ทหารรับจ้าง (Mercenary) คือ บุคคลที่เข้าร่วมในการรบ ต่อสู้ด้วยอาวุธโดยที่ไม่ได้เป็นประชาชนของชาติที่เป็นคู่ขัดแย้งเลย แต่เข้าร่วมรบโดยมีเงินค่าตอบแทนที่จะได้รับเป็นหลักซึ่งมักจะมากกว่านายทหารผู้อยู่ระดับเดียวกันและปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพของผู้ว่าจ้างนั้น
ผู้ที่เป็นทหารอาชีพของกองทัพตามปกติไม่ถือว่าเป็นทหารรับจ้าง แม้ว่าจะได้รับเงินค่าตอบแทนก็ตาม
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าทหารรับจ้างเป็นผู้ที่มีอาชีพสู้รบเพื่อเงินตอบแทน คำว่า “ทหารรับจ้าง” จึงเป็นคำที่มีความหมายเป็นนัยยะในทางลบเพราะเป็นทำการรบเพื่อเงินมิใช่เพื่อชาติ ซึ่งทหารรับจ้างเหล่านี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติต่อเยี่ยงทหารเมื่อถูกจับเป็นเชลยภายใต้กฎของสงคราม (Laws of war) ตามอนุสัญญากรุงเจนีวา ฉบับที่สาม ค.ศ. 1949
แต่ก็มีทหาร 2 หน่วยคือ กองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส (French Foreign Legion) และกองทหารกูรข่า (Brigade of Gurkhas) ของอังกฤษที่ไม่ถือว่าเป็นทหารรับจ้างภายใต้กฎของสงคราม แม้ว่าลักษณะของทหารทั้ง 2 พวกนี้จะตรงกับคำนิยามของการเป็นทหารรับจ้างมากที่สุด แต่ก็ได้รับการยกเว้นภายใต้ข้อ 47 ข้อย่อย (a), (c), (d),(e) และ (f) ของพิธีสารเพิ่มเติมอนุสัญญากรุงเจนีวา ฉบับที่สาม ค.ศ. 1949 แต่จะอย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักเรียกทหารทั้ง 2 หน่วยนี้ว่า “ทหารรับจ้าง” อยู่ดี
สำหรับกรณีที่ตำรวจเฮติจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยชายชาวเฮติ ที่เป็นหนึ่งในผู้บงการลอบสังหารประธานาธิบดีโฌเวแนล โมอิส ของเฮติ คือ นายคริสเตียน เอ็มมานูแอล ซานง วัย 63 ปีที่เดินทางมายังเฮติด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวในช่วงต้นเดือน มิ.ย. พร้อมทีมรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นทหารรับจ้างชาวโคลอมเบีย 26 คนและชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติ 2 คนโดยมีการกล่าวหาว่านายคริสเตียน เอ็มมานูแอล ซานง ต้องการเข้ารับช่วงเป็นผู้นำเฮติต่อจากประธานาธิบดีโมอิส
หนึ่งในกลุ่มทหารรับจ้างที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ได้ติดต่อนายซานงในขณะที่ถูกควบคุมตัว และนายซานงได้ติดต่อผู้บงการการลอบสังหารประธานาธิบดีโมอิสอีก 2 คน
ผู้บัญชาการตำรวจเฮติเผยด้วยว่า เดิมทีมคนร้ายมีหน้าที่เพียงรักษาความปลอดภัยให้นายซานง แต่ถูกเปลี่ยนหน้าที่ในภายหลัง และได้รับมอบหมายให้จับตัวประธานาธิบดีโมอิส ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดนายซานงจึงต้องการโค่นล้มผู้นำเฮติ
เรื่องการใช้กองกำลังทหารรับจ้างเพื่อพยายามทำรัฐประหารหรือยึดอำนาจประเทศเล็กๆ ได้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วแต่ครั้งที่โด่งดังที่สุดก็คือเมื่อที่ เซอร์ มาร์ค แธตเชอร์ ลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรีมากาเร็ต แธตเชอร์ (นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษระหว่างปี 2522-2533) พยายามที่จะทำรัฐประหารที่ประเทศสาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินีในปี 2547 โดยใช้ทหารรับจ้างชาวแอฟริกาใต้ซึ่งในอดีตเคยเป็นทหารประจำการในกองทัพแอฟริกาใต้จำนวน 32 กองพัน นำโดยนายไซมอน แมนน์ อดีตนายทหารอังกฤษแห่งหน่วยสเปเชียลแอร์เซอร์วิส (SAS) คือทหารประเภทหน่วยรบพิเศษเหมือนทหารป่าหวายของไทยนั่นแหละ
NICOLAS ASFOURI / AFP
ประเทศอิเควทอเรียลกินีเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีพื้นที่ 28,051 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 6.6 แสนคนตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ตอนกลางของทวีปแอฟริกาทิศเหนือติดกับแคเมอรูน ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับกาบองทิศตะวันตกติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณอ่าวกินีมีเมืองหลวงชื่อกรุงมาลาโบซึ่งตั้งอยู่บนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติคชื่อเกาะไบโอโก ใช้ภาษาสเปนและภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ
ประเทศอิเควทอเรียลกินีนี้ร่ำรวยด้วยน้ำมันดิบที่บริษัทโมบิลของสหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้ค้นพบน้ำมันเมื่อปี 2537 และได้สัมปทานผูกขาดเพียงเจ้าเดียว ซึ่งวัตถุประสงค์ของเซอร์ มาร์ค แธตเชอร์ ก็คือ ต้องการสัมปทานน้ำมันด้วยการโค่นล้มรัฐบาลของอิเควทอเรียลกินีแล้วตั้งรัฐบาลหุ่นขึ้นใหม่เพื่อโอนสัมปทานการขุดเจาะน้ำมันจากบริษัทโมบิลของสหรัฐอเมริกามาให้ เซอร์ มาร์ค แธตเชอร์นั่นเอง
ครับ! แผนการและการตระเตรียมการของเซอร์ มาร์ค แธตเชอร์ นั้นทางการสหรัฐอเมริกาสืบทราบมาโดยตลอดจึงบอกให้ทางรัฐบาลของประเทศแอฟริกาใต้และรัฐบาลของอิเควทอเรียลกินีจึงทำการจับกุมได้หมดทั้งแก๊งก่อนการลงมือปฏิบัติการทำรัฐประหารได้โดยละม่อม
ปรากฎว่ามีการใช้เส้นสายของแม่เซอร์ มาร์ค แธตเชอร์และทั้งทางการแอฟริกาใต้ก็ไม่อยากทำให้เป็นเรื่องใหญ่จึงตัดสินลงโทษจำคุกเซอร์ มาร์ค แธตเชอร์ 4 ปีแต่ให้รอการลงอาญาและปรับเป็นเงิน 560,000 ดอลลาร์อเมริกัน เท่านั้นเอง