รัฐไฟเขียวให้เอกชนจัดหาวัคซีนโควิดเพิ่มอีก 10 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนโควิดและการวางแผนรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากขณะนี้มีประเด็นในโซเชียลมีเดียว่า โรงพยาบาลเอกชนต้องงดบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากน้ำยาตรวจหมด แต่ในที่ประชุมวันนี้ โรงพยาบาลเอกชนแจ้งว่าน้ำยาตรวจยังมี แต่ที่เป็นปัญหาคือ มีข้อกำหนดจากกระทรวงสาธารณสุขว่า หากตรวจพบว่าติดเชื้อจะต้องให้ผู้ป่วยแอดมิทเข้ารับการรักษาทันที ซึ่งทำให้ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนต่างๆ มีเตียงไม่เพียงพอกับผู้ป่วย จึงต้องงดบริการตรวจหาเชื้อไปก่อน
นายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ไปหาแนวทางแก้ไข โดยโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สามารถขยายศักยภาพรับผู้ป่วยได้อีก 5,000 กว่าเตียง รวมทั้งจะเพิ่มทางเลือกรักษาตัวในโรงแรม และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ จะหามาตรการผ่อนคลายให้กับโรงพยาบาลเอกชน ในการส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลอื่นที่ยังสามารถรับผู้ป่วยได้ และในกรณีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการไม่มาก อาจพิจารณาในการพักรักษาตัวที่อื่นโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนโควิดให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้ภาครัฐจัดหาได้ประมาณ 75 ล้านโดส สามารถฉีดให้กับประชากร 35 ล้านคน แต่กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าหากจะให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะต้องฉีดวัคซีนในประชาชนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน ดังนั้นจึงยังขาดวัคซีนอีกประมาณ 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชนอีก 5 ล้านคน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนเสนอตัวนำเข้าวัคซีน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมามีข้อติดขัดคือ บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศต้องการหนังสือรับรองจากภาครัฐ จึงขอให้หน่วยงานของภาครัฐออกหนังสือรับรองให้ หรือให้องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อเข้ามาแล้วให้โรงพยาบาลเอกชนแบ่งซื้อไปฉีดให้กับประชาชนอีกต่อ
ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับทุกข้อเสนอ จึงแต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงานจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยมีองค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกันหาแนวทางและเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบภายใน 1 เดือน เพื่อเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงเรื่องการฉีดวัคซีน จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดฉีดให้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถฉีดให้ประชาชนได้วันละประมาณ 10,000 คน โดยที่จังหวัดภูเก็ต สามารถเร่งฉีดให้ประชาชนได้ถึงวันละ 14,000 คน โดยหลังจากนี้จะพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งจะมีการกระจายวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มเติม เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างมาก