รับสมัคร “นักสำรวจนก” – บีบีซี รายงานว่า องค์กรรอยัล โซไซตี้ ฟอร์ เดอะ โพรเทคชั่น ออฟ เบิร์ด (อาร์เอสพีบี) หน่วยงานสัตว์ป่าแห่งสหราชอาณาจักร กำลังมองหาคนงานเพื่อไปทำงานสำรวจพันธุ์นกบนเกาะที่ห่างไกลที่สุดในโลก แลกกับค่าตอบแทนสูงแต่ต้องอดทนกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและอาหารที่จำกัด
เกาะกอฟ ตั้งอยู่บนเกาะตริสตันดากูนยา เกาะภูเขาไฟในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ซึ่งเป็นดินแดนไกลโพ้นของประเทศอังกฤษ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างถาวร อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ของแอฟริกาเป็นระยะทางประมาณ 1,500 ไมล์ หรือราวๆ 2,400 กิโลเมตร และไม่มีสนามบิน
การเดินทางไปเกาะแห่งนี้ต้องนั่งเรือเป็นเวลา 7 วันจากแอฟริกาใต้ซึ่งมีผู้เดินทางไปถึงเกาะดังกล่าวแล้วคือ น.ส.รีเบคกา กู๊ดวิล และ น.ส.ลูซี่ ดอร์แมน ที่ปัจจุบันทำงานอยู่บนเกาะกอฟ ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของพนักงานประจำ 7 คนบนเกาะที่อยู่ร่วมกับนกอีก 8 ล้านตัว
พนักงานสองคนนี้ทำงานให้กับองค์กรอาร์เอสพีบี ก่อนย้ายไปทำงานที่เกาะกอฟลูซี่เคยทำงานที่แอนตาร์กติกา ขณะที่รีเบคก้าเคยทำงานให้กับอาร์เอสพีบีในสกอตแลนด์ การทำงานของรีเบคก้าบนเกาะกอฟจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้
อาร์เอสพีบีจึงกำลังมองหาพนักงานใหม่ โดยมีเงินเดือน 25,000-27,000 ปอนด์ หรือราวๆ 1,060,000-1,150,000 บาท ลักษณะงานจะต้องใช้เวลาทั้งวันไปกับการติดตามสายพันธุ์นกทะเล ส่วนคุณสมบัติของผู้สมัครคือต้องสามารถปรับตัวในการอยู่ในสภาพแวดล้อมในเขตย่อยแอนตาร์กติกที่ท้าทายและห่างไกล
ผู้สมัครควรจบการศึกษาระดับปริญญาในสาขาวิทยาศาสตร์หรือมีประสบการณ์เทียบเท่าในสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีประสบการณ์ด้านสาขาการจัดการและการเฝ้าติดตามนกและสัตว์ป่า
นอกจากนี้รีเบคก้าและลูซี่แนะนำด้วยว่าพนักงานที่จะมาทำงานบนเกาะแห่งนี้ต้องผจญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและการไม่มีอาหารสดเป็นเวลากว่า 1 ปี ลูซี่กล่าวว่า ตนและเบคก้าซึ่งอยู่ที่อังกฤษคิดว่าเคยชินกับฝนฟ้าคะนอง
เนื่องจากอยู่บนพื้นที่ระหว่างละติจูด 40 และ 50 ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรซึ่งขึ้นชื่อเรื่องลมแรง แต่บนเกาะกอฟแห่งนี้มีฝนตกเยอะมาก และเพราะอยู่บนเกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ ดังนั้นสภาพอากาศจึงค่อนข้างรุนแรง
หากพูดถึงเรื่องอาหารการกินบนเกาะที่ห่างไกลเป็นพันๆ กิโลเมตรจากแหล่งที่อยู่อาศัยที่ใกล้ที่สุด คงหนีไม่พ้นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแช่แข็ง
ลูซี่กล่าวว่า “แน่นอนว่าสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานเน้นย้ำกับเรา นั่นคือเรื่องการขาดแคลนอาหารและการขาดอาหารสดซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้สิ่งที่ฉันคิดถึงอย่างแน่นอนก็คือ แครอทที่สดและกรุบกรอบ หรือการกัดแอปเปิ้ลสดๆ แค่ความสดกรอบเท่านั้น แต่นอกเหนือจากนี้ฉันไม่รู้สึกว่าฉันขาดอะไรไปมากนัก”
รีเบคก้ากล่าวว่า “ผักผลไม้สดมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางชีวภาพมากเกินไปในการงอกและแพร่กระจายไปทั่วเกาะ อาหารส่วนใหญ่จึงมาจากตู้แช่แข็งแบบวอล์กอิน 2 ตู้ซึ่งจัดเก็บไว้ปีละครั้ง ตู้หนึ่งไว้แช่ผัก ส่วนอีกตู้แช่เนื้อสัตว์ และเรายังมีผักและผลไม้แช่แข็งบรรจุกระป๋องมากมาย”
พวกเขาให้เสบียงอาหารสำหรับ 1 ปีแก่เราในช่วงเวลาการผลัดเปลี่ยน 2 สัปดาห์ และเราใช้ชีวิตด้วยอาหารเหล่านี้ไปตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี ช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนหมายถึง ช่วงเวลา 1 ครั้งภายใน 1 ปี ในช่วงเดือนกันยายนที่พนักงานบางคนบนเกาะกอฟเก็บของและกลับบ้าน สลับเปลี่ยนกับพนักงานใหม่เข้ารับตำแหน่งแทน
หากถามว่างานนี้ถือเป็นงานที่ปลีกตัวออกจากสังคมไหม ด้านรีเบคก้ากล่าวว่า “อาจจะฟังดูแปลก แต่ฉันรู้สึกว่าฉันผูกพันกับเพื่อนและครอบครัวที่นี่มากกว่าตอนที่ฉันทำงานในสกอตแลนด์เสียอีก เราอยู่ร่วมกันได้ดีมาก สามารถแบ่งปันเรื่องราว เรียนรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เนื่องจากคุณไม่สามารถไปสังสรรค์ที่งานแต่งงานหรืองานศพได้”
ทั้งนี้ หน้าที่ของอาร์เอสพีบีในฐานะทีมอนุรักษ์ชีวิทยานานาชาติ ลูซี่และรีเบคก้าต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของนกที่ใกล้จะสูญพันธู์ เช่น นกอัลบาทรอสจมูกเหลืองแอตแลนติก นกนางแอ่นแอตแลนติก นกแม็คกิลลิวาเรย์ เป็นต้น ในระหว่างการทำงานพวกเขาต้องเผชิญสภาพอากาศและมุ่งหน้าเข้าไปในทุ่ง โดยมักจะสวมแจ็กเก็ตและกางเกงขายาวกันน้ำและรองเท้าบู๊ตเวลลิงตันเพื่อตามหานกเหล่านั้น