รอชม! ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส โคจรใกล้โลก เหนือฟ้าเมืองไทย

Home » รอชม! ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส โคจรใกล้โลก เหนือฟ้าเมืองไทย

ดาวหางจาง

รอชม ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส เหนือฟ้าเมืองไทย โคจรใกล้โลก ต.ค.นี้ คาดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากสุด 28 ก.ย. 67 ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า

ภาพดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) บันทึก ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ในช่วงเช้ามืด ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก ทางใต้ฟ้าดี จึงมีโอกาสเก็บภาพมาฝากกันครับ

ดาวหาง C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ค้นพบโดยระบบเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 แต่ต่อมาพบว่ามีรายงานจากนักดาราศาสตร์ที่หอดูดาวจื่อจินซานในประเทศจีน ได้ค้นพบดาวหางดวงนี้ก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม ดังนั้น ชื่อของหอดูดาวทั้งสองฝั่งจึงกลายเป็นชื่อของดาวหางดวงนี้

ขณะนี้ (24 ก.ย. 2024) ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวพุธและดาวศุกร์ โดยจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2024 ที่ระยะห่างประมาณ 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ) ก่อนเข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2024 ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด ก่อนที่ดาวหางจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะโคจรกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า

ดาวหาง
ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2024 ที่จะถึงนี้ เป็นวันที่ดาวหางจะโคจรเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ดาวหางจะได้รับรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จนทำให้ปลดปล่อยฝุ่นและแก๊สออกมามากยิ่งขึ้น และอาจเกิดเป็นหางที่พุ่งยาวไปในอวกาศได้ไกลหลายล้านกิโลเมตร

สำหรับการสังเกตการณ์ในประเทศไทย ช่วงนี้ไปจนถึงประมาณวันที่ 6 ตุลาคม 2024 ดาวหางจะปรากฏในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2024 เป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ