รวบอาจารย์เต้ย อดีตนักปั้น เปิดเพจหลอกขายฝันอ้างพาเข้าวงการ ตุ๋นเงินเหยื่อนับสิบล้าน

Home » รวบอาจารย์เต้ย อดีตนักปั้น เปิดเพจหลอกขายฝันอ้างพาเข้าวงการ ตุ๋นเงินเหยื่อนับสิบล้าน
รวบอาจารย์เต้ย อดีตนักปั้น เปิดเพจหลอกขายฝันอ้างพาเข้าวงการ ตุ๋นเงินเหยื่อนับสิบล้าน

ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาลรับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ปกครองที่ตกเป็นเหยื่อ ในพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครจำนวนหลายรายว่า มีอดีตนักปั้นซึ่งเป็นที่รู้จักในยุคปี 2562 ได้เปิดเฟจ facebook เปิดเพจเฟสบุค ชื่อว่า “Top model 2022” ในสื่อสังคมออนไลน์ ชักชวน ให้ผู้ปกครอง ที่สนใจนำบุตรหลาน เข้าสมัครประกวดการเดินแบบและถ่ายภาพ เพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง โดยหลอกลวงให้ผู้ปกครองโอนเงิน ค่าใช้จ่ายในการสมัคร และค่าเดินทางไปเดินแบบและถ่ายแบบ ทั้งในและต่างประเทศ  เข้าบัญชีธนาคารของตน แต่พอถึงกำหนดนัดหมายก็มิได้เป็นไปตามข้อตกลงที่ให้ไว้ จนมีกลุ่มผู้ปกครองจำนวนหลายสิบราย ได้รับความเสียหาย รวมมูลค่ากว่าเกือบสิบล้านบาท

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก สส.บช.น. จึงได้สั่งการให้ ชุดลาดตระเวนออนไลน์ประกอบด้วย พ.ต.อ.วิชิต ถิรขจรวงศ์ ผกก.สืบสวน 1 บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.พีรบูรณ์ แก้วดู , พ.ต.ท.เอกศิษฐ์ วรกิตติ์ฐากรณ์ รอง ผกก.1 , พ.ต.ต.กฤตวัฒน์ ขุนอินทร์ สว.กก.สส.1ฯ ,.ร.ต.อ.ปรัชญา โคตรสาขา รอง สว.กก.สส.1ฯ, ด.ต.มานพ มากบุญ กับพวกได้จับกุมตัว

นายจรุงศักดิ์ อายุ 51 ปี เป็นบุคคลตามภาพถ่ายของผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ จ.3143/2566  ลงวันที่ 19 กันยนยน 2566 กระทำความผิดฐาน “ร่วมกันในข้อหาฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม โดยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

โดยจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าวได้ที่บ้านพักในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 จากการตรวจสอบประวัติการต้องโทษของผู้ถูกจับกุมพบว่า ผู้ถูกจับมีหมายจับค้างเก่าเพิ่มเติม  อีกจำนวน 1 หมาย และจากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียหายจำนวน 3 รายตกเป็นเหยื่อ ได้รับความเสียหายมูลค่ากว่า 350,000 บาท และยังพบว่ามีผู้ปกครองผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนหลายรายเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหากับพวก ในพื้นที่ สน.มักกะสัน อีกจำนวนหนึ่ง

จากการสอบถามผู้ถูกจับให้การภาคเสธฯ โดยรับว่าตนได้เปิดบริษัทท็อปโมเดล(ไทยแลนด์)จำกัดจริง ในฐานะกรรมการผู้จัดการ และเปิดเพจเฟสบุค ชื่อว่า “Top model 2022” ในลักษณะสาธารณะ พร้อมทั้งประกาศข้อความชักชวนว่ารับสมัครประกวดเดินแบบเด็กและเยาวชนเพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง  โดยมีการเสียค่าสมัครประกวดเดินแบบ (ค่าแรกเข้า) จากนั้นได้มีการติดต่อพูดคุยกับผู้ปกครองว่ามีงานเทรนนิ่งเดินแบบและมีงานประกวดเดินแบบ ทั้งในและต่างประเทศ หากผู้ปกครองท่านใดสนใจ จะต้องโอนเงินค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ในการเดินแบบ ให้ทางบริษัทตนเสียก่อน โดยอ้างว่าทางผู้ปกครองจะได้รับเงินค่าจ้างในการเดินแบบหลังจากเสร็จงาน แต่ผู้ถูกจับอ้างว่าเกิดปัญหาและข้อขัดข้องในการติดต่อประสานงานในเรื่องเดินทาง และกับทางเจ้าภาพผู้จัดการประกวดเนื่องจากเป็นช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จึงไม่สามารถนำเด็กและผู้ปกครองไปเข้าร่วมการประกวดดังกล่าวตามที่สัญญาได้ จนเป็นเหตุให้บริษัทของตนเกิดปัญหาทางการเงินและได้ปิดตัวลงในช่วงปลายปี 2565

ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่สืบสวนนครบาล IDMB จับกุมได้ นำส่งพนักงานสอบสวน สน.มักกะสัน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ต้องหาได้เปิดบริษัทท็อปโมเดล(ไทยแลนด์) Top model Thailand จำกัด และเปิดเพจเฟสบุค ในลักษณะเปิดเป็นสาธารณะประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและมองเห็นได้มีการประกาศข้อความชักชวนว่ารับสมัครประกวดและเดินแบบเด็กและเยาวชนเพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง จากนั้นเมื่อมีผู้ปกครองบุตรหลานสนใจทักไปหาผู้ถูกจับกุม จากนั้นผู้ถูกจับกุมจะทำการชักชวนสมัครประกวดโดยเสียค่าใช้จ่ายแรกเข้าเพื่อเทรนนิ่งเดินแบบตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังย่านพระราม RCA โดยคิดว่าสมัครแรกเข้าเด็กคนละ 1,000 บาท

ต่อมาจากนั้นผู้ถูกจับได้มีการชักชวนให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานให้ร่วมเข้าประกวดการเดินแบบและถ่ายแบบในงานประกวด “miss international” เพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง ณ ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ย่านพัทยา โดยจะต้องเสียค่าสมัครประมาณ 5,000 บาทต่อคน อีกทั้งยังต้องจะต้องโอนค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าประกันงาน ค่าสปอนเซอร์ ค่าเดินทางเข้าประกวด ประมาณ 40,000 – 50,000 บาทต่อ  ผู้เข้าประกวด 1 คน (ไม่รวมผู้ติดตาม) โดยผู้ต้องหาอ้างว่า ทางผู้ปกครองจะได้รับเงินคืนหลังจากเสร็จสิ้นการประกวด หากเป็นกรณีที่ชักชวนให้ผู้ปกครองนำพาบุตรหลานเข้าประกวดเดินแบบในต่างประเทศ อาทิ ประเทศฮ่องกง สิงค์โปร์ เป็นต้น จะต้องเสียค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการติดตามบุตรหลานท่านละประมาณ 10,000 – 20,000 บาท อีกทั้งอ้างว่า ทางผู้ปกครองจะได้รับเงินค่าจ้างเดินแบบให้แก่บุตรหลานคืน คนละประมาณ 10,000 – 20,000 บาท โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเด็กแต่อย่างใด

หลังจากที่ผู้ปกครองได้โอนค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้แก่ ก็เชิดเงินหลบหนี อีกทั้งซ้ำร้ายพบว่า เมื่อถึงกำหนดนัดหมาย ผู้ปกครองพร้อมบุตรหลานบางรายได้เดินทางไปรอขึ้นเครื่อง เมื่อสอบถามทางสายการบินกลับพบว่า ไม่มีการจองการเดินทางดังกล่าวแต่อย่างใด และไม่สามารถติดต่อกับผู้ถูกจับได้ อันเป็นการทำลายความหวัง ความฝัน ของเด็กและผู้ปกครองอย่างแสนสาหัส

ด้วยอุบายและพฤติการณ์หลอกลวงของผู้ถูกจับดังกล่าวข้างต้น เป็นเหตุให้มีผู้ปกครองต่างหลงเชื่อ โดยอาศัยความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจของผู้ปกครอง ที่คาดหวังให้บุตรหลานของตนเข้าสู่วงการบันเทิง ต่างโอนเงินให้แก่ผู้ถูกจับ เป็นจำนวนรายละกว่า 100,000 -200,000 บาท

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. จึงฝากประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มผู้ปกครองบุตรหลานซึ่งคาดว่าจะตกเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบของกลุ่มบุคคลดังกล่าว สามารถแจ้งและสอบถามมายัง กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล อีกทั้งยังขอเตือนภัยไปยังผู้ปกครองและบุตรหลานที่มีความฝันในการเข้าสู่วงการบันเทิงทุกท่าน ควรตรวจสอบและพิจารณาให้ถี่ถ้วน รอบคอบเสียก่อน เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว และหากพบเบาะแสของกลุ่มมิจฉาชีพลักษณะนี้ สามารถแจ้งเข้ามาที่  เพจ “สืบสวนนครบาล IDMB” ได้ตลอด 24 ชม. แม้จะไม่เป็นคดีอุกฉกรรจ์แต่หากเป็นคดีที่ประชาชนเดือดร้อน เราทำทันที” ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ