รมว.ศธ.ไม่อยากให้เด็กเสียโอกาส 1 ปี มอบปลัดศธ.ถกมหา’ลัย ช่วยเด็กติดโควิดเข้าสอบทีแคส ทปอ.ผุด 6 มาตรการเข้มสอบ GAT-PAT มี.ค.ให้จัดห้องพิเศษ 2 ห้อง
กรณีสมาชิกทวิตเตอร์รายหนึ่ง ทวีตภาพแชทพูดคุยกับแอดมินเพจทีแคส โดยอินบ็อกซ์เข้าไปถามว่า “ถ้ากรณีติดโควิดก่อนสอบและหายไม่ทันวันสอบ จะต้องทำอย่างไร” แอดมินตอบว่า “สอบปีหน้า หรือไม่ก็เลือกสาขาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบครับ” คำตอบของแอดมินเพจทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ตำหนิแอดมินที่ไม่เสนอแนะในสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังเข้าข่ายลิดรอนสิทธิเด็ก จนแฮชแท็ก #แบนทปอ. ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ พุ่งขึ้นอยู่ในอันดับ 5 ขณะที่นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์ และประธาน ทปอ.เล็งปรับวิธีตอบคำถาม โดยหารือร่วมกันต่อ ส่วนนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานกรรมการดำเนินงานทีแคส 65 เตรียมนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการฯ เพื่อเตรียมหาแนวทางแก้ไขปัญหานั้น
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า กรณีแอดมินเพจ Mytcas ของ ทปอ.ตอบคำถามว่าถ้าติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายไม่ทันการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT และวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT และ 9 วิชาสามัญ ที่จะใช้คะแนนเป็นองค์ประกอบที่ผู้สมัครต้องยื่นในระบบทีแคส เพื่อเข้าเรียนต่อในสาขา คณะ และมหาวิทยาลัยที่ต้องการ จะต้องทำอย่างไร
ซึ่งแอดมินเพจให้เข้าสอบในปีถัดไป หรือเลือกสาขาวิชาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบเหล่านี้ยื่น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะอาจจะทำให้เด็กเสียสิทธิ และเห็นว่า ทปอ.ควรมีมาตรการรองรับที่ดีมากกว่านี้นั้น ศธ.เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพราะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด จึงเร่งรัดฉีดวัคซีนให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา อย่างไรก็ตามมอบหมายให้นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.เป็นคนกลางไปคุยกับ ทปอ.เพื่อหาทางออกร่วมกัน
“ศธ.ไม่อยากให้เด็กเสียโอกาสไป 1 ปี เพราะติดเชื้อโควิด-19 คิดว่าเราควรมีมาตรการร่วมกัน เพื่อที่จะสามารถให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสอบได้” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ดร.สุภัทร กล่าวว่า ตนจะเร่งหารือกับ ทปอ.และผู้จัดการระบบทีแคส ว่าในกรณีที่เด็กติดเชื้อโควิด หากต้องการสอบจะสามารถจัดสรรหรือมีวิธีการใดได้บ้าง เพราะการสอบระบบทีแคสในปีนี้ จะแตกต่างจากปีที่แล้ว คือในรอบที่ 3 รอบแอดมิสชั่น ใช้คะแนนจาก GAT, PAT และ 9 วิชาสามัญ มาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก
“ผมจะหารือ ทปอ.ว่าในกรณีที่มีเด็กที่เข้าสอบติดเชื้อโควิด หรือมีความเสี่ยงต้องกักตัว ถ้าจะเข้าสอบจะสามารถจัดสรรหรือมีวิธีการใดบ้างเพื่อรองรับเด็กกลุ่มนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้” ดร.สุภัทร กล่าว
แหล่งข่าวจาก ทปอ.กล่าวว่า สำหรับการสอบ GAT และ PAT ระหว่างวันที่ 12-15 มี.ค.นี้ ทปอ.มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับสนามสอบ ดังนี้
1.จัดเตรียมห้องสอบพิเศษ 2 ห้อง โดยห้องที่ 1 สำหรับแยกสอบผู้ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศา หรือมีอาการเข้าข่ายต้องสงสัย โดยจัดเตรียมห้องสอบที่มีสภาพเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี และจัดโต๊ะให้มีระยะห่างกันไม่น้อยว่า 1.5 เมตร และห้องที่ 2 สำหรับแยกสอบผู้ที่มีอาการป่วยทั่วไป หรือได้รับบาดเจ็บ
หากระหว่างสอบมีผู้เข้าสอบรายใดมีอาการป่วย หรือเป็นไข้ เมื่อวัดอุณหภูมิแล้วสูงเกินกำหนด ให้ดำเนินการแยกผู้เข้าสอบรายดังกล่าวไปห้องพิเศษห้องที่ 1 และให้สนามสอบเตรียมหน้ากากอนามัยเพิ่มเติมให้ทุกคนที่สอบในห้องพิเศษ 1 สำหรับผู้เข้าข่ายสงสัย
2.จัดเตรียมจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และสังเกตอาการ และตรวจการสวมหน้ากากอนามัย สำหรับผู้เดินทางมายังสนามสอบทุกคน
3.จัดเตรียมจุดล้างมือแอลกอฮอล์ หรือสบู่ล้างมือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าสอบ และบุคลากรประจำสนามสอบในวันสอบ
4.จัดเตรียมพื้นที่เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม เช่น จุดพักคอย จุดรับประทานอาหาร และแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือสบู่ล้างมือ ในช่วงที่อยู่ในสนามสอบ
5.ให้คณะกรรมการดำเนินงานระดับสนามสอบ และผู้ปฏิบัติงานในสนามสอบทุกคน ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และทำแบบประเมินความเสี่ยงโรคติดเชื้อโควิด ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก่อนวันเริ่มสอบ และคัดกรองเฉพาะผู้มีความเสี่ยงต่ำในการเข้าร่วมปฏิบัติงานในสนามสอบ
6.ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคฯ เพิ่มเติม ที่กำหนดโดย ศบค.และหน่วยงานระดับจังหวัดหรือระดับพื้นที่
“นอกจากนี้ ทปอ.ให้คำแนะนำสำหรับผู้เข้าสอบเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้ แนะนำให้ใส่หน้ากาก 2 ชั้นทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ไม่แนะนำให้ผู้ปกครอง หรือผู้ติดตามเข้ามาในสนามสอบ ผู้เข้าสอบควรเตรียมอาหารกลางวันมารับประทานเอง หรือซื้ออาหารแบบกล่องที่สนามสอบจัดจำหน่าย และรับประทานอาหารในที่โล่งห่างจากผู้อื่นที่สนามสอบจัดไว้ให้ ไม่พูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหาร” แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์