รพ.ตรัง แจงปมหญิง87 ป่วยติดเตียง รักษาโรคไตแล้วติดโควิดดับ เชื้อลงปอด ชี้เป็นเหตุสุดวิสัย ไร้งบเยียวยา สธ.ไม่มีงบประมาณในส่วนนี้
จากกรณี นางประจบ เป้าทอง อายุ 87 ปี ผู้ป่วยติดเตียง ป่วยเป็นโรคไตและเก๊าท์ เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ตรัง ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยมีลูกสาวชื่อ นางจิตราภรณ์ เคลือกล่อม อายุ 56 ปี ทำหน้าที่นอนเฝ้าดูอาการแม่ของตัวเอง จนถึงวันที่ 10-13 ก.พ.2565 ได้ขอผลัดเปลี่ยนเวรกับพี่สาวเพื่อขอกลับบ้าน และรู้สึกไม่สบายตัว
จึงตรวจหาเชื้อโควิด ก่อนพบว่าติดเชื้อ และมั่นใจว่าติดเชื้อโควิดมาจาก รพ.ตรัง เนื่องจากขณะที่เฝ้าดูแลแม่ ไม่ได้ไปไหน ต้องระมัดระวัง แต่ก็ยังติดเชื้อ ในขณะที่แม่ที่นอนรักษาโรคไต ทางเจ้าหน้าที่พยาบาลจึงได้แยกตัว และพาเข้ารักษาตามขั้นตอน จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา เพราะเชื้อโควิดลงปอด ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 2 มี.ค.2565 ที่เรือนสโมสร จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุมหารือการปฏิบัติราชการประจำสัปดาห์ โดยทาง นายแพทย์สมบัติ สธนเสาวภาคย์ ผอ.รพ.ตรัง ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่เป็นข่าวในรายนี้ จากการไปตรวจสอบประวัติในช่วงวันที่ 20 ม.ค.2565 ผู้ป่วยมีอาการไข้ไม่รู้ตัว ได้ไป รพ.นาโยง และนำตัวส่งต่อมาที่ รพ.ตรัง อาการในช่วงแรกรับผู้ป่วยความดันตก อาการยังไม่ปลอดภัย
ทาง รพ.ตรัง ก็ได้ให้การรักษา โดยการเพิ่มยา เพิ่มความดัน รักษาอาการทั่วๆ ไป ประเมินเบื้องต้นผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อทางกระแสเลือด มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ มีแผลกดทับ มีอาการซึม
ทั้งนี้ จากการพูดคุยญาติผู้ป่วยในตอนนั้น ทางญาติไม่ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ขอปั้มหัวใจ ในกรณีที่อาการทรุดลง แต่ รพ.ตรัง ก็ให้การดูแลรักษาเพื่อประคับประคองต่อ จนสัญญาณชีพกลับมาดี ผู้ป่วยอยู่ใน รพ.เรื่อยมา ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.- 13 ก.พ.2565
เนื่องจากว่าช่วงที่ผ่านมาอนุญาตให้ผู้ป่วยเฝ้าไข้ได้ 1 คน ก็เป็นคนเดิมเฝ้ามาจนถึงวันที่ 13 ก.พ.2565 จนเปลี่ยนเป็นคนเฝ้าไข้คนที่ 2 ซึ่งคนเฝ้าไข้แรกก็ได้บอกว่า ไปตรวจแล้วพบติดโควิด จึงโทรแจ้งทาง รพ. ก็ได้ทำการตรวจผู้ป่วย ก็พบว่าติดเชื้อโควิดด้วย รวมกับโรคเดิม มีเชื้อติดแผล และมีอาการซึม จากนั้นผู้ป่วยก็ย้ายไปในวอร์ดรวมสำหรับผู้ป่วยโควิด และผู้ป่วยเสียชีวิตในวันที่ 26 ก.พ.2565
ส่วนในกรณีทางญาติค่อนข้างติดใจนั้น จริงๆ แล้วทาง รพ.ตรัง มีมาตรการในการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด 3 แนวทาง ทั้งผู้ป่วยเอง รวมทั้งญาติ และทีมเจ้าหน้าที่ รพ. โดยผู้ป่วยทุกรายก่อนเข้ารักษาจะต้องตรวจ ATK และญาติเฝ้าไข้ 1 คน จะต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ แม้การเปลี่ยนตัวคนเฝ้าไข้ ก็ต้องตรวจ ATK และเจ้าหน้าที่เองก็จะต้องถูกสุ่มตรวจ ATK ทุกสัปดาห์เช่นกัน
หากพบใครเชื้อเป็นบวก ก็ให้พักงานไป ซึ่งมาตรการของ รพ.ค่อนข้างจะรัดกุม ในการป้องกันไม่ให้เชื้อภายนอกเข้ามา แต่ถ้าหากพบผู้ติดเชื้อโควิด ก็ถือเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ ส่วนเรื่องการเยียวยานั้น เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ ก็จะทำการพูดคุยกับญาติต่อไป
สำหรับการตรวจ ATK ของญาติที่เฝ้าไข้ 1 คน รพ.ตรัง จะทำ ATK ให้ฟรี สัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าในระหว่าง 1 สัปดาห์ มีการเปลี่ยนตัว ญาติคนต่อไปต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งในตอนที่เกิดเหตุค่าทำ ATK อยู่ที่รายละ 500 บาท แต่ล่าสุดได้มีการปรับลดลงมาเหลือรายละ 350 บาทแล้ว และหากมีญาติมาขอเข้าเยี่ยมผู้ป่วยรายใด ก็ต้องจ่ายค่าตรวจ ATK เอง เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ให้