ราชกิจจาฯ ประกาศ กฎหมายปราบอาชญากรรมไซเบอร์ 2566 ฟันมิจฉาชีพหลอกลวงทางมือถือ-ออนไลน์ ใครเปิดบัญชีม้า โทษคุก 3 ปี ปรับ 3 แสน
วันที่ 17 มี.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ใจความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 40ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ท้ายประกาศระบุด้วยว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด
ซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวซึ่งเป็นการกระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
เพื่อประโยชน์ในอันที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
อ่านรายละเอียดทั้งหมด
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และกฎหมายเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันนี้ 17 มี.ค. 66 เป็นต้นไป
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันกำหนดแนวดำเนินการเพื่อให้การดูแลคุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมี อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับแล้วประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงสามารถติดต่อศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารเพื่อระงับบัญชีได้ทันที และตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นกลไกให้ระดับความเสียหายได้ทันท่วงที โดยขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐรวม 15 แห่ง ได้เปิดศูนย์แจ้งเหตุแล้ว
นอกจากนี้ ผลของกฎหมายยังมีผลให้เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า มีโทษอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนหมายโทรศัพท์ ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งงแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“นับจากนี้ หากประชาชนท่านใดรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงให้รีบโทรไปที่ศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพธนาคารที่ท่านมีบัญชีอยู่เพื่อระงับบัญชีได้ทันที และฝากถึงผู้ที่รู้ตัวว่าได้เปิดบัญชีม้า ซิมม้าให้มิจฉาชีพใช้เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ไปปิดบัญชีเสีย หากเจ้าหน้าที่จับได้จะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และท่านจะอ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้เพราะรัฐบาลได้เตือนเรื่องนี้มานานแล้ว” น.ส.ไตรศุลี กล่าว