ย้อนดูต้นกำเนิด "อมรินทร์กรุ๊ป" หลัง "อุทกะพันธุ์" เทขายหุ้นให้ "เจ้าสัวเจริญ"

Home » ย้อนดูต้นกำเนิด "อมรินทร์กรุ๊ป" หลัง "อุทกะพันธุ์" เทขายหุ้นให้ "เจ้าสัวเจริญ"

กลายเป็นข่าวช็อกวงการหนังสือไทย เมื่อผู้บริหารบริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ตัดสินใจเทขายหุ้นทั้งหมดให้กับให้กับ “เจ้าสัวเจริญ” ซึ่งส่งผลให้ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอมรินทร์กรุ๊ป โดยอมรินทร์ถือเป็นเจ้าใหญ่ในวงการธุรกิจโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์นิตยสารชื่อดังหลายฉบับ เช่น บ้านและสวน ชีวจิต และแพรว เป็นต้น

Sanook พาย้อนดูต้นกำเนิดสำนักพิมพ์ “อมรินทร์” ที่เริ่มต้นจากเงินของขวัญวันแต่งงาน สู่การเป็นอาณาจักรของคนรักการอ่านในทุกวันนี้

ด้วยสองมือของ “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์”

ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ เริ่มต้นกองบรรณาธิการเล็กๆ ด้วยเงิน 50,000 บาท ที่ได้รับเป็นของขวัญแต่งงาน โดยเขาได้รวบรวมเพื่อนพ้องและพนักงานไม่กี่คน ร่วมกันตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดบ้านและสวน เพื่อทำนิตยสาร “บ้านและสวน” ฉบับแรกออกมาวางจำหน่ายในเดือนกันยายน พ.ศ.2519 ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องการออกแบบและตกแต่งบ้านกับสวน รวมถึงเรื่องราวรอบบ้าน เกร็ดความรู้ ความเคลื่อนไหวในวงการตกแต่งบ้าน ไปจนถึงงานอดิเรกและงานศิลปะ 

Amarin Group

ต่อมาชูเกียรติได้ก่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้น ชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรินทร์การพิมพ์” เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารของตัวเอง และรับจ้างงานพิมพ์อื่นๆ ด้วย จนทำให้กิจการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เกิดเป็นผลงานอื่นตามมาอีกมากมาย กระทั่งในปี พ.ศ.2536 อมรินทร์การพิมพ์ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)” 

กำเนิด “ร้านหนังสือนายอินทร์”

ชูเกียรติตัดสินใจเปิดร้านหนังสือเพื่อต่อยอดธุรกิจสำนักพิมพ์อมรินทร์ หลังจากที่สำนักพิมพ์ดำเนินธุรกิจมาในระยะเวลาหนึ่ง โดยใช้ชื่อว่า “ร้านหนังสือนายอินทร์” ซึ่งเป็นชื่อจากหนังสือเรื่อง “นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ” หนังสือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

Amarin Book

ร้านหนังสือนายอินทร์สาขาแรก คือสาขาท่าพระจันทร์ เปิดให้บริการในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2537 

นอกจากเป็นร้านจำหน่ายหนังสือแล้ว ร้านนายอินทร์ยังเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดประกวด “รางวัลนายอินทร์อะวอร์ด” จัดประกวดผลงานประเภทเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และนวนิยาย 

ผู้นำด้านสื่อนิตยสารไลฟ์สไตล์

เมื่อผู้อ่านขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีความหลากหลายมากขึ้น บริษัทอมรินทร์จึงเริ่มผลิตนิตยสารอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน ถือเป็นผู้นำด้านสื่อนิตยสารไลฟ์สไตล์ของประเทศ โดยนิตยสารของอมรินทร์ครอบคลุมเรื่องบ้านและการตกแต่ง แฟชั่น สุขภาพ และครอบครัว 

ปัจจุบัน อมรินทร์มีนิตยสารทั้งสิ้น 6 หัว ได้แก่ นิตยสารบ้านและสวน, room, แพรว, แพรว Wedding, ชีวจิต, และ National Geographic ฉบับภาษาไทย 

มีเดียครบวงจร

อมรินทร์ก้าวสู่การเป็น “มีเดียครบวงจร (omni – media)” ประกอบด้วยธุรกิจผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจรับจ้างจัดงาน และธุรกิจโทรทัศน์ อย่าง “อมรินทร์ทีวี” นับได้ว่าอมรินทร์ถือเป็น “อันดับ 1” ของสื่อครบวงจรในประเทศไทย

Amarin Group

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงการลาออกของผู้บริหาร 3 คน ได้แก่ เมตตา อุทกะพันธุ์, ระริน อุทกะพันธุ์, และโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ หลังจากวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ระรินได้ทำการขายหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ของฐาปน สิริวัฒนภักดี ผู้บริหารไทยเบฟ และปณต สิริวัฒนภักดี ผู้บริหารเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี) รวมมูลค่า 761 ล้านบาท

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ