“รัฏฐาธิปัตย์” คืออะไร อำนาจสูงสุดที่ไม่มีใครละเมิดได้

Home » “รัฏฐาธิปัตย์” คืออะไร อำนาจสูงสุดที่ไม่มีใครละเมิดได้

หลังจาก “ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีและได้ตอบคำถามกรณีการยกเลิกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนที่เขาจะกล่าวว่า “มติคณะรัฐมนตรีก็ยกเลิกได้ ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้ว” ทำให้หลายคนสงสัยว่ารัฏฐาธิปัตย์ที่โฆษกสำนักนายกฯ พูดถึงคืออะไร Sanook พาทุกคนไปทำความรู้จัก “รัฏฐาธิปัตย์” คำศัพท์ทางการเมืองที่ควรรู้!

  • “ชัย วัชรงค์” นั่งโฆษกรัฐบาลวันแรก ลั่นประโยคพาอึ้ง “รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์”

“รัฏฐาธิปัตย์” คืออะไร

คำว่า “รัฏฐาธิปัตย์ (Soverign หรือ Soverignty)” ในทางรัฐศาสตร์ มีความหมายถึง “ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน” กลุ่มคนที่ถืออำนาจรัฐหรือกลุ่มคนที่ทำการในนามของรัฐ โดยรัฐมีอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ไม่มีอำนาจอื่นอยู่เหนือกว่าอำนาจนี้ ส่วนในทางนิติศาสตร์ รัฏฐาธิปัตย์หมายถึงผู้ทำให้เกิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ตามคำอธิบายของจอห์น ออสติน (John Austin) นั่นเอง

AFP

ดังนั้น อำนาจรัฏฐาธิปัตย์จึงเป็นการมีอำนาจอธิปไตย อยู่ในฐานะสูงสุดในแผ่นดิน ไม่ต้องเชื่อฟังผู้อื่น โดยระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ดังนั้น เมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนแต่ละคนย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่มีประชาชนคนไหนอยู่ในฐานะสูงสุดโดยไม่ต้องฟังคำสั่งคนอื่น 

คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ไหม

หลายครั้งที่เกิดการรัฐประหาร ศาลฎีกาก็มักจะพิพากษารับรองคำสั่งคณะรัฐประหารให้ป็นกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าเมื่อยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งนักวิชาการของไทยหลายคนก็ได้ออกมาโต้ตอบเหตุผลดังกล่าว

ปราชญ์ ปัญจคุณาธร นักวิชาการสาขาปรัชญา ผู้เขียนบทความเรื่อง “คณะรัฐประหารไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ (และศาลในฐานะ​ “ผู้ร่วมก่อการ”) เผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท ระบุว่า คณะรัฐประหารไม่เป็นรัฏฐาธิปัตย์โดยอัตโนมัติหลังยึดอำนาจสำเร็จ แต่ยังต้องอาศัยอำนาจศาลมาช่วยรับรองและบังคับใช้คำสั่งนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐประหารไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ศาลสามารถช่วยคณะรัฐประหารก่อตั้งรัฏฐาธิปัตย์ได้ ด้วยการช่วยรับรองและบังคับใช้คำสั่งของคณะรัฐประหาร แต่การกระทำเช่นนั้นก็ทำให้ศาลกลายเป็น “ผู้ร่วมก่อการ” สถาปนารัฏฐาธิปัตย์ใหม่ที่มีศาลเป็นองค์ประกอบ

AFP

ด้านชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง ผู้เขียนบทความเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” เผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท ได้ยกคำวินิจฉัยส่วนตัวของกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ออกมาปฏิเสธการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ในคำพิพากษาที่ อม.9/2552 ระบุว่า 

“การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย”

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ”

“คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ไม่”

AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ