ตบเท้ายื่นหนังสือถึง ‘นายกฯ-รัฐสภา-ตรีนุช’ ดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติ คงสถานะ ‘ศธภ.-ศธจ.’
2 พฤษภาคม 2565 – หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะปกป้องศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กว่า 100 คน
นำโดย นายณัทชัย ใจเย็น ศธจ.นนทบุรี ในฐานะโฆษกคณะปกป้องศธภ.และศธจ. เดินทางมายื่นหนังสือเรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
พร้อมมอบกุหลาบให้กำลังใจ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. โดยมีนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดศธ.ในฐานะโฆษก ศธ. เป็นผู้รับเรื่องแทน
นายณัทชัย กล่าวว่า คณะทำงานปกป้อง ศธภ.และศธจ. มาให้กำลังใจรัฐมนตรีว่าการศธ. ในการผลักดัน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ให้เสร็จโดยเร็ว เพราะมองว่าพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่จะทำให้การศึกษาของชาติมีระบบและพัฒนาขึ้นไป ในส่วนของ ศธภ. และศธจ.ได้หารือร่วมกันว่าจะสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาในจังหวัดให้เข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร
ในส่วนที่คณะกรรมการธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … พิจารณาลงมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เรื่องปฎิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ด้วยนั้น พวกตนทราบข่าวและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ตนมั่นใจว่า ศธภ.และศธจ. สามารถจัดการศึกษาภายในจังหวัดให้เป็นเอกภาพและช่วยบูรณาการการศึกษาภายในจังหวัดได้อย่างดี
“คณะปกป้องศธภ.และศธจ.มีข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ดังนี้ 1.อยากให้ผลักดันพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว 2.บทบาทหน้าที่ของ ศธภ.และศธจ.ที่ยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ศธภ.ที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากส่วนกลางสู่ภาคและจังหวัด
ที่ผ่านมามีการกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ทำให้หน่วยงานในระดับพื้นที่สนองนโยบายได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการรวบรวมและรายงานข้อมูลด้านการศึกษาระดับภาคและจังหวัดไปยังส่วนกลาง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดหรือทบทวนทิศทางการดำเนินงานตามนโยบาย” นายณัทชัย กล่าว
นายณัทชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของ ศธจ. เป็นหน่วยงายที่มีความสำคัญ ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาของ ศธ. แบบเดิมในส่วนภูมิภาค จากการศึกษาในระดับพื้นที่ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกันทั้งในเชิ่งการดำเนินงานและบริหารจัดการ เนื่องจากจังหวัดหนึ่งมีสถานศึกษาทั้งในและนอกสังกัด ศธ.จำนวนมาก
ศธจ.เป็นหน่วยงานที่จะบูรณาการประสานขับเคลื่อนนโยบายการจัดการศึกษากับทุกหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นหากมีการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 จะส่งผลกระทบทำให้การดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันต้องหยุดชะงักลง ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้คณะปกป้อง ศธภ.และศจ. จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และเดินทางไปยื่นหนังสือถึง นายตวง อันธะไชย ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่รัฐสภาต่อไป
ด้านนายวีระ กล่าวว่า ตนจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.พิจารณาต่อไป ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลทาง ศธภ.และ ศธจ.อยากให้ศธ.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้เสร็จโดยเร็ว แต่มีข้อท้วงติงอยู่บ้างคือ กมธ.วิสามัญฯ ควรจะเร่งพิจารณา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้เสร็จก่อน
ส่วนโครงสร้างของ ศธ.นั้น ควรไปกำหนดในกฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เพราะหากพิจารณาเรื่องอื่นๆ ในช่วงนี้ อาจจะเกิดความขัดแย้ง และจะทำให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สะดุดได้
“มองว่าการยุบหรือไม่ยุบ ศธภ.และศธจ. ควรจะกำหนดพ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผมคิดว่า ศธภ.และศธจ.ยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะเป็นหน่วยงานที่บูรณาการงานหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดมาทำงานร่วมกัน และตั้งแต่มี ศธจ.ทำให้การทำงานระดับจังหวัดราบรื่นขึ้น” นายวีระ กล่าว