ราชวงศ์อังกฤษ : คามิลลา จากนางพาร์กเกอร์ โบลส์ สู่ว่าที่ราชินี

Home » ราชวงศ์อังกฤษ : คามิลลา จากนางพาร์กเกอร์ โบลส์ สู่ว่าที่ราชินี



สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรทรงมีพระราชปรารถนาให้ คามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ได้รับการยอมรับในฐานะสมเด็จพระราชินี (Queen Consort) เมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป

สมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ทรงมีพระราชประสงค์เรื่องนี้ในแถลงการณ์เนื่องในวาระการครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี หรือ การครองราชย์ครบรอบแพลทินัม (Platinum Jubilee) ซึ่งตรงกับวันที่ 6 มิ.ย. 2022

ในเนื้อหาตอนหนึ่งของ แถลงการณ์ สมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ทรงระบุถึงความโชคดีที่พระองค์ทรงมีครอบครัวที่แน่นแฟ้นและคอยให้ความรักและการสนับสนุนพระองค์เรื่อยมา

“ข้าพเจ้าโชคดีที่มีเจ้าชายฟิลิป ผู้เป็นคู่ครองที่ยินดีจะรับบทบาทคู่สมรส และเสียสละกับภาระหน้าที่ที่มาพร้อมกับบทบาทนี้โดยไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นบทบาทที่ข้าพเจ้าเคยเห็นพระมารดาทำในรัชสมัยพระบิดาของข้าพเจ้า”

นอกจากนี้ทรงขอบใจที่พสกนิกรทุกเชื้อชาติ ศาสนา และอายุ ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลกให้การสนับสนุนพระองค์เสมอมา

“…เมื่อถึงเวลาที่ ชาร์ลส์ ลูกชายของข้าพเจ้าขึ้นเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านทั้งหลายจะให้การสนับสนุนแก่เขาและคามิลลา ชายาของเขาแบบเดียวกับที่เคยให้แก่ข้าพเจ้า และข้าพเจ้ามีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อเวลานั้นมาถึง คามิลลา จะเป็นที่รู้จักในฐานะสมเด็จพระราชินี ในขณะที่เธอยังคงปฏิบัติราชกรณียกิจของเธอ”

Getty Images

แถลงการณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ครั้งนี้นับเป็นการเปิดทางให้ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีเคียงคู่กับพระราชโอรสของพระองค์ และเป็นการไขข้อสงสัยที่มีมานานเกี่ยวกับอนาคตของสะใภ้เจ้าพระองค์นี้ ซึ่งทัศนคติในเชิงลบของประชาชนที่มีต่อพระองค์ก่อนหน้านี้ ทำมีการคาดการณ์ว่าเมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์ คามิลลาจะได้ดำรงพระยศเป็นเพียงเจ้าหญิงพระราชชายา (Princess Consort) เท่านั้น

โฆษกแคลเรนซ์เฮาส์ สำนักงานของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ระบุว่า เจ้าชายแห่งเวลส์และดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ “ทรงซาบซึ้งพระทัยและรู้สึกเป็นเกียรติ” ที่สมเด็จพระราชินีนาถ ฯ ทรงมีพระราชปรารถนาเช่นนี้

บีบีซีไทยจะพาไปรู้จักสตรีว่าที่ราชินีพระองค์ต่อไปของอังกฤษผู้นี้

ชีวิตวัยเยาว์

คามิลลา โรสแมรี เกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 1947 ที่กรุงลอนดอน ในครอบครัวชนชั้นสูงและตระกูลขุนนางอังกฤษ โดยเป็นบุตรสาวของบรูซ และโรซาลินด์ ชานด์

สารานุกรมบริแทนนิกา ของอังกฤษระบุว่า คามิลลาเป็นทายาทของอลิซ เคปเปล ผู้เป็นชู้รักอันยาวนานของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งเป็นพระบรมไปยกา (ปู่ทวด) ของสมเด็จพระราชินีนาถ ฯ

คามิลลา พบเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ครั้งแรกที่การแข่งโปโลในเมืองวินด์เซอร์เมื่อปี 1970 โดยขณะนั้นเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเตรียมจะเข้าเป็นทหารในกองทัพเรือ

แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แต่หลังจากเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เข้าเป็นทหารในกองทัพเรือเมื่อปี 1971 ทั้งคู่ก็เริ่มห่างเหินกัน ก่อนที่ในอีก 2 ปีต่อมาคามิลลาจะตกลงปลงใจแต่งงานกับ แอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์ นายทหารหนุ่มผู้เป็นพระสหายของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และเป็นอดีตคนรู้ใจของเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารี

ในปี 1981 เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ แต่ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่า พระองค์ทรงกลับไปสานสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคามิลลา ในช่วงทศวรรษที่ 1980

ข่าวซุบซิบที่มีมานานเรื่องสัมพันธ์สวาทระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับคามิลลา ได้รับการยืนยันจากเจ้าหญิงไดอานาในบทสัมภาษณ์อันลือลั่นที่พระองค์ทรงเปิดเผยในรายการพาโนรามา (Panorama) ของบีบีซีเมื่อปี 1995 ว่า “มีเราสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้ มันก็เลยแออัดไปหน่อย”

ถ้อยคำดังกล่าวได้กลายเป็นประโยคอันโด่งดังที่บอกเล่าถึงปัญหาในชีวิตคู่ของเจ้าหญิงไดอานากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และได้นำไปสู่การที่ทั้งสองพระองค์ทรงหย่าขาดจากกันในปี 1996

ส่วนชีวิตสมรสของคามิลลา และ แอนดรูว์ พาร์กเกอร์ โบลส์ ก็มาถึงทางตัน และหย่าขาดจากกันในปี 1995 โดยที่ทั้งคู่มีบุตรชายและบุตรสาวด้วยกันสองคน

PA Media

เส้นทางสู่ราชวงศ์

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลลาเข้าพีธีสมรสทางกฎหมายในเมืองวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2005 โดยสมเด็จพระราชินีนาถ ฯ พระราชทานยศให้เธอเป็น “ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์”

แม้ในช่วงต้นจะมีคนบางส่วนมองคามิลลาเป็นวายร้ายผู้ทำลายชีวิตคู่ดั่งเทพนิยายของเจ้าหญิงไดอานากับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ แต่เมื่อพระองค์ได้พิสูจน์ตนเองโดยการทรงงานแบ่งเบาพระราชภาระของพระราชสวามีและสมเด็จพระราชินีนาถฯ พระองค์ก็เริ่มได้รับการยอมรับจากคนในราชวงศ์

Danny Lawson

ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์โปรดการขี่ม้า และทรงสนับสนุนองค์กรสงเคราะห์สัตว์หลายแห่ง ตลอดจนทรงงานเพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือ และการช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากนี้ทรงเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้สื่อข่าวสายราชสำนัก จากอุปนิสัยสนุกสนานร่าเริงและมีอัธยาศัยดี

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ระบุว่า นับแต่ได้ใช้ชีวิตคู่กับคามิลลามา 17 ปี เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีอารมณ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะหลายครั้งคามิลลามักโน้มน้าวให้พระองค์ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรือทำสิ่งที่ทรงพระสำราญ

สมเด็จพระราชินีมีหน้าที่อะไร

Reuters

สมเด็จพระราชินี เป็นพระอิสริยยศสำหรับพระอัครมเหสีของสมเด็จพระราชาธิบดีที่ยังครองราชสมบัติอยู่ ตามปกติสมเด็จพระราชินีจะไม่มีอำนาจทางการเมืองการปกครองใด ๆ มีเพียงหน้าที่ในการเป็นคู่คิดและให้การสนับสนุนกษัตริย์

แม้จะไม่มีบทบาทอย่างเป็นทางการ แต่สมเด็จพระราชินีก็ถือเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญต่อกษัตริย์ และคอยช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในด้านต่าง ๆ

สมเด็จพระราชินีองค์ล่าสุดของราชวงศ์อังกฤษคือ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และทรงเป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ส่วนเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ไม่ทรงมีพระยศเป็น เจ้าชายพระราชสวามี (Prince Consort) เพราะทรงปฏิเสธการรับยศดังกล่าวตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ที่สมเด็จพระราชินีนาถฯ เสด็จขึ้นครองราชย์

…………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ