คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
รถทหาร – นอกจากรถทหารมีบทบาทมาหลายครั้งในเหตุการณ์รัฐประหารของประเทศแล้ว ช่วงเวลานี้กองทัพยังเตรียมพร้อมที่จะให้รถทหารเข้ามารับมือการประท้วงของผู้ประกอบการรถบรรทุก
เรื่องนี้จึงเป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างอึกทึกอีกครั้ง
โดยเฉพาะประเด็นการแก้ปัญหาที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจ แต่กลับถึงเอาการทหารเข้ามาใช้
แม้เจ้าหน้าที่ราชการและรัฐบาลพยายามอธิบายว่า เป็นเพียงการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เหมือนกับการนำรถของกองทัพไปบรรเทาสาธารณภัย เช่น ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
แต่ดูเหมือนว่าการเปรียบเทียบนี้จะไม่ช่วยให้ตรงจุด
ปัญหาจากการประท้วงของกลุ่มผู้ประกอบการรถขนส่งหรือรถบรรทุกชัดเจนว่ามาจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น
ข้อขัดแย้งและการต่อรองจึงอยู่ที่ระดับราคาน้ำมันที่รัฐบาลจะต้องบริหารจัดการในด้านเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยต้นทุน กำไรขาดทุน การอุดหนุน การแก้ปัญหาลักลอบน้ำมันเถื่อน ฯลฯ
แนวคิดการใช้บริการกองทัพที่รัฐบาลมีความใกล้ชิดอาจดูง่ายๆ และรวดเร็ว แต่เป็นหนทางที่ห่างไกลกับปัจจัยทางธุรกิจ อีกทั้งอาจส่งผล กระทบให้ระบบการตลาดบิดเบี้ยว
นอกจากนี้ยังมีผู้ชี้ประเด็นที่รถทหารไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย และไม่มีประกันภัย หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างขนส่ง จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน
ส่วนในแง่จิตวิทยา การขานรับแนวคิดของนายกรัฐมนตรีของกองทัพจึงไม่เป็นผลบวกแต่อย่างใด
จากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการขนส่งโดยรถบรรทุกทั้งประเทศมีประมาณ 1.1 ล้านคัน ในจำนวนนี้มีรถบรรทุกวิ่งให้บริการขนส่งสินค้าต่างๆ และพืชผลผลิตทางการเกษตรรวมอยู่ด้วย ซึ่งไม่ได้ให้หยุดวิ่งรถทั้งหมด
ฉะนั้น การแก้ไขต้องใช้วิธีการทางเศรษฐกิจ ทั้งภาพรวมและเฉพาะกลุ่ม
ที่สำคัญคือต้องอาศัยกลไกทางประชาธิปไตยในการเจรจาต่อรองกับผู้ประท้วง เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกัน มีผลต่อการติดตามการแก้ไขระยะต่อไปด้วยกัน
รัฐบาลแทบทุกยุคสมัยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่จะแสดงความสามารถทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นๆ