สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรต่างส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปช่วยยูเครนที่กำลังอยู่ในสถานะคับขัน เพราะมีกองทหารของรัสเซียมาจ่ออยู่ที่ชายแดนประมาณ 1 แสนนาย
นอกจากนี้ สมาชิกชาติอื่น ๆ ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ก็ส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ไปเตรียมพร้อมช่วยยูเครน แต่ปรากฏว่ามีชาติยิ่งใหญ่อีกชาติหนึ่งที่เป็นสมาชิกนาโต้ ปฏิเสธไม่ร่วมส่งอาวุธไปช่วยยูเครนนั่นก็คือ เยอรมนี
ท่าทีเช่นนี้ทำให้พันธมิตรหลายชาติเคืองและตั้งคำถามว่าทำไมชาติที่ทรงอิทธิพลที่สุดชาติหนึ่งของยุโรปถึงทำอย่างนี้
คำตอบเบื้องต้นก็คือ รัฐบาลเยอรมนีเป็นห่วงว่าการส่งอาวุธไปหนุนยูเครนแบบนี้ มีแต่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น และทำให้การเจรจากับรัสเซียลำบากยิ่งขึ้น
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมากองทัพเยอรมนีนั้นแทบจะไม่เข้าร่วมในปฏิบัติการทางทหารในความขัดแย้งใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะร่วมก็จะเป็นเรื่องของการไปช่วยรักษาสันติภาพ แต่ก็มีกรณียกเว้นอยู่บ้าง เช่นตอนที่ร่วมกับนาโตส่งทหารไปช่วยยูโกสลาเวียรบกับเซอร์เบียในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลเยอรมนีลังเลอยู่นานกว่าจะตัดสินใจ หรือที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ตอนส่งทหารไปอัฟกานิสถานหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งปัจจุบันถอนกำลังออกมาหมดแล้ว
การที่เยอรมนีมีนโยบายต่างประเทศแบบนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั่นก็คือสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พรรคนาซี เยอรมนี ภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ได้ชื่อว่าเป็นวายร้าย และนับจนถึงปัจจุบันนี้ หากเอ่ยถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนส่วนใหญ่ก็จะนึงถึง นาซี ฮิตเลอร์ และความโหดร้าย ภาพพจน์เหล่านี้คือสิ่งที่เยอรมนีไม่ต้องการให้คงอยู่ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศใด ๆ นับตั้งแต่นั้นมา ดูจะละมุนละม่อม นำเสนอภาพลักษณ์ชาติที่รักสันติ
ทว่าภายใต้ภาพลักษณ์ของชาติที่ยึดหลักอหิงสา ก็มีอะไรที่ขัดแย้งอยู่เหมือนกัน เยอรมนีนั้นเป็นประเทศผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับสหรัฐฯ และรัสเซีย อาวุธที่เยอรมนีส่งออกนั้นมีข้อจำกัดที่เข้มงวดว่าจะส่งไปที่ไหน แต่ถึงอย่างนั้นรัฐบาลเยอรมนี แม้แต่ในยุคของนางแองเกลา แมร์เคิล ก็เคยถูกกล่าวหาไม่ยึดหลักการและนโยบาย ที่กำหนดมายาวนานก็คือจะไม่ส่งอาวุธไปในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เพราะนั่นจะทำให้โหมกระพือความขัดแย้งมากกว่าจะแก้ไขให้ยุติ
โทมาส ไคลเนอ บร็อคฮอฟฟ์ แห่งสถาบันจีเอ็มเอฟ (German Marshall Fund) บอกว่าเมื่อไม่นานมานี้เยอรมนีเขวไปจากหลักการที่มายาวนาน อย่างตอนที่ส่งอาวุธไปช่วยนักรบเพชเมอร์กาสู้กับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลามในตอนเหนือของอิรัก
แต่กรณีของยูเครนและรัสเซียนั้นต่างกัน นาซีเยอรมนีเคยเข่นฆ่าทั้งชาวยูเครนและรัสเซีย ซึ่งตอนนั้นคือสหภาพโซเวียตไปหลายล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่เยอรมนีเองจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการที่เยอรมนีจะส่งอาวุธไปยังดินแดนที่ตัวเองเคยทำให้กลายเป็นสภาพแผ่นดินเลือดนั้นเป็นสิ่งที่ในทางการเมืองแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะตัดสินใจทำ
ในเยอรมนีนั้น ผลสำรวจประจำปีพบว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าการเจรจาทางการทูตเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นหากส่งอาวุธไปในดินแดนที่มีความขัดแย้ง คนส่วนใหญ่คงรับไม่ได้และนั่นก็ส่งผลทางการเมือง
จะว่าไปแล้วความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนตอนนี้ก็เป็นบททดสอบรัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนี ซึ่งตอนนี้ผู้นำคนใหม่คือนายโอลาฟ ชอลซ์ ที่อาจจะเคยคิดว่าการแก้ปัญหาโควิดในช่วงที่ผ่านมายากแล้ว ตอนนี้เจออะไรที่หนักกว่า เพราะพันธมิตรระหว่างประเทศกดดันให้เขาขับเคลื่อนประเทศไปในแนวสายเหยี่ยวมากขึ้นกว่าเดิม
รัฐบาลเยอรมนีตอนนี้เป็นรัฐบาลผสมระหว่าง 3 พรรค คือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคกรีน และพรรคเสรีประชาธิปไตย เพิ่งเข้ามาทำหน้าที่เมื่อปลายปี 2021 ประกาศนโยบายต่างประเทศที่คำนึงถึงคุณค่าสำคัญ ๆ รวมทั้งรับปากว่าจะควบคุมการส่งออกอาวุธให้เข้มงวดขึ้น
ผู้นำเยอรมนีตอนนี้ไม่ยอมทำตามเสียงเรียกร้องแม้แต่จากคนในรัฐบาลเองที่ต้องการให้ส่งอาวุธไปช่วยยูเครน เพราะไม่เชื่อว่าจะทำให้วิกฤตที่เกิดอยู่ตอนนี้ยุติลง ดังนั้นสิ่งที่เขาทำคือออกเงินสร้างโรงพยาบาลสนาม และรับจะรักษาทหารที่บาดเจ็บในเยอรมนี กับส่งหมวกนิรภัย 5,000 ใบไปให้ยูเครน
เยอรมนีเห็นว่าการช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนนั้นดีกว่าช่วยเรื่องอาวุธ แต่ความช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ยูเครนถูกรุกรานอีก และอาวุธร้ายแรงที่สุดที่จะมอบให้ยูเครนได้ก็คือทำให้ชาติสมาชิกนาโต อียู และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้งเจ็ดหรือ G 7 แสดงจุดยืนร่วมกันว่าถ้ารัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อไหร่ก็จะเจอดีแน่
รัฐบาลเยอรมนีตั้งแต่ยุคของนางแองเกลา แมร์เคิล เน้นแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่ชักชวนให้ทั้งยูเครน และรัสเซีย มาเจรจากัน
ในมุมของเยอรมนีนั้นมองตัวเองเป็นประเทศผู้ไกล่เกลี่ย พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูต ดังนั้นจะให้ส่งอาวุธไปช่วยยูเครนก็ไม่น่าจะเหมาะสม และเยอรมนีเองก็คงต้องการอยู่ในสถานะผู้ไกล่เกลี่ยมากกว่า เพราะบริษัทเยอรมันหลายพันบริษัททำธุรกิจในรัสเซีย คนเยอรมันจำนวนมากรวมทั้งนางแองเกลา แมร์เคิล เคยเติบโตมาหลังม่านเหล็ก เรียนภาษารัสเซียที่โรงเรียนในอดีตเยอรมนีตะวันออก นางแมร์เคิล คุยภาษารัสเซียกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย อย่างคล่องแคล่ว ขณะที่ผู้นำโลกคนอื่นทำไม่ได้ นั่นก็เป็นเพราะทั้งนายปูติน และนางแมร์เคิล มีประสบการณ์ร่วมกันคือเคยอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์มาก่อน
ตอนนี้เยอรมนีถูกกดดันให้ระงับโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 2 ที่ทำไว้กับรัสเซีย ท่อส่งก๊าซนี้บริษัทของฝรั่งเศสก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งก๊าซ แต่ถ้าเริ่มเมื่อไหร่ก็ได้เห็นก๊าซส่งจากรัสเซียผ่านเยอรมนี ไปยังประเทศในยุโรป ผู้นำเยอรมนียังไม่ระงับโครงการนี้ตามที่มีเสียงเรียกร้องให้ทำเพื่อตอบโต้รัสเซีย ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหาว่าเยอรมนีนั้นเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเอง
ยังไงก็ตามผู้นำเยอรมนีบอกว่าหากรัสเซียบุกยูเครนเมื่อไหร่ เรื่องท่อส่งก๊าซก็เป็นหมากอีกอย่างหนึ่งที่เยอรมนีจะเอามาใช้ต่อรอง แต่นายชอลซ์ก็ไม่ได้แสดงท่าทีแข็งขันมากนัก
ตอนนี้นายวลาดิเมียร์ ปูติน กำลังทดสอบความอดทนอดกลั้นของทั้งชาติตะวันตก และเยอรมนีที่ถูกเรียกร้องให้แสดงบทบาททางทหารในเวทีโลกให้มากขึ้น แต่เยอรมนีนั้นรู้ดีว่าหากตัดสินใจเลือกทางเดินผิดจะส่งผลเสียหายร้ายแรงแค่ไหน
……………………………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว