ต้องใช้เวลาตอบสนองราว 8-10 วินาที เพื่อยิงสกัด แต่ภายในเวลาดังกล่าวนั้นจรวดเซอร์ค่อนสามารถบินไปได้ไกลถึง 20 กม. แล้ว และต่อให้ระบบอีจิสปล่อยจรวดออกมาสำเร็จก็มีความเร็วตามขีปนาวุธเซอร์ค่อนไม่ทัน
ด้านการประเมินจากเว็บไซต์พอพูลาร์เมคานิกส์ พบว่า หากเรือรบของสหรัฐฯ ตรวจพบจรวดเซอร์ค่อนที่ระยะห่างจากเรือไป 160 กม. จะมีเวลาเพียง 60 วินาทีเท่านั้นในการตอบสนอง โดยทางเดียวที่จะสกัดจรวดรุ่นนี้ได้ต้องยิงทำลายในช่วงที่จรวดเพิ่งถูกปล่อยออกมา หรือนำสิ่งกีดขวางไปขวางเส้นทางการบินเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การหันไปพัฒนาแสนยานุภาพอาวุธเหนือเสียงของรัสเซียน่าจะเพื่อรับมือกับขนาดและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าของกองทัพสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ในจำนวนนี้ รวมถึงจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่มีถึง 12 ลำ
ขณะที่รัสเซียนั้นมีเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียวและต้องใช้เรือลากจูงออกเดินทางไปด้วยกรณีเครื่องยนตร์ดีเซลเกิดเสียกลางทาง การหันไปใช้ขีปนาวุธเหนือเสียงในเรือรบขนาดเล็กจึงเป็นการรักษาความได้เปรียบเชิงยุทธวิธีของรัสเซีย
การประเมินเบื้องต้นพบว่า เรือคอร์เวต หรือเรือสลุป (เรือรบขนาดเล็กความเร็วสูง) ของรัสเซีย ที่มีอยู่ 15 ลำ แต่ละลำนั้นสามารถติดตั้งจรวดรุ่นนี้ได้ถึง 25 ลูก โดยหากเป็นหัวรบระเบิดทั่วไปจะต้องใช้กว่า 15 ลูก จึงจะสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ได้ 1 ลำ แต่หากเป็นหัวรบนิวเคลียร์นั้นถือว่าเกมพลิกทันที
การพัฒนาจรวดเซอร์ค่อนของรัสเซียส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องในกองทัพสหรัฐฯ ให้หันไปเน้นการพัฒนาแสนยานุภาพแบบใหม่ในด้านอื่นแทนที่เรือบรรทุกเครื่องบิน หรือพลิกโฉมคอนเซ็ปต์ของเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่เพื่อใช้รับมือกับภัยคุกคามในอนาคต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัสเซียแพร่คลิปจรวดเซอร์ค่อน ติดหัวรบนิวเคลียร์-ยิงถึงลอนดอนใน5นาที