นักวิชาการและอดีตทูตไทยประจำสหรัฐฯ คาด ประเด็นอิทธิพลจีน การเมืองในเมียนมา และปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะอยู่ในวาระการหารือของ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ระหว่างการเยือนไทย 15-16 ธ.ค.
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จะเดินทางมาถึงไทยในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค.) นับเป็นการเดินทางมาเยือนไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค. 2564
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุถึงประเด็นการมาเยือนไทยเพียงสั้น ๆ ว่านายบลิงเคน “จะยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อพันธไมตรีในสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐฯ กับไทย การทำงานเพื่อฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังการเกิดโรคระบาด และการรับมือสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” รวมทั้งจะหยิบยกประเด็นสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในเมียนมามาพูดถึงด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาจะหยิบมาหารือระหว่างการเยือนอีก 2 ชาติอาเซียน คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
- พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ ของโจ ไบเดน
- โจ ไบเดน: ผู้เชี่ยวชาญมองรัฐบาลใหม่สหรัฐฯ จะสนใจไทยมากขึ้นในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
- แทมมี่ ดักเวิร์ธ-สุดารัตน์ระบุวัคซีนไฟเซอร์บริจาคจากสหรัฐฯ ล่าช้าเพราะไทยไม่ตอบรับ อนุทินโต้ “ไม่จริง”
- ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ : ปอมเปโอเยือนไทยกับภารกิจที่ไม่ลับ ถ่วงดุลจีน-สานต่อการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
- ก.ตปท.สหรัฐฯ อนุมัติขายขีปนาวุธ แก่ไทย มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท
ด้านนายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ของไทย กล่าวว่านายบลิงเคนมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับนักธุรกิจไทย
การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และกระชับความร่วมมือในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน ไทย-สหรัฐฯ มีประเด็นทวิภาคีสำคัญหลายประเด็นที่จะหารือที่กระทรวงการต่างประเทศ โฆษก กต. กล่าว
ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ การเลือกไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เขามาเยือนในเดือนสุดท้ายของปีมีวัตถุประสงค์หรือวาระอะไรที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดของกำหนดการที่เป็นทางการหรือไม่ บีบีซีไทยคุยกับผู้เชี่ยวชาญ
…………………….
เปิดกำหนดการรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนไทย
การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายแอนโทนี บลิงเคน ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการประชุมและการเยือนหลายประเทศเริ่มจากสหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทยและไปสิ้นสุดที่โฮโนลูลู รัฐฮาวาย ระหว่างวันที่ 9-17 ธ.ค.
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงกำหนดการของนายบลิงเคนดังนี้
10-12 ธ.ค. เยือนลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและการพัฒนาของกลุ่มประเทศ G7
13-14 ธ.ค. เยือนกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย กล่าวปาฐกถาเรื่องความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเน้นย้ำลักษณะสำคัญของหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีย
14-15 ธ.ค. เยือนมาเลเซีย ผลักดันความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับมาเลเซียในการรับมือกับโควิด-19 การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น การส่งเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
15-16 ธ.ค. เยือนไทย ยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อพันธไมตรีในสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐฯ กับไทย การทำงานเพื่อฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังการเกิดโรคระบาด และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
17 ธ.ค. เดินทางไปโฮโนลูลู รัฐฮาวาย เพื่อพบกับพลเรือเอก จอห์น อากีลีโน ผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก
…………………
“มันถึงเวลาแล้ว”
นายพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างปี 2558-2560 วิเคราะห์จังหวะการมาเยือนของนายบลิงเคนว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านการคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดี
นายพิศาลกล่าวว่า นับตั้งแต่นายโจ ไบเดน เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. มีรัฐมนตรีและบุคคลระดับสูงในรัฐบาลหลายคนเดินทางมาเยือนประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลอยด์ ออสติน รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนา ไรมอนโด แต่ยังไม่มีบุคคลระดับรัฐมนตรีของสหรัฐฯ มาเยือนไทยเลย ดังนั้น “มันถึงเวลาแล้ว” ที่สหรัฐฯ ต้องแสดงให้เห็นว่ายังให้ความสำคัญกับพันธมิตรเก่าแก่อย่างไทยอยู่
“ลองคิดดูว่าถ้าครั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาเยือนภูมิภาคและไม่มาอาเซียน ไม่มาไทย โดยเฉพาะเมื่อไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ในปี 2565…ถ้าเผื่อนายบลิงเคนไม่มาไทยครั้งนี้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมคิดว่าคงมีความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นในไทย” กล่าวกับบีบีซีไทย
เว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐฯ ในไทยระบุว่า ไทยและสหรัฐอเมริกาติดต่อกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2361 และลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ. 2376 สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่พัฒนาแน่นแฟ้นขึ้นตามกาลเวลา ปัจจุบัน ไทยและสหรัฐฯ ร่วมมือกันในโครงการต่าง ๆ หลายเรื่อง ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข ธุรกิจและการค้า ประชาธิปไตย ความมั่นคงและความร่วมมือทางการทหาร
สหรัฐฯ จะได้อะไร
นายพิศาลวิเคราะห์ต่อไปว่า การเยือนประเทศอาเซียนและไทยของนายบลิงเคนมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อผลักดันนโยบายด้านการต่างประเทศรัฐบาลสหรัฐฯ ของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ประกาศให้โลกรู้ว่า “อเมริกากลับมาแล้ว” (America’s back) 2) ส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ และ 3) ทำให้นโยบายต่างประเทศเป็นสิ่งที่ “กินได้” คือเกิดประโยชน์โดยตรงต่อพลเมืองสหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ นายพิศาลบอกว่าล้วนแต่ “โยงไปถึงจีน”
แล้วสหรัฐฯ จะได้อะไรบ้างจากการเยือนไทยของนายบลิงเคน
• ยืนยันมิตรภาพกับไทย: ลบล้างความรู้สึกของคนบางส่วนที่ว่าสหรัฐฯ ห่างเหินและเฉยเมยกับประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อปี 2557 อีกทั้งเป็นการบอกกับจีนว่า สหรัฐฯ มีความใกล้ชิดและร่วมมือกับไทยในหลายเรื่อง แม้แต่เรื่องความมั่นคงในภูมิภาค
• หาแนวร่วมเรื่องเมียนมา: สหรัฐฯ น่าจะเห็นว่าไทยสามารถดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์กับรัฐบาลทหารของเมียนมาได้ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ นายบลิงเคนจึงน่าจะใช้โอกาสนี้หารือหรือโน้มน้าวให้ไทยดำเนินการอะไรบางอย่างเพื่อผลักดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุดสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือน เม.ย. ซึ่ง มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐประหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย
• ช่วงชิงบทบาทด้านเศรษฐกิจ: เพื่อสกัดการผงาดขึ้นของจีนด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ จะต้องกลับมามีบทบาทในไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน นอกจากจะสกัดจีนแล้ว ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกับไทยยังจะทำให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการส่งออก การค้า การลงทุนด้วย หรือทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่อง “กินได้” ตามนโยบาย
แนะชวนไบเดนมาประชุมเอเปคที่ไทย
สำหรับรัฐบาลไทย นายพิศาลเห็นว่าได้ประโยชน์ไปแล้วตั้งแต่นาทีที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศว่ารัฐมนตรีบลิงเคนจะมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าสหรัฐฯ ยังให้ความสำคัญกับไทย
แต่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการมาเยือนของนายบลิงเคนมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.ประยุทธ์หรือนายดอนจะหยิบยกประเด็นสำคัญมาพูดหรือไม่
“เรื่องที่อยู่ในใจของไทย และผมคิดว่านายกฯ คงจะยกขึ้นมาพูด และผมคิดว่าเราควรจะยกขึ้นมาพูดคือเรื่องการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565” นายพิศาลกล่าว
เขาให้ความเห็นว่ารัฐบาลไทยควรเชิญชวนให้ประธานาธิบดีไบเดนเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพให้ได้ เพราะนั่นหมายถึงความสำเร็จของไทยในเวทีโลก
นายพิศาล ซึ่งเคยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2546 ที่สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเชิญผู้นำมหาอำนาจ 3 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย และสหรัฐฯ มาเข้าร่วมการประชุมที่ไทยได้สำเร็จ กล่าวว่าหากสิ่งนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2565 ซึ่งใกล้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของไทย น่าจะเป็นผลดีต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลด้วย
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลว่า กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจ 21 เขตที่มีประชากร 2.8 พันล้านคน มี GDP คิดเป็น 59% ของโลกมาร่วมประชุม ซึ่งไทยก็ค้าขายกับกลุ่มนี้คิดเป็นเกือบ 70% ของการค้าของไทย
จะพูดถึงมาตรา 112-สิทธิมนุษยชนหรือไม่
นายพิศาลไม่ฟันธงว่าการมาเยือนของนายบลิงเคนจะมีการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่เชื่อว่านายบลิงเคน “มีความเป็นมืออาชีพที่รู้ว่าจะมีวิธีพูดอย่างไรให้เป็นการพูดที่สร้างสรรค์ และได้ประโยชน์กว่าการที่จะมาเลคเชอร์เหมือนกับที่รัฐมนตรีของรัฐบาลในอดีตอาจจะเคยทำ”
“เท่าที่ผมเคยสัมผัสกับบลิงเคนตอนที่ผมอยู่วอชิงตัน ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลโอบามา เขาเป็นคนนุ่มนวล เป็นอดีตนักวิชาการ ทำงานด้านการต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศให้พรรคเดโมแครตมาตั้งแต่ต้น เขามีความรู้ความสามารถด้านการเจรจา รู้จังหวะจะโคน รู้โอกาส…ผมคิดว่าเขาคงไม่ละเลยโอกาสที่จะหาทางพูดคุยในลักษณะที่มีความนิ่มนวล เกรงใจ เข้าอกเข้าใจ”
นายพิศาลกล่าวเพิ่มเติมว่าในการเยือนของผู้บริหารระดับสูงในลักษณะนี้ นอกจากกำหนดการที่เป็นทางการแล้ว สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมักจะจัดให้มีการพบปะกับบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อรับทราบข้อมูลและความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ สนใจ จึงต้องรอดูว่านายบลิงเคนจะมีการพบกับองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือไม่
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย มองว่า การมาเยือนไทยครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ เกิดขึ้นในเวลาที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยของไทย “อยู่ในสภาวะวิกฤติหนัก” นี่จึงเป็นบททดสอบสำคัญว่าจริง ๆ แล้วสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยหรือไม่
” มิตรภาพเก่าแก่ที่มีกับไทยจะทำให้สหรัฐฯ กล้าพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา หรือจะกลายเป็นเงื่อนไขให้ยอมปิดตาข้างหนึ่งแล้วคบหาสมาคมกับรัฐบาลประยุทธ์ต่อไปเพื่อหวังผลใช้ไทยเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจในภูมิภาค”
“ประชาธิปไตยแบบเทียม ๆ”
ศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เดินหน้า ไทยเป็นพันธมิตรที่ไม่เดินหน้าตามสัญญาในหลายประการ โดยเฉพาะปัจจัยภายในประเทศ ปัญหาสิทธิมนุษยชน การเมือง ประชาธิปไตยที่ขาดตกบกพร่องทำให้ไทยไม่ได้รับเชิญไปร่วมการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย
“ไทยมีประชาธิปไตยแบบเทียม ๆ ฝ่ายค้านถูกบีบ ภาคประชาสังคมถูกบีบทั่วหน้าและถ้วนหน้า” ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวกับบีบีซีไทย
นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในแวดวงนักการทูตต่างชาติในไทย มองว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ ตอนนี้ คือ การรุกคืบอย่างหนัก ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงตั้งแต่ระดับรองประธานาธิบดีไปจนถึงผู้ช่วยรัฐมนตรี ออกไปสร้างสัมพันธ์กับนานาชาติ โดยมีจีนเป็นปฏิปักษ์หลัก ดูได้จากเกมต่างประเทศตั้งแต่การประชุมสุดยอดประชาธิปไตยไปจนถึงความร่วมมือ AUKUS และ การจัดตั้งกลุ่มจตุภาคี หรือ Quad
“สังคมการเมืองสหรัฐฯ ตอนนี้ตกผลึกเรื่องจีนแล้ว ทั้ง 2 พรรคต่างเห็นพ้องกันเรื่องจีน มองจีนเป็นคู่แข่ง คู่อริระดับหนึ่ง”
แล้วพันธมิตรเช่นไทย จะทำอะไรได้บ้าง
ศ.ดร.ฐิตินันท์มองว่า สัมพันธ์สหรัฐฯ กับไทย อยู่บนพื้นฐานของทั้งเรื่องคุณค่าประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศ อยู่ที่ว่าสหรัฐฯ จะทำเรื่องอะไรในหน้าฉากและหลังฉาก
ในแง่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ รัฐบาลวอชิงตันอยากให้ไทยเล่นบทบาทในอาเซียนมากขึ้น ดึงไทยไว้ไม่ให้ไปอยู่กับจีนมากนัก เรื่องเมียนมา อยากให้ไทยเป็นตัวเชื่อม ประสานงาน เปิดพรมแดนบางรูปแบบ ให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งตอนนี้วิกฤตหนักในเมียนมา อยากให้กองทัพไทยช่วยคุยกับกองทัพเมียนมาให้เพลามือต่อผู้ประท้วง ส่วนเรื่องลุ่มน้ำโขง สหรัฐฯ อยากเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อคานกับจีน
“สิ่งที่ระบอบประยุทธ์อยากเห็นมากที่สุดคือสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสหรัฐฯ โดยไม่ต้องมาถามไถ่เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง เป็นไปไม่ได้ จึงต้องเอาเรื่องสัมพันธ์กับจีนมาต่อรอง ทั้งที่ไทยก็รู้ว่าจีนเอารัดเอาเปรียบไม่น้อย”
สหรัฐฯ “ก็มีปัญหา” เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
รองศาสตราจารย์ ดร. ปณิธาน วัฒนายากร แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อว่า เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน อาจจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้หากมีการหยิบยกขึ้นมา
เขามองว่า ทั้งไทยและสหรัฐฯ ต่างก็ถูกองค์กรด้านประชาธิปไตย ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ระบุว่ามีปัญหาในเรื่องนี้
ต้นเดือน ธ.ค. ดิอีโคโนมิสต์อ้างถึงรายงาน Freedom in the World ประจำปี 2021 ของฟรีดอมเฮาส์ว่าดัชนีเรื่องสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพของพลเมืองสหรัฐฯ ลดลงจาก 86/100 ในปี 2019 เป็น 83/100 ในปีที่แล้ว ทำให้สหรัฐฯ มีความก้าวหน้าน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ อยู่ถึง 60 ประเทศ ส่วนไทยถูกจัดให้ได้ดัชนี 30/100 เพราะฟรีดอมเฮาส์เห็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนนิยมสูงในไทยนั้น ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดและถูกยุบพรรค และมีการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย
ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน และไทย-สหรฐฯ รศ. ดร.ปณิธานเห็นว่า จีนและสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อไทยและคนไทยในหลายด้าน ไทยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ทั้งสองประเทศนี้ระแวงว่าไทยฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่อีกฝ่ายมองว่าเป็นการปิดล้อม ข่มขู่หรือคุกคาม
“รัฐบาลปัจจุบันก็น่าจะพร้อมที่จะสนับสนุนและยกระดับความร่วมมือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และกับไทยเองในด้านต่าง ๆ หากทำได้ เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรืออื่น ๆ ผ่านกลไกความร่วมมือ ทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค”
เขามองว่ากรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และกรอบเอเปคซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อจีนและสหรัฐฯ โดยรวมในระยะยาว
ไทยกับรัฐบาลไบเดน
บีบีซีไทยรวบรวมบางเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ก่อนการมาเยือนของนายบลิงเคน
• บริจาควัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา
ปี 2564 รัฐบาลสหรัฐฯ บริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ให้ไทย 2 ล็อตใหญ่ ล็อตแรกมาถึงเมื่อวันที่ 30 ก.ค. เป็นวัคซีนของไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ต่อมาในวันที่ 23 พ.ย. ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดสให้ไทยอย่างเป็นทางการ
สถานทูตสหรัฐฯ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า “วัคซีนเหล่านี้จะช่วยรัฐบาลและประชาชนไทยก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากและพลิกฟื้นสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้นขณะที่ทั้งสองประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราไปด้วยกัน การจัดส่งวัคซีน mRNA ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”
ขณะที่สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรีเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่าการที่สหรัฐฯ มอบวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ไทยเป็นครั้งที่ 2 “สะท้อนถึงความเป็นมิตรแท้ในยามยาก”
• ดอนพบบลิงเคนที่กรุงวอชิงตัน
นายดอนใช้โอกาสในการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่สหรัฐฯ เข้าพบหารือกับนายบลิงเคนเมื่อวันที่ 27 ก.ย. โดยทั้งสองฝ่ายย้ำถึงความเป็นพันธมิตรที่ยาวนาน การเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การรับมือการระบาดของโควิด-19 โดยนายดอนได้ขอให้ฝ่ายสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนการเร่งรัดให้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ ส่งมอบวัคซีนที่ไทยสั่งซื้อไว้โดยเร่งด่วน รวมทั้งหารือถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งต่อการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยให้สหรัฐฯ ในปี 2566 และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา
นอกจากนี้ นายดอนยังได้พบกับนายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานด้านอินโดแปซิฟิก สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และนางแทมมี ดักเวิร์ธ สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ด้วย
• ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มาไทย
เพื่อสานต่อการเยือนสหรัฐฯ ของนายดอน นายเดเร็ค ชอลเล็ต ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางมาไทยระหว่างวันที่ 18-19 ต.ค. และได้เข้าพบและหารือกับนายดอนหารือเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ซึ่งยังคงมุ่งที่ประเด็นการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือทวิภาคีและในกรอบอาเซียน และการส่งเสริมความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ เพื่อการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ประชาชนในเมียนมา
• รองผอ. ซีไอเอ พบ พล.อ.ประยุทธ์
วันที่ 19 พ.ย. นายเดวิด เอส โคเฮน รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง สหรัฐฯ หรือ CIA เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำเนียบรัฐบาล การพบปะกันในครั้งนี้ไม่มีกำหนดการแจ้งสื่อมวลชนล่วงหน้า แต่หลังจากทั้งคู่หารือกันเป็นเวลาประมาณ 45 นาที พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเป็นการคุยกันในภาพรวมเรื่องงานต่างประเทศและความมั่นคงของมิตรประเทศเพื่อหารือถึงประเด็นเสถียรภาพในภูมิภาค ความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคง สถานการณ์ในเมียนมา
• ประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยที่ไทยไม่ได้รับเชิญ
หลังจากที่สหรัฐฯ เปิดเผยรายชื่อ 110 ประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (
Summit for Democracy) ระหว่างวันที่ 9-10 ธ.ค. ซึ่งไม่มีประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อ สื่อบางสำนัก ฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลและ ส.ส. บางคนได้หยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็น ทำให้ กต. ต้องออกมาชี้แจง
- การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยของโจ ไบเดน คืออะไร ทำไมไทยไม่ได้รับเชิญ
- ซัมมิทเพื่อประชาธิปไตย : สหรัฐฯ ตั้งกองทุน 1.42 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมสื่อเสรี เลือกตั้งอิสระ สู้ทุจริต
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ว่าไทยรับทราบเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น ซึ่งไทยไม่ได้มีข้อห่วงกังวลว่าจะได้รับเชิญหรือไม่ โดยขึ้นกับดุลพินิจของสหรัฐฯ ในฐานะผู้จัด ที่อาจจะมีเหตุผลหรือปัจจัยในการพิจารณาของตนเอง
นายธานีกล่าวอีกว่า ไทยยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ทั้งที่ได้รับเชิญและมิได้รับเชิญ และที่ผ่านมาไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
• สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียนหารือพล.อ.ประยุทธ์
วันที่ 29 พ.ย. นายเท็ด โอเซียส ประธานสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา- อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council: USABC) เข้าพบนายกฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในไทย นอกจากนี้ นายเท็ดยังนำนักธุรกิจสหรัฐฯ ร่วมประชุมทางไกลออนไลน์กับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล อีกด้วย
• ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนไทยครั้งแรก
ราว 2 สัปดาห์ก่อนที่นายบลิงเคนจะมาไทย นายแดเนียล คริเตนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. เป็นครั้งแรกหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ย.
เอกสารข่าวของ กต. ระบุว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ซึ่งสหรัฐฯ จะรับช่วงเป็นเจ้าภาพต่อในปี 2566
• สารจากนายบลิงเคินเนื่องในโอกาสวันชาติไทย
วันที่ 5 ธ.ค. นายบลิงเคนส่งสรถึงประชาชนชาวไทยเนื่องในโอกาสวันชาติไทยระบุว่าไทยกับสหรัฐฯ ได้เสริมสร้างความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนมาตลอดระยะเวลากว่าสองศตวรรษ และจะร่วมมือกันต่อไปโดยเฉพาะการร่วมกันฟื้นฟูชาติให้กลับมาเฟื่องฟูและแข็งแกร่งกว่าเดิมหลังผ่านพ้นการระบาดใหญ่ของโรควิด-19 ก่อนจะทิ้งท้ายว่าสหรัฐฯ “ชื่นชมบทบาทการเป็นผู้นำของไทยในภูมิภาคนี้และทั่วโลก”
++++
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว