ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ถูกจับตามองอีกครั้งเมื่อวันพุธ (20 ก.ย.) เมื่อศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตและห้ามดำรงตำแหน่งการเมืองใดๆ อีกเลย โดยอ้างว่าฝ่าฝืนหลักจริยธรรม จากการโพสต์พาดพิงสถาบันกษัตริย์
แต่นักการเมืองอายุ 35 ปีคนนี้ ไม่ได้ถูกจับตามองครั้งนี้เป็นครั้งแรกๆ แต่ ช่อ พรรณิการ์ ได้รับความสนใจตลอดมาตั้งแต่ก่อนเข้ามาทำงานการเมืองด้วยซ้ำ เพราะสมัยที่ยังทำอาชีพด้านสื่อมวลชนก็เป็นดาวรุ่งอีกคนที่โดดเด่นของวงการ
ดีวาสาวฝีปากแซ่บ
หากย้อนกลับไปราว 10 ปีก่อน นางสาวพรรณิการ์เริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นพิธีกรรายการ Divas Café (ดีวาส์ คาเฟ่) ทางวอยซ์ทีวี ร่วมกับ แขก-ลักขณา ปันวิชัย และ โบว์-ณัฎฐา มหัธนา ที่วิจารณ์ข่าวและให้ความเห็นกันอย่างออกรสออกชาติ โดยเฉพาะประเด็นสังคม การเมือง และต่างประเทศ
หลังรัฐประหารปี 2557 เสรีภาพของสื่อมวลชนตกต่ำลงสู่ภาวะย่ำแย่มากอีกครั้ง การวิจารณ์การเมืองผ่านหน้าจอโทรทัศน์ค่อนข้างจำกัด นางสาวพรรณิการ์เล่าในรายการป๋าเต็ดทอล์คของ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม ที่เผยแพร่ผ่านยูทูบเมื่อปี 2565 ว่าขณะที่ตนทำงานอยู่นั้น ก็มีทหารถือปืนมายืนต่อหน้าเพื่อปรามไม่ให้พูดในสิ่งที่เป็นผลเสียต่อคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อยากเปลี่ยนเส้นทางชีวิต
“มันเหลือเชื่อมากว่าเราอ่านอยู่ในสตูดิโอแล้วมันมีทหารมาถือปืนอยู่ในสตูดิโอได้ยังไงอะ อยู่ในคอนโทรลรูมอย่างเงี้ย มันเป็นไปได้ยังไง คือ เราอยู่ในโซมาเลียเหรอ หรือเราอยู่ในแบบ… เซาท์ซูดาน หรือเราอยู่ในอะไรอะ ประเทศเหล่านี้ช่อเอ่ยไปยังรัฐประหารน้อยกว่าประเทศไทยนะคะ” ช่อ พรรณิการ์ กล่าว
“ตอนนั้นมันคือจุด ขอใช้คำหยาบๆ นะคะว่า จุดบัดซบของชีวิตจริง แล้วเรา… เป็นช่วงเวลาที่ถามตัวเองเยอะมากว่ากามิกาเซ่ดีมั้ย เราสวนแม่*เลย เราจัดรายการ ไมค์อยู่ที่เรา รายการออกอากาศสด”
“ถ้าเราทำแบบเนี้ยเราทำได้ one time ครั้งเดียว แล้วเราจะจบ ไมค์เราจะถูกปิดไปตลอดกาล แล้วเราจะทำคนอีกร้อยกว่าชีวิตตกงาน มันไม่ปล่อยเราแน่ๆ แต่ถ้าเราไม่ทำ แล้วเราเป็นสื่อทำไม”
โดนสกัดดาวรุ่งตั้งแต่แจ้งเกิดในสภาฯ
แต่จุดนั้นเองก็ทำให้นางสาวพรรณิการ์เข้าสู่วงการการเมือง หลังจากได้รับการทาบทามจากนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เข้าร่วมพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งขณะนั้นชื่อพรรคยังไม่ได้ถูกตั้งเลยด้วยซ้ำ
การตัดสินใจดังกล่าวทำให้นางสาวพรรณิการ์ได้ลงรับสมัครเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งลีลาการหาเสียงของนักการเมืองรายนี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะไม่เพียงแต่ปราศรัยได้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันและเข้าใจง่าย แต่ยังมีลูกเล่นด้วยการสวมชุดพื้นเมืองให้สอดคล้องกับท้องถิ่นที่ลงพื้นที่
ปรากฏการณ์อนาคตใหม่ ที่สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการกลายเป็นพรรคอันดับ 3 ของประเทศ ที่กวาด สส. ไปถึง 81 คน ทั้งที่ลงแข่งขันครั้งแรก ทำให้นางสาวพรรณิการ์ได้เข้าสภาฯ ไปด้วย แต่เหตุนี้กลับถูกท้าทายจากบรรดา สส. หลายสมัยบางคน จนถูกประท้วงอย่างหนักในการลุกขึ้นพูดครั้งแรก ที่ตนพยายามหารือให้ประธานสภาฯ เปิดโอกาสให้แคนดิเดตชิงรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคอนาคตใหม่ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์
การแต่งตัวที่โดดเด่นของนางสาวพรรณิการ์กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อสวมสูทตัวนอกแบบไล่สีจากสีขาวไปหาสีดำของยี่ห้อดังไปร่วมประชุมสภาฯ จนมี สส. ฝ่ายรัฐบาลและ สว. ท้วงติงถึงความเหมาะสม หนึ่งในนั้น คือ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. จ.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ และมีการเรียกนางสาวพรรณิการ์ด้วยคำว่า “อี” ขึ้นต้น
ประเด็นเรื่องชุดของนางสาวพรรณิการ์ยังลามไปถึงวงการบันเทิงด้วย หลังจากมีผู้ใช้อินสตาแกรมคนหนึ่งโพสต์รูปที่มีข้อความขู่ว่าจะทำร้ายนักการเมืองรายนี้ ก่อนที่อดีตนักร้องดัง ทาทา ยัง จะเข้าไปคอมเมนต์ฝากทำร้ายนางสาวพรรณิการ์ ซึ่งกรณีนี้อดีตนักร้องดังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากสังคม
ยุบอนาคตใหม่ โทษแบน 10 ปี
อย่างไรก็ตาม เส้นทางทางการเมืองของนางสาวพรรณิการ์ก็มาพบกับอุปสรรคครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองระยะเวลา 10 ปี ซึ่งขณะนั้นเกิดขึ้นก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้นางสาวพรรณิการ์ต้องอภิปรายประเด็นการทุจริต 1MBD (วันเอ็มดีบี) นอกสภาฯ
การตัดสิทธิทางการเมืองดังกล่าว ทำให้นางสาวพรรณิการ์เบนเข็มอีกครั้งไปทำงานการเมืองท้องถิ่นในนามคณะก้าวหน้า ที่ตนไปร่วมหาเสียงให้กับบรรดานักการเมืองที่กลุ่มส่งลงแข่งขัน ทั้งสนาม อบจ. เทศบาล และ อบต. แม้ถูกมองว่าประสบความสำเร็จไม่มากก็ตาม
คัมแบ็กครั้งใหญ่ เขย่าเลือกตั้ง 66
เมื่อใกล้ถึงการเลือกตั้งปี 2566 หลายฝ่ายมองว่าพรรคก้าวไกล ที่สืบทอดอุดมการณ์จากพรรคอนาคตใหม่ ถูกพรรคเพื่อไทยบดบังรัศมีอย่างหนัก จากการเปิดตัวนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับนโยบายหลายอย่างที่เรียกเสียงฮือฮาจากประชาชน เช่น ขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทภายในปี 2570 ทั้งยังถูกกติกาแบบบัตร 2 ใบลดความได้เปรียบลง
นางสาวพรรณิการ์ก็กลับมาอีกครั้งในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต. และช่วยสมาชิกการเมืองนี้ขึ้นเวทีดีเบต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสพรรคก้าวไกลกลับมาอีกครั้ง
หลายคนประทับใจการดีเบตของนักการเมืองรายนี้มาก เช่น เวทีดีเบตของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งที่ จ.นครราชสีมา ที่นางสาวพรรณิการ์กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ว่าไม่ได้ขาดองค์ความรู้หรืองบประมาณอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเพราะไทยไม่ยอมกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากพอ ทั้งยังกล่าวถึง อ.เมืองยาง ที่แม้แต่ชาว จ.นครราชสีมา เอง ก็ยังมีหลายคนที่ไม่รู้จักอำเภอนี้
“ปัญหาภัยแล้งไม่ได้แก้ที่นโยบายชลประทานค่ะอาจารย์ ถ้าแก้ด้วยนโยบายชลประทาน แก้จบไปตั้งแต่ 70 ปีที่แล้วแล้ว แก้จบไปตั้งแต่ 100 ปีที่แล้วแล้ว” นางสาวพรรณิการ์ กล่าว
“ทั้งประเทศนี้แหล่งทำนา แหล่งเกษตรกรรม ที่เข้าถึงชลประทานมีแค่ 23% ความฝันอันสูงสุดของกรมชลประทานที่กรุงเทพฯ คือ ในปี 2580 อีก 15 ปีข้างหน้าจะทำชลประทานให้ครอบคลุม 40% ของไร่นาของพี่น้องประชาชนคนไทย ถ้าเป็นแบบนี้อีก 10 ชาติก็แล้งเหมือนเดิม”
“นี่ไม่ใช่ปัญหาที่กรมชลประทานไม่เก่ง นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เราไม่มีนโยบายชลประทานที่ดี แต่เป็นปัญหาของการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เราไปทุกที่ในอีสาน ในภาคเหนือ ในภาคใต้ ไม่มีชาวบ้านที่ไหนไม่รู้ว่าคลองไหนต้องขุด คลองไส้ไก่ไหนต้องลอกต้องทำต่อ บ่อไหนต้องขุดเพิ่ม ตรงไหนต้องลอก ทุกที่รู้หมด แต่พูดเหมือนพี่เทวัญค่ะ ‘บ่มีงบประมาณ’ ไม่มีงบประมาณ หรือว่าคลองนี้เป็นของกรมชลฯ ผมเป็น อบต. ขุดไม่ได้ การแก้ปัญหาที่เป็นหัวใจของพี่น้องเกษตรกรในภาคอีสาน แก้ภัยแล้งไม่ได้แก้ด้วยการขุดลอกคลอง แต่แก้ด้วยการกระจายงบประมาณและอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด”