‘รธน.ประชาชน’ยังไม่เสียของ
มติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของรัฐสภา ที่เป็นผลจากการผนึกเสียงของฝั่งรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และส.ว. ร่วมโหวตตีตก
ทำให้เกิดถกเถียงว่าเป็นการปิดประตูตาย สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยภาคประชาชนมากขึ้นหรือไม่
มีความเห็นจากนักวิชาการที่เกาะติดการแก้ไข
สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง
รู้ตั้งแต่แรกแล้ว เราทุกคนรู้อยู่ว่าคว่ำแน่ เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เสนอแก้ก็ตามต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน ดังนั้นเมื่อร่างของภาคประชาชนที่เสนอตัด ส.ว.ออกไป ก็เชื่อแน่นอนว่าไม่ได้รับการยอมรับจาก ส.ว.
คนเสนอเขาไม่ได้ตั้งความหวังว่าจะผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว แต่ตั้งความหวังในการจุดไฟความคิดนี้ เผยแพร่ความคิดนี้ ออกไปเพื่ออนาคตข้างหน้า และในทางการเมือง อาจทำให้เห็นโฉมหน้าของนักการเมืองแต่ละกลุ่มว่ามีความคิดเห็นเรื่องประชาธิปไตยอย่างไร
ที่เห็นได้ชัดตอนแรกสุดคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจงดออกเสียง หรืออาจผ่านให้เพื่อรักษาหน้าตัวเองว่าสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะรู้อยู่ว่าถึงให้ผ่านไปก็ไม่ผ่านด่าน ส.ว.แน่นอน
แต่การไม่ให้ผ่านครั้งนี้เท่ากับว่าพรรคร่วมรัฐบาล แสดงความจริงใจให้ ส.ว.เห็นว่าเราพวกเดียวกัน เพราะในอนาคตฝ่ายรัฐบาลก็คงต้องอาศัยเสียงส.ว.ช่วยส่งเสริมในงานต่างๆ ด้วย ก็ต้องชมพรรคร่วมรัฐบาลที่กล้าหาญพอ จะบอกความจริง โดยลงมติคัดค้านเลย นี่คือสิ่ง ที่เห็น
ส่วนฝ่ายค้านก็คิดว่าการสนับสนุนให้ร่างนี้ผ่าน อย่างน้อยที่สุดคน 1.3 แสนคนที่ลงชื่อเสนอร่างนี้ และฝ่ายที่สนับสนุนการเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นก็จะมาสนับสนุนฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งหน้า จะเห็นว่าฝ่ายค้านลงมติสนับสนุนทั้งหมด
คราวแรกคนก็มองว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมสนับสนุนด้วยหรือไม่ แต่ในทางการเมืองพรรคก้าวไกลอยู่ในจุดเสี่ยงอาจถูกยุบได้ เพราะบางทีตัวกฎหมายสู้การผลักดันไม่ได้ พรรคเพื่อไทยก็อาจหวังว่าหากพรรคก้าวไกลไม่อยู่ คะแนนพวกนี้ก็จะมาทางเขา จึงชัดเจนว่าฝ่ายค้านลงมติ ให้ผ่าน
ก็ต้องรอดูการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้นจะมีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะระยะหลังฝ่ายค้านเริ่มตีแตกเรื่องคะแนนแล้ว โดยพรรคเพื่อไทยขายความคิดเอาแค่ 250 เสียง ไม่ต้องถึง 300 เสียงก็พอแล้ว
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าปิดประตูวันนี้ แต่เขาหวังอนาคตข้างหน้า อย่างน้อยเชื่อว่าการเลือกตั้ง ครั้งหน้าประชาชนไม่เลือกพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเสียงให้ฝ่ายค้าน
ส่วนที่หลายคนมองว่าประเด็นเสนอยุบ ส.ว.เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างของภาคประชาชนไม่ผ่านวาระรับหลักการนั้น ถึงไม่เสนอยุบ ส.ว.ก็ไม่ผ่านอยู่แล้ว เพราะท่าที่ของ ส.ว.ไม่ค่อยรับฟังเสียงประชาชน แต่รับฟังเสียงของนักการเมืองมากกว่าด้วยซ้ำ อย่างเรื่องการยอมรับให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ส.ว.ก็ฟังจากนักการเมืองมากกว่า
โอกาสหน้าสามารถเสนอเแก้ได้ทุกวัน ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น นายปิยบุตร แสงกนกกุล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือใครก็เสนอได้ แต่จะผ่านหรือไม่เท่านั้น และตกลงแล้วนักการเมืองให้ความสำคัญกับเสียงประชาชนนอกสภาแค่ไหน
ดังนั้น ตอนนี้ผู้เสนอร่างที่ถูกคว่ำก็อาจขายความคิดถึงการลงมติแบบนี้ของรัฐสภา แล้วผลักดันให้มีการเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งก็วิตกเหมือนกันว่าจะแรงกว่าเดิม
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
ที่รัฐสภาไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยเพราะการคว่ำร่างลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมากับร่าง ของไอลอว์มาแล้ว แค่ครั้งนี้เปลี่ยนเป็นเของกลุ่มรีโซลูชั่น
แต่สิ่งที่สังเกตเห็นคือถ้าจะแก้ไขได้จริงก็จะแก้แค่บางประเด็น และต้องเป็นประเด็นที่พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว.เห็นด้วย ถึงจะแก้ไขได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการคว่ำร่างครั้งไหนก็จะมีตัวละครหลักที่จะมาบอกว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เช่น พรรคพลังประชารัฐ และส.ว.
ฉะนั้นที่จะแก้ได้ก็จะเป็นแค่ในรายมาตรา แต่จะไปยกร่างทั้งหมดคงลำบาก เพราะถ้านำร่างนี้ไปเทียบเคียงกับของไอลอว์ ร่างนี้แทบจะเป็นการยกเครื่องทั้งหมด คงต้องมาดูกันว่าถ้ายกร่างหมดไม่ได้แล้วจะแก้ไขรายมาตรานั้นจะเป็นในส่วนไหนบ้าง
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาล และส.ว.ไม่ได้จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรายมาตราทุกกรณี เขาจะเห็นพ้องแค่แก้เรื่องระบบเลือกตั้ง เพราะไม่ได้ไปกระทบกับระบบโครงสร้างการใช้อำนาจทางการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้ ดังนั้น เมื่อไปแตะส.ว. ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบโครงสร้างนั้นก็ไม่สามารถแก้ไขได้
ข้อสังเกตที่ว่า มติของรัฐสภาทำให้เห็นว่ากระบวนการที่ให้ประชาชนมีส่วนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริงนั้น ก็ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญที่ดีนอกจากจะวางโครงสร้างการเมืองที่มีประสิทธิภาพ และมีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ซึ่งรัฐธรรมนูญตามหลักสากลมีบทบัญญัติแล้ว และบทบัญญัตินั้นต้องนำไปบังคับใช้ได้จริง ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเพียงสมุดเล่มหนึ่งเท่านั้นไม่มีความหมาย ดังนั้นเมื่อเขียนเรื่องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้วก็ต้องใช้ได้จริง
ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เรามีการกำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมาย รวมทั้งเสนอชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบันนั้นมีผลสัมฤทธิ์เรื่องนี้น้อยมาก หรือแทบจะไม่เกิดเลยก็ว่าได้
ที่ผ่านมา มีที่ประชาชนร่วมลงชื่อเสนอไปยังรัฐสภา เมื่อสภาตีตกเรื่องก็จบไป ดูเหมือนว่ารัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิแต่ไม่ตลอดรอดฝั่ง แม้แต่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ไม่ได้ไปกระทบต่อโครงสร้างการเมืองปัจจุบันก็ยังผ่านยาก และยิ่งการเสนอไปแตะเสถียรภาพของเขายิ่งไม่มีทางผ่านแน่นอน
การที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอไปแล้ว สุดท้ายสภาไม่รับนั้นมีนัยยะสำคัญและถือเป็นปัญหา เพราะลึกๆแล้วการออกแบบรัฐธรรมนูญถ้าไม่มีภาคประชาชนเสนอไปเราก็จะไม่ได้รู้ถืงปัญหา
และยิ่งตอนนี้ที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตความขัดแย้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้สังคมอยู่ในสภาวะแบ่งขั้วแยกข้างอย่างชัดเจน และค่อนข้างรุนแรง
การออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้ยิ่งจะก่อให้เกิดความ ขัดแย้งสูง รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้ไปแล้ว ถ้าเกิดความขัดแย้งต้องเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งไม่ใช่ไปเพิ่มให้รุนแรงขึ้น
ในการอภิปราย แม้ฝ่ายผู้เสนอร่างจะชี้แจงได้ชัดเจน หรือชี้แจงได้ดีแค่ไหนแต่สุดท้ายก็ไม่ผ่าน เพราะร่างนั้นไปแตะถึงโครงสร้างของรัฐบาลที่ฃตอนนี้ถูกค้ำยันโดยเสียงของ ส.ว. 250 คน
ก็ต้องบอกว่าไม่ได้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2521 ฉะนั้นร่างของกลุ่มรีโซลูชั่นเป็นการไปเลื่อยขาที่ค้ำยันรัฐบาลชุดนี้ เขาไม่พอใจอยู่แล้วและจึงไม่ผ่าน
การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกจะให้สำเร็จคงเป็นไปได้ยาก ถ้าตราบใดที่ไปแตะโครงสร้างทางการเมืองสำคัญของเขา หรือแม้แต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระต่างๆ อย่างไรก็ไม่สำเร็จแน่
แต่การจะแก้ปัญหาแล้วไม่ได้ไปแตะโครงสร้างดังกล่าว ก็เป็นเหมือนการเลี้ยงไข้ เพราะปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง
สุเชาวน์ มีหนองหว้า
อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.อุบลฯ
แม้การเสนอแก้ไขของภาคประชาชนผ่านกระบวนการรัฐสภาจะไม่ผ่าน แต่ยังไม่ถือเป็นการปิดประตู เพราะยังมีโอกาส เนื่องจากฝ่ายที่เห็นด้วยกับภาคประชาชนก็ยังมีอยู่ เช่น พรรคฝ่ายค้านหลายพรรคที่ยังมีแนวคิดตรงกับภาคประชาชนครั้งนี้ ยังสามารถเสนอผ่านกระบวนการรัฐสภาได้โดยพรรคการเมือง
ในทางพฤตินัยหรือทางรัฐศาสตร์จะเป็นผลดี เพราะ 1.เป็นการให้ความรู้ สร้างความตื่นตัวแก่ประชาชน โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 60
2. แสดงให้เห็นว่าภาคประชาชนสามารถแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยได้ แม้เส้นทางการเข้าไปสู่การแก้ไขของรัฐสภาจะยังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
แม้ในเชิงคณิตศาสตร์การโหวตในสภาแม้ไม่ผ่าน แต่ที่สะท้อนถึงความตื่นตัว ความสนใจต่อปัญหารัฐธรรมนูญปี 60 การรวบรวมชื่อได้มาเกินเป้าหมาย ประมาณ 1.5 แสนคน คัดกรองแล้วเหลือ 1.3 แสนคน แม้ไม่ได้ผลทางปฏิบัติ แต่ประโยชน์ทางรัฐศาสตร์ จิตวิทยาทางการเมืองที่มีต่อรัฐธรรมนูญ นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ส.ว.ควรตระหนักว่าตอนนี้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว และเปิดกว้างมากขึ้น
เมื่อมองดูจากการอภิปรายของผู้เสนอร่างแก้ไข ให้ข้อมูลทางวิชาการที่ชัดเจน มีข้อมูลอ้างอิงได้ ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง
ไม่ใช่เรื่องแปลก ช่วงหาเสียงพรรคการเมืองทำอะไรก็ได้ที่จะชูนโยบายให้โดนใจประชาชนเพื่อเรียกคะแนน แต่เมื่อเข้ามาสู่สภาได้เป็นฝ่ายรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล อาจลืมคำพูด คำสัญญา หรือการพลิกลิ้นก็เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทยที่เราเห็นมานาน
คงไม่โทษนักการเมืองฝ่ายเดียว แต่อาจเป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญด้วยที่ทำให้เสียงออกมาแบบเบี้ยหัวแตก มีพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคการเมืองจึงพยายามเอาตัวรอดเพื่อรักษาผลประโยชน์ตัวเอง ลืมคำพูด คำสัญญาต่อประชาชน
ประเด็นที่ทำให้ร่างนี้ถูกคว่ำที่ชัดๆ คือการยกเลิก ส.ว. เป็นสายล่อฟ้า ส.ว. 250 คนเป็นผู้ค้ำจุนการได้มาซึ่งนายกฯและรัฐบาล ที่สำคัญอีกเรื่องคือการจะไปยกเลิกนิรโทษกรรมตนเองของ คสช.
หากจะให้คะแนนการอภิปรายในสภา ฝ่ายผู้เสนอคงได้คะแนนดีกว่าฝ่ายที่อภิปรายคัดค้านเยอะ โดยเฉพาะนายปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอให้แง่มุมได้ละเอียดครบถ้วน เอาการเอางาน ตั้งใจฟังฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เก็บรายละเอียดมาถกแถลง พร้อมข้อมูลทางวิชาการอ้างอิงครบถ้วน เปรียบเทียบให้เห็นระหว่างกฎหมายกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ทำได้ดีน่าชื่นชม
การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ มีการพูดถึงจุดด้อยของรัฐธรรมนูญ 60 ที่มีการพูดถึงมานานและเรียกร้องบนท้องถนน คิดว่าเป็นจังหวะเหมาะพอดีทำให้ประชาชนหันกลับมาสนใจในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้ไม่ผ่านก็ไม่ได้เสียของเพราะเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอยู่แล้ว และคิดว่าโอกาสในการแก้ไขก็จะมีอีก คือในการเลือกตั้งสมัยหน้า ฝ่ายค้านคงจะหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาคุยด้วย
ส่วนการผนึกกันของฝั่งรัฐบาลที่โหวตคว่ำ รัฐบาลคงคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งเร็วๆนี้ จึงพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งการจัดเลี้ยง ตั้งวิปใหม่ มองได้ว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อกลับมาเป็นรัฐบาล จึงยังต้องใช้ 250 ส.ว. เป็นเสาค้ำยัน