ยูเครนฟ้องศาลโลก ขอคุ้มครองชั่วคราว ส่วนรัสเซียบอยคอตตามฟอร์ม
ยูเครนฟ้องศาลโลก – วันที่ 7 มี.ค. รอยเตอร์รายงานว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ ที่นครเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดศาลรับฟังคำร้องขอเป็นกรณีฉุกเฉินจากทางการยูเครน ขอให้มีคำสั่งมาตรการชั่วคราว เพื่อยุติการสู้รบที่กำลังเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการรุกรานของรัสเซีย
PRESS RELEASE: the hearing on the request for provisional measures of Ukraine in the case concerning Allegations of Genocide under the Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide (#Ukraine v. #Russia) concluded before the #ICJ https://t.co/KMipERg29N pic.twitter.com/O9lH1prVKV
— CIJ_ICJ (@CIJ_ICJ) March 7, 2022
คณะผู้แทนที่เดินทางไปให้การต่อศาลโลก ระบุว่า ทางการรัสเซียอ้างว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน ซึ่งไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ศาลแสดงความเสียใจที่ทางการรัสเซียไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมกระบวนการรับฟัง
นายแอนตัน โคริเนวิช หนึ่งในคณะผู้แทนยูเครน กล่าวว่า การไม่มาปรากฎตัวต่อศาลโลกในกระบวนการตามกฎหมายสากลของทางการรัสเซียนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนชัดเจน ว่าทางการรัสเซียนั้นเลือกที่จะอยู่ในสนามรบเพื่อรุกรานยูเครนต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายรัสเซียจะไม่ได้มาเข้าร่วมกระบวนการรับฟังของศาลโลก แต่จะไม่ส่งผลต่อรูปคดี และคณะผู้พิพากษาศาลโลกยืนยันว่าจะดำเนินการเร่งรัดการพิจารณาคดีให้เร็วที่สุด
รายงานระบุว่า คำสั่งของศาลโลกนั้นถือว่ามีผลผูกพันตามข้อบังคับสากลต่อบรรดาชาติผู้ลงนามและให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม แม้ทั้งรัสเซียและยูเครนจะไม่ใช่ชาติสมาชิกธรรมนูญดังกล่าว แต่บัญญัติข้อที่ 12 ของธรรมนูญ อนุญาตให้ชาติกลุ่มนี้เลือกรับเขตอำนาจของศาลได้
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เคยให้เหตุผลถึง “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ไว้ว่ามีความจำเป็นเพื่อหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยูเครน และปกป้องกลุ่มคนชายขอบ (กลุ่มชาวยูเครนที่ใช้ภาษารัสเซีย) ที่ถูกทางการยูเครนกดขี่ข่มเหง
ขณะเดียวกันนั้นกองกำลังติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซียก็สู้รบต่อต้านทางการยูเครนและครอบครองแคว้นโดเนตสก์และลูฮานสก์ทางตะวันออกของประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 15,000 ราย ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ทางการรัสเซียส่งกำลังทหารเข้ายึดครองแคว้นไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนทางใต้ของยูเครน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิ่งที่ทางการยูเครนร้องขอต่อศาลโลก ได้แก่
1. ให้รัสเซียระงับปฏิบัติการทางทหารชั่วคราวทันที
2. ให้รัสเซียสั่งกองทัพรัสเซียและกองกำลังติดอาวุธอื่นทั้งหมดให้ยุติปฏิบัติการทางทหาร
3. ให้ทางการรัสเซียหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ความขัดแย้งซับซ้อนมากขึ้น
4. ให้ทางการรัสเซียจัดทำรายงานต่อศาลเพื่อแจ้งถึงมาตรการที่ได้ดำเนินการตามคำสั่งศาล ภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ภายหลังศาลมีคำสั่ง
ทั้งนี้ ผู้แทนยูเครนที่ขึ้นกล่าวต่อศาลนั้นยกตัวอย่างคดีในอดีตหลายคดีที่นำมาเป็นบรรทัดฐานในการร้องขอมาตรการชั่วคราว
ในจำนวนนี้ มีกรณีคดีปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งศาลโลกเคยมีคำสั่งให้กำลังทหารทั้งสองชาติถอนกำลัง และหลีกเลี่ยงการคงกำลัง ในเขตปลอดทหารที่ศาลกำหนดขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงภารกิจที่มีเป้าหมายต่อพื้นที่ดังกล่าว เมื่อปี 2554