รองผู้ว่าฯ กทม. ลุยข้าวสาร ตรวจสถานบันเทิง ร้านไหนไม่ทำตามสั่งปิดก่อน

Home » รองผู้ว่าฯ กทม. ลุยข้าวสาร ตรวจสถานบันเทิง ร้านไหนไม่ทำตามสั่งปิดก่อน


รองผู้ว่าฯ กทม. ลุยข้าวสาร ตรวจสถานบันเทิง ร้านไหนไม่ทำตามสั่งปิดก่อน

รองผู้ว่าฯ กทม. ลุยข้าวสาร ตรวจสถานบันเทิง คุมเข้มความปลอดภัย สนง.เขตต้องรายงานผลทุกอาทิตย์ ร้านไหนไม่ทำตามสั่งปิดก่อน

เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 15 ส.ค. 2565 ที่ถนนข้าวสาร แขวงตลาดยอด เขตพระนคร ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจความปลอดภัยและความเรียบร้อยสถานบันเทิงบริเวณถนนข้าวสาร โดยมีนายวสันต์ บุญหมื่นไวย ผอ.เขตพระนคร และ ส.ก.ศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม เขตพระนคร พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมต้อนรับ

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า เป็นการตรวจต่อเนื่องเชิงรุกตามมาตรการความปลอดภัย ตามที่นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ตรวจสถานบันเทิงตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องอัคคีภัย เป็นการสุ่มตรวจอย่างที่ 1 คือการตรวจตามที่ได้ให้แต่ละเขตนำมารายงานทุกสัปดาห์ในทุกวันอังคาร ซึ่งเป็นการตรวจทวนติดตามว่าสถานประกอบการได้มีการแก้ไข ทั้งการเตือนด้วยวาจาและข้ออื่นๆ ที่ทางกรุงเทพมหานคร มีการสั่งปิดเพื่อให้ปรับปรุงโครงสร้างว่าทำถึงขั้นไหน

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า กทม.มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการอยากให้ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจ และถือเป็นเชิงรุกด้านมาตรการความปลอดภัย โดยปกติสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครจะตรวจระแวดระวังแต่เรื่องของสาธารณสุข เช่น โควิด และเปิดให้ถูกตามข้อจำกัด แต่หลังจากวันที่ 20 มิ.ย.นั้น จะตรวจเรื่องอัคคีภัยทั้งประตูทางเข้า-ทางออก โครงสร้างอาคาร รวมถึงการใช้พื้นที่

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการร้องเรียนตามที่ ผอ.เขตพระนคร รับเรื่อง ประกอบด้วย เรื่องเสียงดังรบกวน เรื่องของสาธารณสุขอื่นๆ การเว้นระยะห่าง และความหนาแน่น จึงมีการตักเตือน พบว่าบางร้านปฏิบัติตาม แต่บางร้านที่ไม่ปฏิบัติตามจึงต้องขอให้ปิดไว้ก่อน

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า ถ้าสังเกตุถนนข้าวสารแห่งนี้จะมีความแออัดจากด้านในมากกว่าด้านนอก หากมีการเกิดเหตุจากข้างในอาจจะดีกว่าข้างนอก เนื่องจากยังสามารถวิ่งออกมาได้ หากเกิดด้านนอกจะเหมือนซีลไว้ จึงจำเป็นต้องให้ทางร้านมีทางออกมากกว่าทางเดียว ไม่ใช่เฉพาะแค่ 1 ร้านเท่านั้น จากร้านด้วยกันสามารถจะเบี่ยงไปออกทางอื่นได้ ทางสำนักงานจะนำไปตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งต้องให้ทาง น.ส.ศศิธร ส.ก.เขตพระนคร ช่วยสื่อสารกับเครือข่ายสมาคมผู้ประกอบการให้เข้าใจถึงเรื่องดังกล่าวด้วย

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบมาตรฐานการใช้พื้นที่ ยอมรับว่ามีข้อกังวลในส่วนของลักษณะร้านที่ด้านในสามารถเข้าออกได้เพียงด้านเดียว ในกลุ่มที่เป็นร้านดังกล่าวจะเห็นว่ามีการจัดโต๊ะที่หนาแน่น ข้อแก้ไขคือจะต้องปรับผังการจัดวางโต๊ะใหม่ วิธีนี้จะไม่ใช่การทำให้จำนวนลูกค้าน้อยลงจนเกินไป แต่จะเป็นการเปิดทางให้มีทางเดินที่สะดวกและเห็นได้ชัด

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า ส่วนของพื้นที่ด้านหน้าร้านเนื่องด้วยวันนี้เป็นวันจันทร์ทำให้ร้านหาบเร่ไม่ได้มาตั้งขาย แต่มีของวางปิดในส่วนของทางเข้าออก จึงประสานให้จัดวางให้เป็นระเบียบและตักเตือน ส่วนเรื่องเสียงในพื้นที่นี้มีสมาคมที่รวมกลุ่มดูแล เพราะฉะนั้นจะมีระเบียบกำหนดว่าเมื่อถึงเวลาเท่าใดจะต้องหยุดและสามารถใช้เสียงได้ระดับไหน จะเห็นว่าในพื้นที่ก็จะใช้การถ้อยทีถ้อยอาศัยเน้นการพูดคุย

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า บางร้านที่มีลักษณะเป็นระเบียงหรือส่วนต่อเติมชั้นสอง เคยมีการพูดคุยว่าอาจจะมีบันไดพาดไว้สำหรับป้องกันเหตุฉุกเฉินหรือไม่ แต่จะต้องมีการวางแผนให้รอบคอบเพราะวิธีนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า ส่วนของการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ประจำร้านหรือการ์ด ถือว่ามีการวางแผนงานได้อย่างดีเพราะแต่ละร้านมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเสมอ เพราะนอกจากจะเป็นการแจ้งเหตุแต่ยังเป็นการช่วยวิเคราะห์ว่ากลุ่มคนที่มาเที่ยวที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเรื่องอาวุธในพื้นที่

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า ส่วนอุปกรณ์ป้องกันเหตุอัคคีภัยจำนวนต่อร้านต่อพื้นที่ที่ต้องใช้ถือว่าพอตามหลักเกณฑ์ แต่ด้วยการพิจารณาว่ามีการใช้บริการที่หนาแน่น ส่วนตัวมองว่าอยากจะขอความร่วมมือเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย เพื่อให้เป็นความสบายใจ แต่ขอยืนยันว่าทุกร้านปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในส่วนของถังดับเพลิงหรือถังแดงหลายร้านมีลักษณะใหม่มาก คาดว่าน่าจะเป็นเพราะร้านมีการปิดให้บริการในช่วงโควิดมาสักพักหนึ่ง จึงเพิ่งเริ่มซื้อใหม่และบางส่วนการตรวจคุณภาพของถังล่าสุดอยู่ที่ปี 2563 หลังจากนี้จะต้องมีการอัพเดท รวมถึงฝากประชาสัมพันธ์ให้แต่ละร้านทำผังแสดงทางเข้าออกให้ชัดเจนในพื้นที่

“ข้าวสารอาจจะเป็นความได้เปรียบที่ร้านมีลักษณะพื้นที่จำกัด ทำให้ผู้ที่ใช้บริการสามารถมองเห็นด้วยทัศนวิสัยที่พอดี แต่จะมีข้อเสียเปรียบตรงที่ทางเข้าออกจำกัด ส่วนหนึ่งของเรื่องนี้คือพนักงานหรือเจ้าของร้านผู้ดูแลร้านจะต้องช่วยประชาสัมพันธ์ เท่าที่สอบถามหลายร้านพนักงานสามารถพูดภาษาอังกฤษและให้ความรู้ในการเข้าออกสถานที่ได้”

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องระบบการป้องกันอัคคีภัยแล้ว ยังดูเรื่องสาธารณสุข ความสะอาดห้องประกอบอาหาร พื้นที่ใช้สอยรอบบริเวณ เรื่องนี้มั่นใจว่าปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก กทม.จะให้เวลา 1-2 วัน ในร้านที่ได้รับข้อท้วงติงไปเพื่อปรับปรุงและกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ทางร้านก็จะต้องได้รับการบ้าน บางร้านที่แม้จะมีผู้ใช้งานน้อย แต่เมื่อมองแล้วมีข้อที่ต้องปรับปรุงก็จะชี้แจงไปทันที

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องร้านขายกัญชาในพื้นที่พบว่าทั้ง 5 ร้าน รอบบริเวณย่านข้าวสารมีการขออนุญาตถูกต้อง แต่นอกจากใบอนุญาตแล้ว ร้านค้าจะต้องมีการสื่อสารกับกลุ่มผู้ซื้ออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกังวลมากที่สุดคือกลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มผู้ที่ไม่ควรจะใกล้ชิด จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มผู้ค้ามีความรอบคอบตรวจตราให้ดี

“การตรวจไม่ได้มีแค่วันนี้วันเดียวเท่านั้น และวัตถุประสงค์การตรวจจะแตกต่างกันไป ซึ่งสำนักงานเขตจะมีการสุ่มตรวจทุกวัน เพื่อทำบทสรุปส่งให้ส่วนกลางทุกวันอังคาร และภายในสัปดาห์จะต้องมีการสุ่มตรวจทั้งของร้านที่ผ่านการตักเตือนแล้วและร้านอื่นๆ” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าว

ด้านพล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจในพื้นที่ข้าวสาร เชื่อว่าผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องการจะร่วมมือเต็มที่ และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดความสบายใจของทุกฝ่ายและสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติ

พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวต่อว่า สำหรับร้านประกอบการนอกจากจะทำให้ปลอดภัยตามมาตรฐานแล้วยังมีหน้าที่สำคัญคือดูแลผู้ที่มาท่องเที่ยวความปลอดภัย ไม่ได้ดูแค่เรื่องกายภาพ แต่จะต้องช่วยสังเกตผู้ที่มาท่องเที่ยว เป็นเรื่องของจรรยาบรรณความรับผิดชอบของเจ้าของร้าน

ขณะที่ ส.ก.ศศิธร กล่าวว่า เรารู้ปัญหาในเขตของพื้นที่ โดยจะเน้นประสานงานกับทางผู้ว่าฯ กทม.และ ผอ.เขตพระนครว่า ผับ-บาร์ต้องมีทางออกมากกว่า 1 ทาง โดยเฉพาะหากมีการกินดื่มหรือเมาไม่มีสติจะจำไม่ได้ว่าทางเข้าหรือทางออกอยู่ไหน รวมถึงไม่ควรมีสิ่งกีดขวาง โดยจะเน้นเรื่องใบอนุญาตเป็นหลักว่าได้ทำประกอบธุรกิจตามใบอนุญาตหรือไม่ และจะต้องตรวจสอบพื้นที่สม่ำเสมอ ไม่ใช่วันนี้มีทางออก 2 ทาง ผ่านไป 1 อาทิตย์เหลือเพียงทางออกทางเดียว ระหว่างนั้นจะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ