ยูยิตสู ประสบความสำเร็จสูงสุดในศึก “เวิลด์เกมส์ 2022” เดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องในศึกชิงแชมป์โลกที่ยูเออี ปลายปีนี้ พร้อมขยายความนิยมในวงกว้างเพื่อความฝันได้แข่งในโอลิมปิกเกมส์
การแข่งขันมหกรรมกีฬา “เวิลด์เกมส์ 2022” ที่ เมืองเบอร์มิ่งแฮม รัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา จัดการแข่งขันวันที่ 7-17 กรกฏาคม 2565 โดยกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ได้ให้การสนับสนุนการเข้าร่วมการแข่งขันของนักกีฬา และสนับสนุนการถ่ายทอดสด การทำประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกระแสผ่าน การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เข้าร่วมแข่งขันใน “เวิลด์เกมส์ 2022” จำนวน 9 ชนิดกีฬา ได้แก่ กีฬาทางอากาศ, ยูยิตสู, เปตอง, ซูโม่, บิลเลียดสปอร์ต, มวยไทย, วูซู, เอ็กซ์ตรีม และ ฟลอร์บอล รวมนักกีฬาทั้งสิ้น 32 คน สถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬาช่อง T Sports 7 ถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขัน โดยทัพนักกีฬาไทยทำผลงานได้ 4 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ได้อันดับที่ 18 ซึ่งเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 อาเซียน
สำหรับกีฬายูยิตสู เป็นกีฬาที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของทัพนักกีฬาไทยใน “เวิลด์เกมส์ 2022” ทำได้ 2 เหรียญทองจาก กัญจุฑา ภัทรบุญซ่อน (ไฟท์ติ้ง รุ่น 48 กก.หญิง), วราวุฒิ แสงศรีเรือง – ลลิตา ยืนนาน (โชว์ศิลปะการป้องกันตัว คู่ผสม) และ 2 เหรียญเงินจาก กัญจุฑา ภัทรบุญซ่อน (เนวาซ่า รุ่น 48 กก.หญิง), อรภา เสนาธรรม (ไฟท์ติ้ง รุ่น 63 กก.หญิง)
ผศ.ชาญชัย สุขสุวรรณ์ นายกสมาคมกีฬายูยิตสูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องขอบคุณการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่สนับสนุนยูยิตสูไทยจนประสบความสำเร็จใน “เวิลด์เกมส์ 2022” ซึ่งสมาคมฯ ก็จะต้องเดินหน้าต่อทันที โดยในปีนี้ยังมีการแข่งขันรายการสำคัญคือ ศึกยูยิตสูชิงแชมป์โลก ช่วงวันที่ 11-19 พฤศจิกายน 2565 ที่อาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังจะมีการจัดการแข่งขันเก็บคะแนนอย่างน้อย 4 สนามในระดับยุวชน เยาวชน และประชาชนชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจะเริ่มในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
นายกสมาคมกีฬายูยิตสูแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ยูยิตสู เป็นกีฬาที่ขยายความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย นักกีฬาเทควันโด, คาราเต้, มวยปล้ำ หรือ ยูโด สามารถเล่นยูยิตสูได้หมด สมาคมฯนั้นหยุดการพัฒนาไม่ได้ เพราะชาติต่าง ๆ ทั่วโลกได้สร้างนักกีฬาขึ้นมามากมายและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยในประเทศไทยนั้น สมาคมฯ พยายามเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ไปในวงกว้าง ซึ่งจะเห็นภาพชัดจากการแข่งขันยูยิตสูชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งล่าสุด ก็มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วมแข่งขันกว่า 2,000 คน นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้จัดทำหลักสูตรกีฬายูยิตสูเพื่อเผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วประเทศที่ให้ความสนใจอีกด้วย
“ในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาตินั้น มีกีฬายูยิตสูบรรจุแข่งขันแทบทั้งหมดแล้ว ทั้งในซีเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชี่ยนอินดอร์-มาเชียลอาร์ทเกมส์ ไปจนถึงยูธโอลิมปิกเกมส์ สำหรับกีฬาโอลิมปิกเกมส์นั้น ก็มีความพยายามผลักดันเช่นเดียวกัน ซึ่งในหมวดกีฬาศิลปะการต่อสู้ที่มีความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยูยิตสูอาจจะต้องใช้เวลาอีก 6-8 ปี เพื่อให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากลพิจารณา” ผศ.ชาญชัย กล่าว