รายงานการเมือง : ผลจากคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ
ผลจากคำวินิจฉัยคดีล้มล้างฯ : คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่าการกระทำของ 3 แกนนำ ที่ปราศรัยในการชุมนุม 10 ส.ค.2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน
เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมากในสังคม
และเป็นข้อถกเถียงว่าคำตัดสินดังกล่าวมีผล อย่างไร
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
หากตีความอย่างเคร่งครัด ข้อเท็จจริงที่ศาลใช้ในการตัดสินอ้างอิงกับพฤติกรรมของม็อบเมื่อปี 2563 ซึ่งหาก ม็อบเปลี่ยนรูปแบบ คือ ถึงแม้จะพูดเรื่องเดิมแต่เปลี่ยน รูปแบบการนำเสนอ หรือการชุมนุม ก็ควรจะถือว่า คำวินิจฉัยนี้ไม่ผูกพัน หรือไม่อาจห้ามไม่ให้พูดเรื่องนี้ได้อีก แต่แน่นอนว่าฝั่งที่ต่อต้านการปฏิรูปสถาบันก็คงจะถือโอกาสนี้ห้ามครอบจักรวาล
จากการประเมินสถานการณ์หลังคำวินิจฉัย ที่ปรึกษา นายกฯ หรือบุคคลต่างๆ ที่ออกมาพูดคือ ต่อไปใครจะพูด แสดงออก หรือแสดงความเห็นแม้แต่นิดเดียวไปในทางนี้จะไม่ได้เลย ดังนั้น อยู่ที่การตีความของแต่ละคนว่าจะตีความแค่ไหน เพราะศาลไม่ได้แสดงเหตุผลให้กระจ่าง ไม่อธิบายแจกแจงคำสั่งให้ละเอียดชัดเจนพอ
ไม่ได้กำหนดขอบเขตของคำว่าล้มล้างการปกครองต้องมีพฤติกรรมแบบไหน คือ 1.หัวข้อสิ่งที่พูด และ 2.พฤติกรรม หากพูดหัวข้อเดิมแต่พฤติกรรมเปลี่ยนก็ไม่ควรถือว่าครอบคลุม ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหามาก
ส่วนการจะยื่นยุบพรรคการเมือง ฟ้องนักการเมือง นักวิชาการที่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบัน ในทางปฏิบัติทำได้ อาจอ้างสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ประชาธิปไตยกับรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ การพิทักษ์รัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่การเชิดชูประชาธิปไตย
คำถามที่น่าสนใจกว่าคือจนกระทั่งเวลา 16.30 น. วันที่ 10 พ.ย. ยังไม่มีใครรู้เลยว่าการกระทำนี้ล้มล้างหรือไม่ กระทั่งศาลพูดว่าสิ่งนี้คือการล้มล้าง โดยที่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาทุกคนทำไปโดยตีความตรงไปตรงมาว่าสุจริต ทำได้
ศาลไม่ได้ออกมาลงโทษ แต่ประกาศว่าศาลเห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่การไปร้องเพื่อให้เกิดการลงโทษ คือ ยุบพรรค หรือโทษอาญา ก็จะเกิดข้อถกเถียงได้ว่าก่อนหน้านี้คนเชื่อโดยสุจริตใจว่าไม่มีความผิด จะไปลงโทษโดยใช้การตีความของศาลย้อนกลับไป 1 ปี ก็เหมือนการนำกฎหมายมาใช้ย้อนหลังซึ่งไม่ควร
หากใช้หัวข้อสิ่งที่พูดกับพฤติกรรมประกอบกัน นักวิชาการหรือพรรคการเมืองเอาไปพูดในสภาก็ควรพูดได้ เพราะเป็นมาตรฐานทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศที่เป็น ราชอาณาจักร การถกเถียงกันเรื่องหลักการ เรื่องสาธารณรัฐยังพูดในสภาได้แต่ของเราคงถือโอกาสตีความว่าพูดไม่ได้เลย จะพูดอย่างสุภาพก็ไม่ได้
รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ความหมายทุกคนอ่านไม่ตรงกันอยู่แล้ว รวมถึงกฎหมายทุกประเภทไม่ใช่แค่รัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีคำวินิจฉัยก็เท่ากับเป็นการอธิบายความหมายให้รัดกุมมากขึ้น
คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการวางบรรทัดฐานว่าคำว่าล้มล้างหมายถึงพฤติกรรมใดบ้าง หากจะไล่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 การชุมนุมของ กปปส. ไม่ถือเป็นการล้มล้าง การไม่จัดเลือกตั้งของ กกต.ไม่ถือเป็นการล้มล้าง แต่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้าง
มีข้อกังวลว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวอาจทำให้เกิดการแจ้งความจับม็อบ หรือคนเห็นต่างมากขึ้น ความจริงหลักการใช้สิทธิต้องใช้โดยสุจริต โดยเชื่อว่าทำถูก ไม่ได้ตั้งใจกลั่นแกล้ง แต่ปัจจุบันพบว่าการฟ้องร้องเกิดการทำเป็นกระบวนการ ล็อกเป้าหมาย ใช้คดีความและข่มขู่ให้ปิดปาก เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ และโดยหลักการควรปฏิเสธคนที่เอาคดีมาศาลโดยไม่สุจริต
หากดูคอมเมนต์ในเว็บข่าว หรือรายการต่างๆ ไม่เห็นว่าจะมีใครเลิกพูดตามที่ศาลสั่ง แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของกฎหมาย แม้ คำวินิจฉัยจะมีผลเป็นกฎหมาย แต่กฎหมายเปลี่ยนข้อเท็จจริง ไม่ได้ และไม่ได้แก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ คิดว่าม็อบนักศึกษาไม่กลัว แต่เขาจะทำอะไรต่อเราไม่สามารถรู้ได้ แต่จากกระแส เช่น การแฮ็กเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นการตอบโต้แบบหนึ่ง
การเสนอแก้ไขมาตรา 112 กับการเสนอในม็อบควรเป็นคนละเรื่องกัน ขณะนี้พรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ไปแล้ว ประธานสภาไม่ควรมีอำนาจชี้ว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ บรรจุหรือไม่บรรจุเข้าวาระ เพราะมีช่องทางอยู่แล้วในการเข้าไปถกเถียงในสภา หากผ่านมาเป็นกฎหมายก็ยังสามารถไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อนประกาศใช้
แต่การที่ประธานสภาเป็นคนชี้เอง ก็ต้องถามว่าประธานสภาเป็นใคร ถึงมีสิทธิธรรมมาสกัดกั้นร่างกฎหมาย
พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ไม่มีบทบังคับอะไรอื่นใด นอกจากมีมาตราที่บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ซึ่งก็คือองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญระบุไว้เท่านั้น จึงเกิดคำถามว่าจะมีผลผูกพันคนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีในคดีด้วยหรือไม่ เพราะ คำวินิจฉัยพูดถึงคนอื่นด้วย พูดถึงองค์กร หรือใครก็แล้วแต่ที่เป็น เครือข่ายสนับสนุน จึงเกินเลยไปจากที่พวกเราเข้าใจกัน
ตามหลักรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลจะผูกพันคู่กรณีเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักทั่วไป คำพิพากษาศาลฎีกาแต่ละเรื่องจะผูกพันคนที่เป็นคู่กรณี เป็นโจทก์และจำเลยในคดีเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันคนอื่น แต่ศาลรัฐธรรมนูญผูกพันในแง่เป็นองค์กรของรัฐ ผูกพันหมด รัฐบาล รัฐสภา แม้แต่ศาล
จึงมีคำถามว่าเมื่อคำวินิจฉัยบอกว่ามีผลบังคับกับคนอื่นด้วย นอกเหนือจากคู่กรณีในคดี ก็เป็นประเด็นทางกฎหมายว่าจะมี ผลจริง หรือสั่งห้ามถึงบุคคลอื่นได้ด้วยหรือ ซึ่งมาตรา 49 ไม่ได้ชัดเจนว่าไปสั่งห้ามคนอื่นได้ด้วย
ประเด็นถัดไปแม้มีผลบังคับกับคู่กรณีในคดี แต่ถ้าเขา ไม่ปฏิบัติตามและกรณีนี้คำสั่งห้ามที่ว่านั้น ห้ามอะไร กิจกรรมที่ศาลยกขึ้นมาที่ว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองคืออะไรบ้าง เท่าที่ฟังและอ่านคำวินิจฉัยย่อคือการไปชุมนุมกันแล้วอภิปรายลักษณะที่ศาลบอกว่าใช้ถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย
เมื่อเป็นอย่างนี้ หากคนเหล่านี้ยังไปร่วมชุมนุมเรียกร้องอีกเหมือนเดิมทุกอย่างจะบังคับกันอย่างไร จึงต้องไปอ่านพ.ร.ป.ว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 74 ที่บอกเพียงว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการสั่งห้าม หรือระงับไม่ให้ทำ ซึ่งตำรวจก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว
และคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญถ้าไม่ปฏิบัติตามมีโทษอยู่ในประมวลกฎหมายใด ก็ยังค้นไม่พบ แต่ถ้าในประมวลกฎหมายอาญาน่าจะเป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ซึ่งโทษไม่รุนแรงมาก
ส่วนการขัดคำสั่งศาลมีโทษอย่างไร ในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องความผิดต่อความยุติธรรมอาจเขียนไว้ แต่เมื่อเทียบแล้วโทษความผิดเหล่านี้จะต่ำกว่ามาตรา 112 และมาตรา 116 ด้วยซ้ำ
ส่วนจะโยงไปถึงการฟ้องพรรคการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ ภาคเอกชนที่สนับสนุนหรือไปประกันตัวผู้ชุมนุมนั้น พวกที่ไปประกันตัวทำผิดอะไร จะไปห้ามไม่ให้มาประกันตัวหรือ ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิ์
นักวิชาการที่เห็นว่าการกระทำของเด็กหรือกลุ่มราษฎรไม่ผิด มาตรา 112 จะบอกว่าคนเหล่านี้มีความผิดไปด้วยหรือ จะดำเนินคดีข้อหาอะไร ฐานสมคบกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือ
ที่บอกว่าคำตัดสินนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อการชุมนุมครั้ง ต่อไปและกลุ่มอื่นๆ นั้น แม้จะเป็นบรรทัดฐาน ก็ตั้งข้อสังเกตว่าแล้วในศาลในคดีอาญาจะพิจารณาอย่างไร เพราะการจะพิจารณาว่าทำผิดอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาตามหลักความรับผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างนี้ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง คำถามคือล้มล้างคืออย่างไร คำที่ใช้ว่าล้มล้างที่ตรงกันตามประมวลกฎหมายอาญา คงมีแต่มาตรา 113 ในความผิดฐานกบฏ ล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างรัฐธรรมนูญ กับมาตรา 116 เท่านั้น แต่นี่เป็นการชุมนุม อภิปราย พูดจาสิ่งเหล่านี้เป็นความผิดฐานกบฏหรือไม่ เพราะเป็นการแสดงความเห็นและยังไม่เป็นการกระทำ
คิดว่าเด็กๆ จะเดินหน้าชุมนุมต่อ ส่วนจะชุมนุมอย่างไรโดยไม่ล่อแหลม หรือทำอะไรไม่ได้นั้น ถ้าจะไม่ให้ล่อแหลมต้องไปขออนุญาต ถ้ายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วการชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่เนื้อหาการอภิปรายเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หากจะหาเหตุก็เทียบมาตรา 116 ไม่เกี่ยวกับสถาบัน แต่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง
แน่นอนคำวินิจฉัยจะมีผลต่อการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ยาวไกลในอนาคต ส่งผลให้ความขัดแย้งแตกแยกขยายวงมากขึ้น สำหรับความเคลื่อนไหวโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เท่ากับปฏิเสธเด็ดขาด เขาไม่มีทางออกอื่น เหมือนหม้อต้มน้ำที่ฝาปิดสนิท เวลาเดือดก็จะปะทุ
สมบัติ บุญงามอนงค์
นักกิจกรรมทางการเมือง
ส่วนตัวยังคิดว่าการปฏิรูปไม่ได้แปลว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการวินิจฉัยเฉพาะคำปราศรัยของทีมที่ขึ้นปราศรัยวันดังกล่าว ซึ่งการปราศรัยมีลักษณะภาษาที่มีท่วงทำนอง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คิดว่าพื้นที่ของการนำเสนอที่ จะให้มีการปฏิรูปจะยังคงมีอยู่แน่นอน แต่ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวต่างๆ ก็จะสุ่มเสี่ยงพอสมควรว่าจะเข้าข่ายกระทำผิดหรือไม่ อันเกิดมาจากการตีความคำวินิจฉัย
และยังเห็นว่าข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปยังมีเจตนาของการปฏิรูปเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาแบบนี้ ก็เรียกว่าการเดินทางขับเคลื่อน และการเคลื่อนทั้งหลายในประเด็นนี้จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น
อีกทั้งเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่คิดแบบนี้ คือคิดว่าเสนอเรื่องการปฏิรูป ไม่ใช่การล้มล้าง คนที่ออกมาเคลื่อนไหวก็มาเสนอข้อปฏิรูปต่างๆ โดยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังดำรงอยู่ จะมาล้มล้างได้อย่างไร
แต่การวินิจฉัยที่ออกมาย่อมทำให้การเคลื่อนไหวยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าการเคลื่อนไหวหรือถ้อยคำต่างๆ จะถูกนำไปตีความอย่างไรทำให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น สิ่งสำคัญขึ้นอยู่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตีความตามหลักการ หรือมีนัยทางการเมืองซ่อนเร้นเพื่อต้องการหยุดการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับมีการตั้งธงไว้ ก็อาจมีปัญหาเรื่องการตีความอีกได้
ยกตัวอย่างเช่น มีคนเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 แต่ก็ จะมีบางคนเชื่อจริงจังว่านี่คือการล้มล้างสถาบัน
ถามว่าคำตัดสินที่ออกมาจะทำให้คนไม่กล้าเสนอแก้ไขมาตรา 112 ใช่หรือไม่ ก็แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของคนที่จะนำเสนออยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องรอดูอีกสักระยะ
ตอนนี้ส่วนตัวยังงงกับผลการตัดสินเพราะมองดูเจตนาคือการปฏิรูป ทำให้การเคลื่อนไหวทำได้ยากและต้องระมัดระวังอย่างมาก แม้ว่าหลังคำวินิจฉัยยังมีการยืนยันจะขับเคลื่อนต่อและไม่ได้เกรงกลัว เพราะคนที่เสนอเรื่องการปฏิรูปเขารู้ว่าลึกๆ แล้วเขาเสนอแค่ไหน และจะปฏิรูปอย่างไร ด้วยมีความเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูป และมองว่าความขัดแย้งในสังคมจะมากขึ้นแน่นอน
ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะกระทบพรรคการเมือง หรือบุคคลที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันหรือไม่นั้น ส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ศาลยุติธรรมอาจตัดสินคนละแบบก็ได้