ย้อนรอย มติคณะรัฐมนตรี รัฐบาล “ประยุทธ์” แก้อหิวาต์หมู (ASF) 4 ครั้ง อนุมัติแล้วกว่า 996 ล้านบาท รวมครั้งนี้อีก 574 ล้าน ทั้งหมด กว่า 1.5 พันล้าน!
วานนี้ (11 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีปัญหาของ “หมูแพง” ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม และ อนุมัติงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไปแล้ว 5 ครั้ง กว่า 996,909,200 บาท โดย ครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2562 , ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 และล่าสุดคือ ครั้งที่ 5 วานนี้ (11 ม.ค.) ที่ ครม.อนุมัติงบกลางฯ ปี 2565 วงเงิน 574 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับรายละเอียดทั้งหมด ของทั้ง 4 ครั้ง ก่อนหน้า มีดังนี้
ครั้งที่ 1 : วันที่ 9 เมษายน 2562 : ครม.มีมติอนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย เป็น “วาระแห่งชาติ” ดังนี้
1. เห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สำหรับงบประมาณในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเร่งด่วน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 53,604,900 บาท เห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ดำเนินการตามนัยระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2560 รวมถึงขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นตามแผนดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและรัดกุม รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรให้เร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้เร่งการสื่อสารกับประชาชนและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และควรมีการจัดทำรายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่ายในแต่ละมาตรการเพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งติดตามประเมินผลและตรวจสอบการดำเนินงานได้
นอกจากนี้ ควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อไวรัสของทั้งบุคคลและยานพาหนะที่เข้ามาในประเทศไทย และการลักลอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรตามแนวชายแดน รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดความตระหนักถึงการระบาดของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกา ซึ่งจะเป็นมาตรการเฝ้าระวังที่สำคัญ
ตลอดจนมีมาตรการยกระดับการจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรในการป้องกันโรค โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีการเลี้ยงแบบเปิด ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
ครั้งที่ 2 : วันที่ 24 มีนาคม 2563 : ครม.มีมติอนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาค์แอฟริกาในสุกร จำนวน 523,244,500 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้
1. ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 13 (4) ประมาณ 77,578 ตัว เป็นเงิน 381,772,500 บาท
2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค ตรวจวินิจฉัยและทำลายเชื้อโรค/ซากสัตว์ ได้แก่ ค่าจ้างเหมาในการขนส่งและขุดหลุมฝังกลบทำลายซาก ค่าจ้างเหมาบริการช่วยงานสัตวแพทย์ และค่าวัสดุเวชภัณฑ์/วัสดุวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ เป็นเงิน 99,852,000 บาท โดยให้ถัวจ่ายกันได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
3. จัดซื้อครุภัณฑ์ รวม 4 รายการ เป็นเงิน 41,620,000 บาท ได้แก่ , เครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมในสภาพจริงแบบเคลื่อนที่ จำนวน 7 ชุด ชุดละ 400,000 บาท เป็นเงิน 2,800,000 บาท , เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิชนิดเคลื่อนที่แบบอินฟราเรด (Thermal Imaging System) จำนวน 108 เครื่อง เครื่องละ 40,000 บาท เป็นเงิน 4,320,000 บาท , รถขนซากสัตว์ติดเชื้อระบบปิด จำนวน 3 คัน คันละ 7,900,000 บาท เป็นเงิน 23,700,000 บาท , รถสามล้อพ่นยาฆ่าเชื้อ จำนวน 27 คัน คันละ 400,000 บาท เป็นเงิน 10,800,000 บาท
4. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์) เร่งรัดการดำเนินการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์
ครั้งที่ 3 : วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.อนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวนเงิน 279,782,374 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมปศุสัตว์) รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรมีมาตรการยกระดับการจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรให้ได้มาตรฐานในการป้องกันโรค เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรในการรับมือกับโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีการเลี้ยงแบบเปิดที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ และอาจเป็นพาหะในการแพร่กระจายเชื้อโรคไปในวงกว้างได้ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ครั้งที่ 4 : วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 : ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า จำนวน 140,277,426 บาท เพื่อดำเนินการ
1.ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ประกอบด่วย ค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2564 จำนวนเงิน 93,772,226 บาท และ 2.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเฝ้าระวังโรคตรวจวินิจฉัยและทำลายเชื้อโรค หรือ ซากสัตว์ จำนวนเงิน 46,505,200 บาท
แต่ ทว่างบประมาณ กว่า 996 ล้านบาท ทั้ง 4 ครั้ง ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหา “หมูแพง” ได้ จนกระทั่ง วานนี้ (11 ม.ค.) รัฐบาล ได้อนุมัติงบประมาณอีกครั้งเป็น ครั้งที่ 5 ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเป็นการอนุมัติงบกลางฯ ปี 2565 วงเงิน 574 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร