กว่าหนึ่งปีแล้ว ที่ COVID-19 ได้ระบาดไปทั่วโลก แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศ ที่เริ่มจะกลับมาลืมตาอ้าปากจากสถานการณ์ดังกล่าว … ไอซ์แลนด์คือหนึ่งในนั้น
ไอซ์แลนด์ เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ประกาศยกเลิกการใส่หน้ากากกลางแจ้ง และเป็น 1 ใน 2 ประเทศของยุโรป ณ ตอนนี้ที่อยู่ในโซนสีเขียว (มีผู้ติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 25 คนต่อประชากร 1 แสนคนในรอบ 14 วันล่าสุด) จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป ส่วนอีกประเทศคือ มอลตา (ขณะที่ ฟินแลนด์ และ นอร์เวย์ ยังเป็นโซนสีเขียวเพียงบางส่วนของประเทศ)
ไอซ์แลนด์ ประเทศบนเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนมหาสมุทรแอตแลนติก และมีประชากรราว 370,000 คน ดังนั้น มันคงจะเป็นเรื่องง่ายที่ด่วนสรุปว่า ประเทศนี้โชคดี
แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดมากกว่าปัจจัยทางภูมิประเทศแล้ว มันมีอะไรมากกว่านั้น และนี่คือสิ่งที่คนไอซ์แลนด์สามารถภาคภูมิใจกับความสำเร็จได้
รณรงค์ วงศ์มหาดไทย นักเตะไทย ที่ใช้ชีวิตและเล่นในลีกของ ไอซ์แลนด์ ให้กับหลายสโมสร ไม่ว่าจะเป็น อาฟริกา, อาล์ฟตาเนส, อิสบยอร์นอินน์, อลาฟอสส์, เคเอฟบี และ บยอร์นอินน์ เป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี จะมาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตท่ามกลาง COVID-19 ในดินแดนน้ำแข็ง ผ่าน Main Stand ให้ได้ทราบกัน …
ต้นตอจาก อิตาลี
แม้จะเป็นเกาะที่อยู่ห่างไกลจากตัวทวีป แต่ไอซ์แลนด์ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ
Photo : www.britannica.com
โดยเคสแรกที่เกิดขึ้น ได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020 จากชายวัยประมาณ 40 ปี ที่กลับจากเล่นสกีที่อิตาลี และแสดงอาการเมื่อกลับมาถึงบ้าน เช่นเดียวกับเคสต่อ ๆ มา ที่มีการรับเชื้อจากต่างประเทศ ก่อนจะมีการแพร่เชื้อสู่คนในประเทศด้วยกันเอง
จากนั้นยอดก็พุ่งสูงขึ้น และวันที่ 7 เมษายน 2020 ไอซ์แลนด์ มียอดผู้ป่วยสูงถึง 1,212 คน แต่หลังจากนั้นตัวเลขก็ลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่มีเชื้อเป็นบวก แหกกฏกักตัว ออกมาข้างนอกจนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อขึ้น New High อีกครั้ง ในวันที่ 20 ตุลาคม 2020 ที่จำนวน 1,252 คน
“ตอนนั้น รัฐบาลไอซ์แลนด์ สั่งห้ามคนนั่งทานอาหารในร้านเลยครับ ร้านรวงต่าง ๆ ก็ปิดเร็วขึ้นด้วย ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตก็จำกัดคนเข้า และรักษาระยะห่าง ให้คนอยู่แต่ในบ้าน” รณรงค์ วงศ์มหาดไทย นักเตะไทยที่ค้าแข้งที่นั่นเปิดเผยกับเรา
รณรงค์ วัย 33 ปี ตามคุณแม่มาอยู่ที่ ไอซ์แลนด์ ตั้งแต่เด็ก ๆ และเล่นในลีกแดนน้ำแข็งตั้งแต่ 19 ปี โดยฟุตบอลลีกของไอซ์แลนด์ ยังคงมีลักษณะเป็นกึ่งอาชีพ แต่ละคนมีงานอื่นนอกเหนือจากการเป็นนักฟุตบอล
Photo : Ronnarong Wongmahadthai | @Kidditr
“ผมรับหน้าที่ขับรถเครนให้กับองค์การบริหารท้องถิ่น เลิกงานก็ซ้อมบอล และจับงานผู้ตัดสินด้วย เป็นกรรมการของสมาคมฟุตบอล ได้ตัดสินบอลเยาวชน ฟุตบอลหญิง แล้วก็บอลลีกรอง” รณรงค์ กล่าวเสริม
แน่นอนว่า COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปของคน รวมถึงวงการฟุตบอลด้วยเช่นกัน “ฟุตบอลลีก ตอนระบาดรอบแรกก็มีการเลื่อนออกไป พอมาระลอกสองช่วงท้ายฤดูกาล ก็ต้องตัดจบ แล้วหารแต้มเฉลี่ยแต่ละทีมหาแชมป์กันเลยครับ”
และในช่วงนั้นเอง ก็มีข่าวว่าบรรดาสตาฟฟ์โค้ชทีมชาติไอซ์แลนด์ติดเชื้อ COVID-19 ก่อนเกมเนชั่นส์ลีกกับ เบลเยียม จนต้องกักตัวยกชุดและดันโค้ชเยาวชนทำหน้าที่แทน ซึ่งเกมดังกล่าวจบลงด้วยชัยชนะ 2-1 ของ เบลเยียม ที่กรุงเรคยาวิค
ตรวจเร็ว พบเร็ว รักษาเร็ว
แม้มาตรการป้องกันแต่เหมือนกันกับหลายประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือ การปูพรมตรวจหาเคส , ติดตามการระบาดของเคส และกักตัว อย่างเข้มข้น
ไอซ์แลนด์ มีการตรวจหาเชื้อกว่า 50,000 คน ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ นั่นทำให้พวกเขาพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนถึง 1 ใน 6 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดของโลก แต่ก็เป็นเพราะว่ามีการปูพรมตรวจหาเชื้อที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกเช่นเดียวกัน
Photo : www.telegraph.co.uk
“ถ้ากลุ่มเสี่ยงเขาจะส่ง SMS ให้ไปตรวจ หรือถ้าใครอยากตรวจก็ลงทะเบียนไว้ เดี๋ยวเขาจะส่งวันเวลาให้ไปตรวจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ” รณรงค์ กล่าวเสริม
“ที่นี่ก็เหมือนประเทศอื่นในยุโรป คือถ้าเป็นไม่หนัก ก็ให้รักษาตัวที่บ้าน เพื่อไม่ให้เชื้อไปติดคนอื่นในชุมชน และเขาจะมีสายด่วนให้คำปรึกษา มีรถพยาบาลเคลื่อนที่คอยสแตนด์บาย”
ด้วยนโยบาย “ตรวจเร็ว พบเร็ว รักษาเร็ว” นี้เอง ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ จาก 1,200 คน ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2020 ลดลงเหลือไม่ถึง 100 คน ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2021
ถอดหน้ากาก ฉีดวัคซีน
หลังจากที่ได้เห็น อิสราเอล เป็นประเทศแรกของโลกที่ยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ไอซ์แลนด์ ก็เป็นชาติล่าสุด ที่ไม่ต้องใช้หน้ากากในที่กลางแจ้งรวมถึงร้านค้า แต่ยังมีการใช้เมื่อโดยสารรถสาธารณะ และสถานที่บางแห่ง เช่นเดียวกับรักษาระยะห่าง
Photo : Ronnarong Wongmahadthai
“ตอนนี้คนก็เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้วครับ อย่างการนั่งในร้านอาหาร , คอนเสิร์ต หรือ อีเว้นท์กีฬา” รณรงค์ เผย “แต่อีเว้นท์กีฬาภายในประเทศยังมีการจำกัดผู้ชมอยู่ ในฟุตบอลลีกคือไม่เกิน 300 คน ห้ามนั่งติดกันเกิน 3 คน และยังต้องใส่หน้ากาก ส่วนการซ้อมก็ยังต้องมีรักษาระยะห่าง 2 เมตร”
ขณะที่การฉีดวัคซีน ไอซ์แลนด์ได้เริ่มฉีดตั้งแต่ 29 ธันวาคม 2020 โดยมีการฉีดไปแล้วกว่า 250,000 โดส และมีคนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไปกว่า 90,000 คน ซึ่ง รณรงค์ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา
“ผมได้ฉีดก่อนเพื่อนร่วมทีมเสียอีกครับ ได้ฉีดพร้อมกับกลุ่มผู้สูงอายุเลย น่าจะเป็นเพราะผมมีโรคประจำตัวด้วยครับ เป็นโลหิตจาง” รณรงค์ อธิบาย
Photo : Ronnarong Wongmahadthai
“ที่นี่มีวัคซีนเกือบทุกยี่ห้อเลยครับ แต่ไม่มียี่ห้อ ซิโนแวค เท่าที่รู้นะ ส่วนผมได้ฉีด แอสตราเซเนกา ก่อนได้ไปฉีด ผมได้รับข้อความจากมือถือแจ้งมาครับ ให้ไปฉีดวันรุ่งขึ้น เวลาเท่านี้ คือเราไม่ต้องลงทะเบียนอะไรเลย เขามีฐานข้อมูลประชากรอยู่แล้วครับ”
“สถานที่ที่ไปฉีด คือเป็นฮอลล์ครับ เราก็นั่งรอด้านนอก ไม่เกิน 20 นาที ก็ได้เข้าไปฉีดเลย หลังจากฉีดไปวันนึง ก็มีอาการหนาว ๆ สั่น ๆ เหมือนจะเป็นไข้ มีอาการแบบนี้อยู่ 2-3 วัน ก็กลับมาเป็นปกติ”
เปิดประเทศ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ ด้วยเหตุนี้ COVID-19 จึงมีผลต่อ ไอซ์แลนด์ เป็นอย่างมาก
และจากการที่สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น เราจึงได้เห็น ไอซ์แลนด์ เป็นชาติต้น ๆ ของโลก ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว
ซึ่งต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก สหภาพยุโรป หรือ องค์การอนามัยโลก หรือต้องเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อ COVID-19 มาก่อนหน้า ตามระเบียบที่หัวหน้าฝ่ายระบาดวิทยาของไอซ์แลนด์กำหนด
และในเดือนมิถุนายน จะมีการยกเลิกการห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศในลิสต์กลุ่มเสี่ยง และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ แต่ต้องมีผลตรวจเชื้อโควิด 2 ครั้ง (ก่อนเข้าประเทศและหลังจากกักตัว) และมีการกักตัว 5 วันเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อยู่ในไอซ์แลนด์นั้น ยังไม่สามารถบินออกนอกประเทศในลิสต์กลุ่มเสี่ยง หากไม่มีเหตุอันควร
“ผมไม่ได้กลับไทยมาปีกว่าแล้วครับ” รณรงค์ กล่าว
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และโซเชียลมีเดีย ทำให้คนที่อยู่ต่างประเทศ ไม่รู้สึกห่างไกลเหมือนเมื่อก่อน แต่สุดท้าย การได้เจอหน้าค่าตา มีช่วงเวลาร่วมกัน ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหวังว่าเมื่อสถานการณ์ทั่วโลกดีขึ้น เราจะได้กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกครั้ง