ยุซรอ มัรดีนีย์ : เงือกสาวที่ว่ายน้ำ 3 ชั่วโมงเพื่อผลักเรืออพยพซีเรียถึงชายฝั่ง

Home » ยุซรอ มัรดีนีย์ : เงือกสาวที่ว่ายน้ำ 3 ชั่วโมงเพื่อผลักเรืออพยพซีเรียถึงชายฝั่ง
ยุซรอ มัรดีนีย์ : เงือกสาวที่ว่ายน้ำ 3 ชั่วโมงเพื่อผลักเรืออพยพซีเรียถึงชายฝั่ง

กระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ” ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่กับกรณีนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผู้ผลัดถิ่นจำนวนมากที่หันหลังให้บ้านเกิด เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ

หนึ่งในผู้อพยพที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ ยุซรอ มัรดีนีย์ นักกีฬาว่ายน้ำสาวซีเรีย ที่ว่ายน้ำหนีความตายเป็นเวากว่า 3 ชั่วโมง กลางทะเลลึก เพื่อหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในยุโรป

เรื่องราวของเธอสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนทั่วโลก เพราะไม่เพียงแค่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระทึกขวัญ ยุซรอ มัรดีนีย์ ยังเดินทางสู่โอลิมปิก เกมส์ 2016 ในฐานะนักกีฬาจากทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก

 

Photo : IOC 

ยุซรอ มัรดีนีย์ เกิดและเติบโตที่เขตดาร์รายา กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ชีวิตของเธอดำเนินอย่างปกติ กระทั่งปี 2011 เมื่อกระแสการปฏิวัติในตะวันออกกลาง หรืออาหรับสปริง เดินทางมาสู่ซีเรีย ผู้คนจำนวนมากลุกฮือ เพื่อต่อต้านประธานาธิบดีบะชาร อัล อะซัด ผู้นำเผด็จการ (แต่ก็มาจากการเลือกตั้ง) ของประเทศ

ความขัดแย้งในครั้งนั้นนำมาสู่สงครามกลางเมืองซีเรีย ซึ่งดำเนินยาวนานกว่าสิบปี และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 แสนคน ความเดือดร้อนแพร่กระจายทุกย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่เขตดาร์รายา บ้านเกิดของยุซรอ

หลังเกิดการปะทะครั้งใหญ่ระหว่างกองกำลังรัฐบาล และฝ่ายกบฎ ในปี 2012 ทั้งเมืองได้รับความเสียหายจากสงคราม ผู้บริสุทธ์นับร้อยเสียชีวิต ส่วนคนที่รอดตายต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก โดยปราศจากที่อยู่อาศัย และมีเพียงซุปต้มใบไม้เป็นอาหารประทังชีวิต

Photo : IOC

 

ชีวิตของยุซรอเปลี่ยนไปนับแต่นั้น เธอใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงจากเสียงระเบิด และกระสุนปืน แม้จะย้ายไปพักอาศัยในพื้นที่ปลอดภัยของเมือง แต่ยุซรอไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต เพราะสิ่งที่รักมากที่สุด “การว่ายน้ำ” ถูกพรากไปจากชีวิตของเธอ

ยุซรอหัดว่ายน้ำตั้งแต่จำความได้ จากการที่พ่อของเธอเคยเป็นนักว่ายน้ำมาก่อน แม้ตอนแรกจะไม่ชอบใจ แต่เวลาผ่านไปก็กลายเป็นความรัก เธอไม่เคยจากสระจนกระทั่งสงครามกลางเมืองเกิดขึ้น เป็นเวลาสองปีที่เธอถูกตัดขาดจากสิ่งที่รัก เงือกสาวเปี่ยมความฝันกลายเป็นคนหมดไฟ และใช้ชีวิตไปวัน ๆ ยุซรอเกลียดที่ชีวิตตัวเองเป็นแบบนี้ เธอเปิดใจกับครอบครัวถึงความต้องการจะย้ายประเทศ เพื่อกลับมาว่ายน้ำอีกครั้ง

พ่อแม่คัดค้านความต้องการของยุซรอแบบหัวชนฝา เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สมาชิกทั้ง 5 คนของครอบครัว จะอยู่ด้วยกัน หากตัดสินใจลี้ภัย แต่ท้ายที่สุด ทุกคนก็ยอมฟังข้อเสนอของเธอ หลังยุซรอประกาศว่า “หากต้องตาย ฉันขอตายในชุดว่ายน้ำ”

Photo : Deutschland.de 

หน้าร้อน ปี 2015 เธอและพี่สาว ซาราห์ มัรดีนีย์ โดยสารเครื่องบินออกจากประเทศซีเรีย พวกเธอผ่านเขตแดนเลบานอน และลงจอดที่ตุรกี เธอพบกับแก๊งลักลอบขนคนเข้าเมืองที่นั่น และนั่งรอในป่า โดยปราศจากอาหารเป็นเวลาสี่วัน ในใจภาวนาให้เงินที่จ่ายไป แปรเปลี่ยนเป็นเรือข้ามฝั่งสู่ประเทศกรีซ ดั่งใจหวัง

 

“สัจจะมีอยู่จริงในหมู่โจร” คือสิ่งที่ยุซรอเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ แก๊งลักลอบขนคนเข้าเมืองกลับมาพร้อมกับเรือลำเล็ก ที่ควรบรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน แต่ยุซรอและพี่สาวกลับเดินทางสู่ประเทศกรีซ พร้อมกับผู้อพยบชาวซีเรียอีก 18 คน

ยี่สิบชีวิตเดินทางผ่านทะเลอีเจียน โดยไม่รู้จุดหมายเบื้องหน้า พวกเขาควรใช้เวลาร่วมกันบนพื้นน้ำแค่ 45 นาที แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น เครื่องยนต์ของเรือดับลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้คนเริ่มตื่นตระหนก และกรีดร้อง ขณะที่เรือจมลงอย่างช้า ๆ

Photo : IOC 

ยุซรอ, พี่สาวของเธอ และผู้หญิงอีกคน ตัดสินใจกระโดดลงน้ำ และใช้เชือกผูกเรือเข้ากับตนเอง ทั้งสามดันเรือไปข้างหน้าด้วยแรงทั้งหมดที่มี ไม่นานนัก เรือที่กำลังจะจมน้ำจึงออกเดินทางอีกครั้ง

สามชั่วโมงครึ่ง คือช่วงเวลาที่ยุซรอลอยคออยู่เหนือน้ำ เพื่อช่วยเหลือทุกชีวิตบนเรือให้รอดพ้นจากหายนะ ก่อนที่เรือของผู้อพยพชาวซีเรียสามารถขึ้นฝั่งที่เกาะลากอส ประเทศกรีซ ในที่สุด

 

การเดินทางอันยากลำบากของยุซรอควรจบลงเพียงแค่นี้ แต่ความเกลียดชังที่ชาวยุโรปมีต่อผู้ลี้ภัยมุสลิม ฝังรากลึกในหลายประเทศ เธอไม่ได้รับการต้อนรับจากชาวกรีซ และถูกทอดทิ้งไว้ที่สถานีรถไฟกลางกรุงบูดาเปสต์ หลังประเทศฮังการีออกนโยบายปิดรับผู้ลี้ภัย

Photo : Twitter @YusraMardini 

ยุซรอ เดินทางไปอีกสามประเทศ ได้แก่ มาซิโดเนีย (มาซิโดเนียเหนือ ในปัจจุบัน), เซอร์เบีย และออสเตรีย ก่อนสิ้นสุดการเดินทาง ที่แคมป์ผู้อพยพที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะนักว่ายน้ำได้อีกครั้ง

หญิงสาววัย 18 ปี ที่เคยหมดไฟกลับมามีความฝันอีกครั้ง นั่นคือการเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2016 ยุซรอถูกคัดเลือกเข้าสู่ทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิก หรือ Refugee Olympic Team (ROT) ซึ่งรวบรวม 10 นักกีฬาฝีมือดี แต่ไม่มีโอกาสรับใช้บ้านเกิด ให้มีโอกาสลงแข่งขันภายใต้ธงโอลิมปิกอันสูงเกียรติ

แม้จะพลาดเหรียญรางวัลจากการแข่งขัน แต่รอยยิ้มของหญิงสาวคนหนึ่งที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายมากมาย กลายเป็นแรงบันดาลใจต่อคนทั่วโลก ปี 2017 ยุซรอกลายเป็นทูตสันถวไมตรีที่อายุน้อยที่สุดของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ด้วยวัย 19 ปี

 

Photo : Firstpost 

นับจากวันนั้น ยุซรอเหมือนได้ชีวิตใหม่ หรืออาจจะพูดในอีกทางก็ได้ว่า ได้ชีวิตที่เคยใช้กลับมา … พ่อ แม่ และ ชาอิด น้องสาวของเธออีกคน ได้มาใช้ชีวิตร่วมกันพร้อมหน้ากับเธอและพี่สาวที่เยอรมัน ขณะที่ตัวยุซรอเองก็กำลังเติบโตในเส้นทางที่เธอรัก Under Armour แบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติอเมริกัน เลือกเธอเป็นพรีเซนเตอร์ และในปี 2021 นี้ เธอยืนยันแล้วว่า จะได้กลับไปลงแข่งในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอีกครั้ง ในศึก โตเกียว 2020 กับทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกเช่นเดิม

จากผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย สู่นักกีฬาโอลิมปิก เรื่องราวของ ยุซรอ มัรดีนีย์ สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ลี้ภัยทั่วโลก รวมถึงใครหลายคนที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน เพราะไม่ใครควรรู้สึกผิดต่อการจากลาบ้านเกิด เพื่อตามล่าความฝันของตัวเอง

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ