รอง ผบ.ตร.แจงสาเหตุ ปรับ “ประยุทธ์” 6,000 บาท ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากาก ชี้ความผิดครั้งแรก ไม่มีการลดหย่อน
วานนี้ (27 เม.ย.) พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินคดีผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ออกประกาศให้ใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกนอกเคหสถาน ว่าตามระเบียบของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งให้ปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีระเบียบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกมาวางแนวทางไว้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามไว้
แนวทางมีกรอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานในการเปรียบเทียบปรับ ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ โดยปรับความผิดครั้งแรกในอัตรา 6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท ความผิดครั้งที่ 3 หากยังทำอีกครั้งก็จะเปรียบเทียบปรับ 20,000 บาท
แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลยพินิจตามข้อ 8 คือมีเหตุผลพิเศษอันควรที่จะลดค่าปรับได้คำนึงถึงความหนักเบาของข้อหาและพฤติการณ์ รวมถึงความเสียหายที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษา สุขภาพ อาชีพ ฯลฯ สามารถเปรียบเทียบปรับลดลงได้แต่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 2,000 บาท แต่หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็จะต้องส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะใช้ดุลยพินิจในการเปรียบเทียบ
ส่วนกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่สวมหน้ากากอนามัยระหว่างการประชุมที่ปรึกษาเกี่ยวกับการจัดหาและการกระจายวัคซีน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 11.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล นั้น วางแนว 6,000 บาท ครั้งแรกก็ต้องจ่าย 6,000 บาท ซึ่งทางเจ้าพนักงานผู้เปรียบเทียบปรับไม่ได้ใช้เหตุในการลดหย่อน จึงเสียเต็มในอัตราสูงสุดของการฝ่าฝืนครั้งแรก
ทั้งนี้ ตามประกาศแนบท้ายให้สวมหน้ากากอนามัยระบุว่า ถ้าฝ่าฝืนครั้งที่ 1 ปรับ 6,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 12,000 บาท และครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับ 20,000 บาท
- ผู้ว่าฯ กทม.-ผบช.น. บุกทำเนียบ ปรับประยุทธ์ 6,000 ไม่สวมหน้ากากเข้าประชุม
- จับจริง! กทม. ขับรถตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป “ต้องใส่หน้ากากอนามัย” ฝ่าฝืนมีโทษหนัก
- กทม. แนะวิธีขับรถส่วนตัวไปรับการรักษาสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19