ย้ายประเทศ : “ตุรกีคือบ้าน แต่ฉันอยากมีชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ”

Home » ย้ายประเทศ : “ตุรกีคือบ้าน แต่ฉันอยากมีชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ”


ย้ายประเทศ : “ตุรกีคือบ้าน แต่ฉันอยากมีชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ”

“ฉันอยากอยู่ที่นี่ต่อเพราะมันคือบ้าน แต่ก็อยากไปจากที่นี่เพราะฝันอยากใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์” แบร์นา อักเดนนิซ นักศึกษาปริญญาเอกวัย 28 ปีจากกรุงอังการา กล่าว

แบร์นา เป็นคนหูหนวกและต้องพึ่ง​​ประสาทหูเทียม (cochlear implant) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยินสามารถได้ยินเสียงได้

แต่ภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์นำเข้าในช่วงหลัง ๆ มานี้ทำให้เธอกังวลว่าจะไม่ได้ยินอีกต่อไป

ย้ายประเทศ : “ตุรกีคือบ้าน แต่ฉันอยากมีชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ”

BERNA AKDENIZ
แบร์นา เป็นคนหูหนวกและต้องพึ่ง​​ประสาทหูเทียม

“ผู้จัดซื้อประสาทหูเทียมประกาศว่าตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2022 เป็นต้นไป พวกเขาจะไม่สามารถนำเข้าผลิตภัณฑ์ได้แล้วเพราะภาวะเงินเฟ้อและอัตราการแลกเปลี่ยนเงินลีราทำให้พวกเขาไม่สามารถทำกำไรได้ พวกเขากำลังจะเจรจากับหน่วยงานรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจ”

“แล้วถ้าพวกเขาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ล่ะ” แบร์นา กล่าว “แค่คิดถึงความเป็นไปได้ก็ทำให้ฉันกลัวแล้ว”

จะอยู่หรือจะไป ชาวตุรกีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มครุ่นคิดเรื่องนี้

เศรษฐกิจตุรกีกำลังแย่ อัตราเงินเฟ้อประจำปีสูงที่สุดในรอบ 19 ปี ขณะที่ราคาสินค้าข้าวของต่าง ๆ สูงขึ้น 36% ในเดือน ธ.ค.

นอกจากนี้ ค่าเงินลีรายังอ่อนค่าลงอย่างหนักด้วยโดยมีค่าน้อยลงถึงครึ่งหนึ่งภายในช่วงเวลาหนึ่งปี

ขณะที่ครอบครัวที่ยากจนกำลังประสบความยากลำบาก ชนชั้นกลางในประเทศก็กำลังได้รับผลกระทบเช่นกัน

  • ไม่สนค่าเงินร่วง เงินเฟ้อพุ่ง ผู้นำตุรกีชูดอกเบี้ยต่ำหนุนส่งออก
  • เหตุใดภาครัฐ-ประชาชนตุรกี พร้อมใจช่วยแมวจรจัดช่วงวิกฤตโควิด-19
  • ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” : “คนรู้สึกว่าชีวิตที่นี่มันไม่โอเคแล้ว”

Getty Images
ผลสำรวจที่ทำขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2020 พบว่า คนรุ่นใหม่ถึง 76% บอกว่าพร้อมที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศหากได้รับโอกาสชั่วคราว

ฉันอยากได้ความมั่นคง

บนโซเชียลมีเดีย มีคนพูดคุยถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าการย้ายประเทศมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง

แบร์นา ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องนี้แต่ก็อยากจะย้ายไปอยู่ที่ยุโรปมาก

“ฉันอยากได้ความมั่นคง” เธอกล่าว “ฉันอยากได้รับการการันตีว่าฉันจะสามารถได้ยินได้”

เธอเป็นส่วนหนึ่งของคนรุ่นใหม่ชาวตุรกีที่มาจากชนชั้นกลาง มีการศึกษาดี และคิดจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

นี่แตกต่างจากหลายทศวรรษที่ผ่านมามากที่ผู้อพยพชาวตุรกีมักเป็นคนที่มาจากพื้นที่ห่างไกลในประเทศและไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาดี ๆ

ฮารูน แยมัน ชายวัย 28 ปี จากเมืองกาซีอันเตป ทางตอนใต้ของตุรกี วางแผนจะย้ายไปไอร์แลนด์ เขาจบปริญญาด้านโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวิทยุ ตั้งแต่ปี 2018 แต่หางานสายที่เรียนมาไม่ได้เลย

ตอนนี้เขาทำงานที่คลังสินค้าของบริษัทด้านสิ่งทอแห่งหนึ่ง เขาฝันที่จะย้ายไปไอร์แลนด์ผ่านโครงการทำงานพร้อมเรียน (Work and Study)

“ผมไม่เห็นความหวังหรือแสงสว่างจากอนาคตของประเทศนี้ นี่คือเหตุผลที่ผมอยากจะไป”

การสมัครโครงการดังกล่าวต้องใช้ค่าใช้จ่ายซึ่งเขาก็เก็บเงินได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่ตอนนี้ต้องใช้เวลาเก็บเงินเพิ่มเนื่องจากค่าเงินลีราที่ผันผวนทำให้เสียแผน

“ผมไม่มีสังคมเลยที่นี่ ผมทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน วิกฤตค่าเงินลดอำนาจในการซื้อของเรา เรามีปัญหาหลายอย่างมาก นโยบายผิด ๆ ของรัฐบาลทำให้คนทั้งยากจนและก็แตกแยกกัน”

มากกว่า 70% ฝันมีชีวิตเมืองนอก

จากตัวเลขทางการ คนที่อยากย้ายออกจากตุรกีมีอายุระหว่าง 25-29 ปี

สถาบันสถิติแห่งชาติเลื่อนเวลาที่จะเผยแพร่ตัวเลขผู้อพยพในปี 2020 จากกำหนดเดิมในเดือน ก.ย. ปี 2021 ออกไป

ตัวเลขล่าสุดจากปี 2019 ชี้ว่ามีคนมากกว่า 3.3 แสนคนอพยพไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ เพิ่มจากปีก่อนหน้าขึ้นมา 2 % โดยคาดว่าตัวเลขล่าสุดก็จะยังสะท้อนแนวโน้มลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง

ผลสำรวจที่ทำขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2020 โดยมหาวิทยาลัยเยดิเตเป และบริษัทวิเคราะห์ MAK Consultancy พบว่า คนรุ่นใหม่ถึง 76% บอกว่าพร้อมที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศหากได้รับโอกาสชั่วคราว มีคนถึง 64% บอกว่าพร้อมที่จะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นอย่างถาวรถ้าได้รับสัญชาติจากชาตินั้น

เศรษฐกิจตุรกีกำลังแย่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ เพราะวิกฤตการระบาดใหญ่ แต่เลวร้ายเข้าไปใหญ่จากวิกฤตค่าเงินในช่วงหลัง ๆ มานี้

แต่ อิบราฮีม เซียเคจี ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพย้ายถิ่นซึ่งอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร บอกว่า ปัจจัยด้านสังคมและการเมืองก็มีส่วนสำคัญด้วย

“นี่เป็นคลื่นการย้ายถิ่นระลอกใหม่จากตุรกีอย่างแน่นอน” เขาบอกบีบีซี

Getty Images

ตามหาอิสรภาพ

“คนจำนวนมากในสังคมหมดหวังกับอนาคตเพราะรู้สึกว่าถูกตัดขาดจากอำนาจทางการเมือง คนเหล่านี้มีตั้งแต่เจ้าของกิจการ ผู้ทำธุรกิจ ศิลปิน และนักวิชาการ”

นอกจากนี้ ผู้วิพากษ์วิจารณ์ยังกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ทั้งกดขี่และกำจัดเสรีในการแสดงออกของประชาชน

มีชาวตุรกีขอลี้ภัยในประเทศยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อมูลโดย Eurostat ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสถิติของสหภาพยุโรป ตัวเลขผู้ขอลี้ภัยเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2019 มีเกือบ 25,000 คน

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ตุรกีเองก็เป็นประเทศที่มีขอคนลี้ภัยเข้ามามากที่สุดในโลก โดยส่วนใหญ่แล้วมาจากซีเรีย

อย่างไรก็ดี เซียเคจี บอกว่า ตุรกีเป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี ประเทศเดียวที่ประชาชนตัวเองอพยพออกจากประเทศมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา (ยกเว้นอิรัก อัฟกานิสถาน และซีเรีย) ซึ่งเขาบอกว่านี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่

ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพย้ายถิ่นผู้นี้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น การลี้ภัยต่อต้านประธานาธิบดีแอร์โดอัน “ผู้คนพยายามหลีกหนีจากคณะผู้ปกครองและระบบการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและความมั่นคงทางสังคม เวแดต อิลกีน เคยพูดถึงเรื่องนี้ในการสัมมนาเมื่อเดือน ต.ค. ว่า

“ความรู้สึกกระตือรือล้นอยากไปต่างประเทศมีมากกว่าในหมู่คนหนุ่มสาว นั่นเป็นความปรารถนาโดยธรรมชาติ พวกเขาอยากจะรู้จักโลกให้มากขึ้น”

แต่นักศึกษาระดับปริญญาเอกอย่าง แบร์นา อักเดนนิซ บอกว่า การตัดสินใจเรื่องนี้เป็นเรื่องยากเย็นสำหรับเธอ

เธอฝันอยากจะสร้างครอบครัว และส่วนหนึ่งของความฝันนั้นคือการได้กลับมายังตุรกี

“ฉันอยากให้ลูก ๆ ฉันเติบโตในบ้านเกิดฉัน พวกเขาควรได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติในตุรกี”

……………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ