เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 12 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้น
ลงนามประกาศใช้โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ในวันนี้ (12 กรกฎาคม 2564) เป็นวันแรกของการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าว โดยข้อกำหนดในราชกิจจานุเบกษา มีทั้งสิ้น 12 ข้อ ซึ่งรายละเอียดในข้อ 11 มีดังนี้
“มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
- อ่านราชกิจจาบุเบกษาฉบับเต็มได้ที่นี่
อย่างไรก็ตาม iLaw ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกำหนดฉบับล่าสุดนี้ มีการปรับเปลี่ยนข้อความให้สั้นลง ทำให้ “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” อาจหมายรวมไปถึงข้อความที่เป็นความจริง หรือความเท็จก็ได้ โดย iLaw ระบุว่า
ข้อกำหนดฉบับที่ 1 เคยเขียนข้อห้ามเรื่องการเสนอข้อมูลข่าวสารไว้ในข้อ 6 ดังนี้ “ข้อ 6 การเสนอข่าว ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
มีข้อสังเกตว่า การเขียนข้อห้ามในข้อกำหนดฉบับที่ 27 มีลักษณะ “สั้นลง” กว่าฉบับที่ 1 โดยมีข้อแตกต่างกันที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1) ข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว รวมทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 การเผยแพร่ข้อความที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวจะเป็นความผิดต่อเมื่อเป็นข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 ที่ “ไม่เป็นความจริง” เท่านั้น แต่ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 เอาผิด “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยตัดองค์ประกอบที่เคยเขียนว่า “ไม่เป็นความจริง” ออก ทำให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้เขียนข้อกำหนดฉบับที่ 27 ว่า อาจต้องการเอาผิดกับข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวทั้งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง
2) เพิ่มเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 ห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจน “กระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งก็เป็นข้อห้ามที่กว้างขวางมากอยู่แล้ว และใช้มาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือคำอธิบายว่า มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแบบใดที่ส่งผลเสียจนต้องขยายองค์ประกอบความผิดให้กว้างออก เพราะในข้อกำหนดฉบับที่ 27 ขยายไปห้ามการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดจน “กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” ด้วย แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้เขียนข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ต้องการขยายขอบเขตของข้อห้ามออก และให้เอาผิดกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้หลากหลายมากขึ้น
3) ไม่ต้องตักเตือนให้แก้ไขก่อน ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 หากเจ้าหน้าที่พบการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจเป็นความผิด ให้เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวก่อนได้ โดยไม่ต้องดำเนินคดี หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรงจึงให้ดำเนินคดี ทั้งตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ตัดเนื้อหาส่วนที่ให้เจ้าหน้าที่เตือนออก แม้ว่าข้อกำหนดฉบับที่ 27 จะตัดข้อความที่ให้ดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ออกด้วยแล้ว แต่การตัดสินใจดำเนินคดีตามกฎหมายใดก็เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว หากเห็นว่ากากระทำใดเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยก็ยังสามารถดำเนินคดีได้