รำลึกประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี ผู้ค้นพบคัมภีร์ล้ำค่า “คาถาชินบัญชร” นำมาดัดแปลงจนเป็นบทสวดในทุกวันนี้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือ หลวงปู่โต หรือนามที่นิยมเรียก “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” ภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล “พระสมเด็จ” ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน
สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331) ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บรรพชา
มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า “พฺรหฺมรํสี” เนื่องจากเป็นเปรียญธรรมจึงเรียกว่า “พระมหาโต” มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
ท่านมีอุปนิสัยทำสิ่งใดตามความพอใจของตน ไม่ถือเอาความนิยมของผู้อื่นเป็นหลัก และไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใด ๆ แม้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ก็ไม่ยอมเข้าสอบเปรียญธรรม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอดรัชกาล
ต่อมากล่าวกันว่า พระมหาโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่าง ๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาศน์ไว้ที่วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของท่านอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของท่าน ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน
สมณศักดิ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานตั้งสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ “พระธรรมกิติ” และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ “พระเทพกระวี” หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า “สมเด็จโต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า “ขรัวโต”
มรณภาพ
ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก เวลาเที่ยง ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี
พระคาถาชินบัญชร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้ค้นพบพระคาถาชินบัญชรจากคัมภีร์โบราณ และได้ศึกษาค้นคว้าจนเข้าใจในอานุภาพของพระคาถานี้เป็นอย่างดี ท่านจึงได้นำมาเผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนได้สวดภาวนากันอย่างแพร่หลาย และเพื่อให้พระคาถาชินบัญชรเหมาะสมกับการสวดภาวนาในปัจจุบัน หลวงปู่โตได้ทำการดัดแปลงและปรับปรุงพระคาถาให้สั้นลงและเข้าใจง่ายขึ้น ทำให้พระคาถาชินบัญชรเป็นที่นิยมสวดภาวนากันอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุที่คัมภีร์ฉบับนั้นไม่ระบุนามผู้รจนา สมเด็จพระพุฒาจารย์โต จึงมิอาจอ้างอิงชื่อผู้ประพันธ์ให้รัชกาลที่ 4 ทรงทราบได้ เมื่อกาลเวลาผ่านผัน คนทั่วไปไม่รู้ที่มาที่ไป ก็ยิ่งคิดกันเอาเองว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์โตคือผู้แต่งพระคาถาชินบัญชรนั้น
พระคาถาชินบัญชรที่หลวงปู่โตได้นำมาเผยแพร่นั้น ถือเป็นมรดกทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญ และเป็นที่นิยมสวดภาวนากันอย่างแพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชน การสวดพระคาถาชินบัญชรอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้จิตใจสงบและมีความสุข รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างกำลังใจและคุ้มครองป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ได้อีกด้วย
คาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี