การล่มสลายของราชวงศ์ต่าง ๆ ที่ปกครองจีน ตลอดช่วงระยะเวลา 2,000 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะมีสาเหตุอยู่ที่ความล้มเหลวของบรรดาชนชั้นนำแล้ว ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่างก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้สังคมเกิดภาวะตึงเครียด ซึ่งนำไปสู่การสู้รบแย่งชิงทรัพยากร จนราชวงศ์ที่เคยยิ่งใหญ่ต้องหมดอำนาจลง
ล่าสุดทีมนักประวัติศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัย ทรินิตี คอลเลจ ดับลิน ในไอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงของจีน ค้นพบว่าเหตุการณ์ที่ราชวงศ์จีนยุคโบราณต้องล่มสลายลง 62 ใน 68 ครั้ง มักเกิดขึ้นหลังโลกเผชิญเหตุ “มหาภูเขาไฟ” (Supervolcano) ระเบิดปะทุครั้งใหญ่ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นบริเวณกว้าง
- วงจรชีวิตจักรพรรดิโรมันเป็นไปตาม “กฎกำลัง” ทางคณิตศาสตร์
- พบหลักฐานจิ๋นซีฮ่องเต้สั่งให้ค้นหายาอายุวัฒนะจริง
- ตำราแพทย์จีน 2,200 ปี เป็นแผนที่กายวิภาคศาสตร์เก่าแก่ที่สุดของโลก
ผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth & Environment วารสารวิชาการฉบับใหม่ในเครือ Nature เมื่อวันที่ 11 พ.ย. โดยดร. เกา เชาเชา ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงอธิบายว่า
“การล่มสลายของราชวงศ์ผู้ปกครองจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น แม้คนส่วนใหญ่จะกล่าวโทษผู้นำที่ไร้ศีลธรรมจรรยาและด้อยความสามารถ แต่อันที่จริงสถานการณ์ดังกล่าวมักอยู่ในบริบทของความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากความเสียหายขนาดใหญ่ของงระบบนิเวศ ระบบเกษตรกรรม รวมทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม”
“เราพบว่าความเสียหายเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หลังโลกเผชิญเหตุภูเขาไฟขนาดยักษ์ระเบิด ซึ่งจะทำให้อากาศหนาวเย็นลงอย่างฉับพลันและภาวะความแห้งแล้งรุนแรงขึ้น อาณาจักรต่าง ๆ สูญเสียประชากรจำนวนมากและมักเกิดการอพยพครั้งใหญ่”
ตัวอย่างของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จีนที่เข้าข่ายนี้ ได้แก่การล่มสลายของราชวงศ์ถังใน ค.ศ. 907 การล่มสลายของราชวงศ์หยวนในค.ศ. 1368 และการล่มสลายของราชวงศ์หมิงใน ค.ศ. 1644 ซึ่งในกรณีเหล่านี้ ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกถือเป็นปัจจัยหลักที่เพิ่มแรงกดดันให้ระบอบการปกครองถูกโค่นล้มง่ายขึ้น
ทีมผู้วิจัยยืนยันว่า อิทธิพลจากการระเบิดของมหาภูเขาไฟต่อความอยู่รอดของราชวงศ์ต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือเกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่มีผลต่อการอุบัติและล่มสลายของระบอบการปกครองอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องเป็นวงจร
เมื่อผู้วิจัยเปรียบเทียบช่วงเวลาที่เกิดสงครามในประวัติศาสตร์จีน 68 ราชวงศ์ ระหว่างปีค.ศ. 850-1911 กับช่วงเวลาที่เกิดภูเขาไฟระเบิดในอดีต ซึ่งทราบได้จากปริมาณกำมะถันในรูปของซัลเฟตที่ตกค้างอยู่ในชั้นน้ำแข็งเก่าแก่
พวกเขาพบว่าเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ไม่รุนแรงมากนัก ก็ยังสามารถล้มราชวงศ์ที่มีความตึงเครียดสูงทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่ก่อนแล้วได้ ในขณะที่เหตุมหาภูเขาไฟระเบิดนั้น สามารถล้มราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ลงได้ทันที โดยไม่ต้องมีปัจจัยบ่อนทำลายภายในอยู่ก่อนเลย
“เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงจรที่มีแบบแผนชัดเจนเหล่านี้ สอนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อสังคมมนุษย์ได้ เราจึงควรจะเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติเสียแต่เนิ่น ๆ แม้ในยุคของเราระหว่างศตวรรษที่ 20-21 นั้น มีแนวโน้มเกิดเหตุมหาภูเขาไฟระเบิดน้อยลงก็ตาม” ดร. เกา กล่าวทิ้งท้าย
…
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว