ชาวโยธะกา บูรณะมัดพยุงแท่งศิวลึงค์ด้วยเชือกกล้วย และพันม้วนด้วยใยพลาสติกใส ให้คงอยู่ต่อไปได้อีก 7 วัน พร้อมปรับมุมเปลี่ยนทิศใหม่เป็นการตั้งขวางตะวันเพื่อรอคอยฝนฟ้าให้ตกโปรยปรายลงมาอีกครั้ง หลังจากยังไม่ได้น้ำในปริมาณที่เพียงพอที่จะทำนาหล่อเลี้ยงต้นข้าวให้ยืนต้นอยู่ต่อไปได้ในท้องทุ่ง
วันที่ 18 มิ.ย.64 เวลา 10.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายชำนาญ แก่นทองแดง อายุ 52 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ว่าในวันนี้เมื่อเวลา 08.00 น. ได้นำชาวบ้านกลับมาร่วมกันบูรณะแท่งศิวลึงค์ที่กำลังจะแตกสลายลงไปใหม่อีกครั้ง ด้วยการนำแผ่นพลาสติกใสมาม้วนพันเพื่อพยุงรัดดินเหนียวที่มีรอยแตกร้าวปริแยกออกจากกันเป็นโพรงขนาดใหญ่ ให้ยังทรงตัวอยู่ได้ พร้อมกับใช้เชือกกล้วย มาพันรัดทับไว้อีกครั้ง
เพื่อให้ปลัดขิกขอฝนหรือแท่งศิวลึงค์ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ต่อไปได้อีก 7 วัน ก่อนที่จะใช้รถไถใหญ่หรือรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร มาช่วยในการปรับหมุนเปลี่ยนทิศทางจากเดิมที่ตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือให้เปลี่ยนเป็นการตั้งขวางตะวัน หรือหันหน้าไปทางทิศตะวันตกแทน เนื่องจากในการตั้งแท่งปลัดขิกในอดีตเมื่อครั้งก่อนๆ นั้นส่วนใหญ่เป็นการตั้งขวางตะวัน ด้วยการหันหน้าไปทางทิศตะวันตก
แต่ในปีนี้ไม่ได้ปั้นลึงค์ขึ้นมาในจุดเดิม ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณกว่า 100 เมตร บริเวณทางแยกเข้าสู่หมู่บ้าน จึงได้มีการปั้นไปตามทิศทางของถนนในแนวขวางหันด้านหน้าขึ้นทิศเหนือแทน จึงทำให้เมฆฝนใหญ่ลอยผ่านไปผ่านมา ไม่ตกลงมาในพื้นที่ตามที่ต้องการสักที โดยฝนที่ได้ในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงฝนที่ให้น้ำได้ไม่มากนัก แม้จะตกพรำลงมาเกือบตลอดทุกวันก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีน้ำขังในท้องทุ่ง
โดยการกระทำทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลของชาวบ้านในพื้นที่ ต.โยธะกา ที่ทำมาแล้วได้เกิดความสบายใจและไม่ได้ไปทำให้ใครเดือดร้อน จึงไม่อยากให้สังคมภายนอกนำไปเป็นประเด็นดราม่าวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม และขอให้เคารพสิทธิ์ในทางความเชื่อและความศรัทธาของแต่ละชุมชนที่เคยกระทำกันมาแต่โบราณเมื่อครั้งเก่าก่อนด้วย อีกทั้งตนและชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่เคยไปตำหนิหรือดูแคลนทางความเชื่อของคนในชุมชนอื่นๆ หรือพื้นที่อื่นมาก่อนด้วย
แต่ในปีนี้ชาวบ้านโยธะกาเดือดร้อนกันหนักจริงๆ เพราะฝนตกน้อย และน้ำเค็มยังหนุนสูง จากในอดีตนั้นน้ำเค็มจะต้องร่นถอยลงไปจนถึงในเขตพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา แล้ว ตั้งแต่ในช่วงของปลายสงกรานต์หรือก่อนสิ้นเดือน เม.ย. จนถึงต้นเดือน พ.ค.ของทุกปี แม้จะไม่มีฝนตกลงมา หากน้ำในแม่น้ำบางปะกงจืด ชาวบ้านก็ยังสามารถสูบน้ำจากคลองสาขา เช่น คลอง 19 ขึ้นมาใช้ประกอบอาชีพทำการเกษตรได้
แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนขึ้นในพื้นที่ทางตอนบนทั้ง จ.ปราจีนบุรี และนครนายก จึงทำให้ไม่มีน้ำจืดจากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ทางตอนบนไหลลงมาช่วยผลักดันน้ำเค็มให้ร่นถอยลงไปตามลำน้ำเหมือนเดิมได้ ชาวบ้านที่อยู่ทางตอนกลางของลำน้ำจึงไม่สามารถประกอบอาชีพทำกิน ที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิมได้ นายชำนาญ กล่าว