ยุโรปเร่งรับมือ – เอเอฟพี รายงานว่ามลพิษทางอากาศทำให้มียอดผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรใน ทวีปยุโรป นั้นสูงกว่า 1,200 คนต่อปี สร้างความหวาดหวั่นว่าอาจเกิดกระทบต่ออนาคตของชาติ
แม้จะมีการปรับปรุงและแก้ปัญหาคุณภาพอากาศ แต่ระดับมลพิษในหลายประเทศในยุโรปยังคงเพิ่มขึ้นสูงกว่าเกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลก (WHO) โดยเฉพาะในแถบยุโรปตอนกลาง-ตะวันออก และอิตาลี
สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป (EEA) กล่าวว่ามลพิษทางอากาศยังคงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถึง 1,200 คนต่อปี และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรัง
หลังทำการศึกษาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจยุโรปมากกว่า 30 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ แต่ไม่ครอบคลุมประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างรัสเซีย ยูเครน และสหราชอาณาจักร ซึ่งบ่งชี้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมของทวีปนี้อาจสูงกว่าที่เป็นอยู่
อีอีเอประกาศเมื่อเดือนพ.ย.2565 ว่ามีประชากร 238,000 คน เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศในทวีปยุโรป รวมถึงประเทศไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกี และยังเผยว่ามลพิษทางอากาศทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 1,200 รายต่อปี และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเมื่อออายุมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานมุ่งเน้นไปที่เด็กโดยเฉพาะ แม้ว่าจำนวนของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในทวีปยุโรปต่อปี แต่การเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อยแสดงถึงการสูญเสียศักยภาพในอนาคตและมาพร้อมกับปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ทั้งในวัยเด็กและเมื่ออายุมากขึ้น
และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ทางการหันมาใส่ใจกับการปรับปรุงคุณภาพรอบๆ โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬา และการการขนส่งมวลชน เนื่องจากเชื่อว่าภายหลังการคลอดบุตร มลภาวะทางอากาศโดยรอบจะเป็นตัวการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดปัญหาสุขภาพมากมาย เช่น โรคหอบหืด การลดการทำงานของปอด การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และอาการแพ้
คุณภาพอากาศที่แย่ทำให้อาการของโรคเรื้อรัง อย่างโรคหอบหืดรุนแรงขึ้น ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่เด็กและวัยรุ่นในยุโรปถึงร้อยละ 9 รวมทั้งสร้างความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังเมื่ออายุมากขึ้นอีกด้วย ในปี 2564 ประชากรในเขตเมืองร้อยละ 97 สัมผัสกับอากาศที่ไม่เป็นไปตามคำแนะนำของ WHO ตามตัวเลขที่เผยแพร่
อีอีเอได้เน้นย้ำเมื่อปีที่ผ่านมาว่าสหภาพยุโรปกำลังดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลงร้อยละ 50 ภายในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับปี 2548 ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 (พ.ศ.2533-2542) ฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกือบ 1 ล้านรายต่อปีใน 27 ประเทศซึ่งลดลงเหลือ 431,000 จากปี 2548 สถานการณ์ในยุโรปดูดีขึ้นกว่าหลายๆ ทวีปทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกกล่าวโทษว่ามลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 7 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี เกือบเท่าๆ กับการสูบบุหรี่หรือการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผู้เสียชีวิตหลายแสนคนคือเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และยุโรปใช้เวลานานถึงเดือนก.ย. 2564 ในการบรรลุข้อตกลงการจำกัดสารก่อมลพิษที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2548
ส่วนประเทศไทยที่เผชิญกับหมอกควันพิษปกคลุมทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 2.4 ล้านคนเนื่องจากปัญหาที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศตั้งแต่ต้นปี ฝุ่นละอองขนาดเล็กส่วนใหญ่มาจากรถยนต์และรถบรรทุกซึ่งสามารถเข้าลึกสู่ปอดได้ ถือเป็นมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงที่สุด รองลงมาคือไนโตรเจนไดออกไซด์และโอโซน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เยอรมันฟ้องรัฐบาลปมมลพิษพุ่ง ละเมิดสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาด