รถไฟความเร็วสูงโคราช ส่อสะดุด ชาวบ้านลั่นไม่เอาคันดิน ขอยกระดับเป็นม่อ ชี้กระทบวิถีชีวิตชุมชน ทั้งคมนาคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม มลพิษเสียงและฝุ่นละออง
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 ธ.ค. 2564 ที่ศาลาการเปรียญ วัดใหม่อินทราราม ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายกฤษฎา มัชฌิมาภิโร ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมนายนรุตม์ชัย สัมมาวิจิตร ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมาระยะทาง 251.9 กม. จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับชุมชน ประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการงานสัญญาที่ 3-5 งานโยธา ช่วงสถานีโคกรวด-สถานีนครราชสีมา
โดยบริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินงานก่อสร้าง ขอบเขตงาน 1.งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 12.52 กม. คันทางระดับดิน 7.85 กม. ทางยกระดับ 4.853 ดกม. 2.งานสถานีนครราชสีมา 3.งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบไฟฟ้า 4.งานรื้อย้ายต่างๆ รวมมูลค่า 7,750 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน เริ่มงานวันที่ 26 มกราคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 10 มกราคม 2567
โดยให้นางมะลิวัลย์ บางนิ่มน้อย นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) บ้านใหม่ อ.เมือง พร้อมนายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา อ.เมือง เขต 4 ผู้นำชุมชน ผู้แทนกลุ่มพัฒนาบ้านใหม่ 2020 และประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ จำนวนกว่า 100 คน รับทราบข้อมูลเป็นแนวแนวทางปรับปรุงแก้ไขให้ชุมชนได้รับความสะดวกสบายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นที่ชุมชนห่วงกังวล
นายนรุตม์ชัย ผอ.โครงการฯ เปิดเผยว่า รถไฟไทย-จีน เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะทาง 606.4 กิโลเมตร เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐอินเดีย โดยเป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับชีวิตในการเดินทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดปริมาณการจราจรบนถนนสายหลัก ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงสามารถเพิ่มทางเลือกการเดินทางสู่ภาคอีสานและเชื่อมต่อ สปป.ลาว และจีนในอนาคต รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น
โดยกำหนดอัตราค่าโดยสาร 80+1.8 บาทต่อกิโลเมตร เช่น กรุงเทพ-นครราชสีมา 535 บาท กรุงเทพ-ปากช่อง 393 บาท กรุงเทพ-สระบุรี 278 บาท กรุงเทพ-พระนครศรีอยุธยา 195 บาท กรุงเทพ-ดอนเมือง 105 บาท เวลาเดินรถ 06.00-22.00 น. ขบวนรถออกทุก 90 นาที ใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาเดินทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ประมาณ 1.30 ชั่วโมง
ทั้งนี้ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ชาว ต.บ้านใหม่ ได้รวมตัวเคลื่อนไหวแสดงจุดยืน “ต้องการยกระดับเป็นตอม่อไม่ใช่คันดิน” ได้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฯลฯ
ขอให้พิจารณาทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้าง ผู้นำชุมชนยกตัวอย่างปัญหาความเดือดร้อนและร้องขอให้ปรับรูปแบบแต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน อ้างอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลในฐานะเจ้าของโครงการ ทำให้ชาว ต.บ้านใหม่ ไม่ยอมรับรูปแบบที่นำเสนอส่งผลให้กิจกรรมการมีส่วนร่วมกว่า 3 ชั่วโมง ไม่ราบรื่นเท่าที่ควรและไม่ได้ข้อสรุป
นายประพจน์ ส.อบจ.นครราชสีมา ในฐานะตัวแทน ชาว ต.บ้านใหม่ เปิดเผยว่า กายภาพของ ต.บ้านใหม่ เป็นชุมชนชานเมืองขนาดใหญ่มี 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 3 หมื่นคน โครงการบ้านจัดสรรจำนวน 15 แห่ง สถานศึกษา 9 แห่ง และที่ตั้งหน่วยงานราชการ รูปแบบเดิมช่วงเส้นทางผ่าน ต.บ้านใหม่ เป็นคันทางระดับดิน 7.85 กม. ก่อนจะยกระดับเข้าสู่สถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งคันดินสูงประมาณ 2 เมตร เปรียบเสมือนกำแพงกั้นไม่ตอบโจทย์ความสะดวก ความปลอดภัย เสมือนการแบ่งแยกชาวบ้านที่อยู่สองข้างทางรถไฟออกจากกันส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายจักรวรรดิ์ ศรีพนม สท.เขต 1 ทต.บ้านใหม่ กล่าวว่า ขอให้ปรับรูปแบบจากคันดินโดยยกระดับเป็นตอม่อมาตั้งแต่ ต.โคกกรวด ยกผ่าน ต.บ้านใหม่ สิ้นสุดที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มิเช่นนั้นหากเกิดเหตุเพลิงไหม้จะเป็นอุปสรรคของรถดับเพลิงการไประงับเหตุ เมื่อแบ่งแยกชุมชน วิถีชีวิตเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระสงฆ์ สามเณรต้องเดินข้ามสะพานต่างระดับสูง 10 เมตร ระยะทาง 1 กิโลเมตร ไปรับบิณฑบาต ชาวบ้านไปมาหาสู่ลำบากมากขึ้น
ด้าน น.ส.กิตติมา ถิขุนทด สท.เขต 2 ทต.บ้านใหม่ กล่าวว่า การก่อสร้างคันดินยกระดับและสร้างอุโมงค์ทางลอดผ่านจุดตัดจะเกิดผลกระทบทั้งการคมนาคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม มลพิษเสียงและฝุ่นละออง ถนนมอเตอร์เวย์ก็ทำให้น้ำท่วม หากโครงการนี้แล้วเสร็จ ต.บ้านใหม่ ต้องเป็นพื้นที่รับปริมาณน้ำจำนวนมาก ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ขอให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจปรับรูปแบบเพื่อประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย