ยิ่งใหญ่อลังการ ทุนจีนทุ่ม 2.5 พันล้าน สร้างสะพานเชื่อม 3 ประเทศ ติดเชียงแสนชายแดนเชียงราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเหลี่ยมคำ ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนจีน ภายใต้ชื่อกลุ่มดอกงิ้วคำ ได้สัมปะทานพื้นที่กว่าหมื่นไร่จากรัฐบาลลาว เป็นระยะเวลา 99 ปี เพื่อพัฒนาเมืองใหม่แบบครบวงจร ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกต่างๆขึ้นมาอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงพัฒนาเส้นทางคมนาคมสนามบิน ถนนภายในโครงการและท่าเทียบเรือริมแม่น้ำโขง ล่าสุดมีรายงานว่าทางหน่วยงานภาครัฐได้เสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐของ สปป.ลาว เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อมระหว่าง 3 ประเทศบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ด้านพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
สำหรับสะพานจะเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาวจากฝั่ง สปป.ลาว-ไทย ระยะทาง 1,520 เมตร และเชื่อมต่อไปยังฝั่งประเทศเมียนมาโดยแยกตรงกลางสะพานระยะทางอีก 500 เมตร รวมความยาวทั้งหมด 2,520 เมตร เฉพาะตัวสะพานจะยาว 460 เมตร มีเสาหลักกลางน้ำ 4 เสาและยังมีเสาเชื่อมบนบก-ในน้ำอีกจำนวนหนึ่ง บนสะพานและโครงสร้าง เป็นถนน 4 ช่องจราจร กว้าง 20.50 เมตร ให้เดินรถแบบทางเดียวทางละ 2 ช่องจราจร และมีทางเดินเท้าหรือฟุตปาธฝั่งละ 2.5-3 เมตร เกาะกลางกว้าง 0.50 เมตร ซึ่งผู้คนสามารถเดินเที่ยวชมบนสะพานได้
ทั้งนี้จะมีสัญลักษณ์คือมีเสาเอกอยู่กลางสะพานเป็นรูปพระธาตุสามเหลี่ยมคล้ายมือพนมสีทอง สูง 96 เมตร กว้าง 28.50 เมตร สื่อความหมายถึงความกลมเกลียวกันด้นวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนา ใต้สะพานจะสูงสามารถแล่นเรือสินค้าลอดผ่านได้
ทั้งนี้ ได้ประเมินค่าก่อสร้างไว้ที่ 68.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะตัวสะพานกลางแม่น้ำต้องใช้งบประมาณถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งภาคเอกชนยินดีจะลงทุนให้เอง ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวกระทรวงแผนการและการลงทุน ห้องการส่งเสริมและคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ คณะคุ้มครองเขตเศรษฐกิจพิเศษ แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ได้ส่งหนังสือถึงเจ้าแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เพื่อพิจารณา แต่ทางเจ้าแขวงบ่อแก้วได้รับเรื่องแล้วเห็นว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ เกี่ยวข้องกับงานด้านต่างประเทศและชายแดน จึงได้นำเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เพื่อพิจารณาแล้ว โดยได้มีความเห็นสนับสนุนโครงการเพราะคาดว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก ยังเป็นเรื่องหารือภายในประเทศ สปป.ลาว ยังไม่ได้มีการส่งเรื่องมายังประเทศไทยหรือทางการเมียนมาแต่อย่างใด
นางเกศสุดา สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน และที่ปรึกษาหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า โดยส่วนตัวอยากให้มีสะพานแห่งนี้เกิดขึ้นจริง เพราะจะทำให้การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของพื้นที่มีความเติบโต เมืองที่จีนกำลังสร้างกำลังมีความเจริญเติบโตมีสร้างอาคารสถานบริการและประชาชนมาอาศัยหนาแน่น หากการคมนาคมสะดวกสามารถเชื่อมต่อกนได้จะส่งผลให้นักลงทุนหันมาให้ความสำคัญในการลงทุนและทำการค้าด้านเชียงแสนมากขึ้น เพราะที่ผ่านการขนส่งต้องอาศัยทางเรือเพียงอย่างเดียว ในช่วงโควิดการค้าทางเรือมีผลกระทบหลายประเทศปิด เช่นจีนจนถึงขณะนี้ยังไม่เปิด ซึ่งสะพานดังกล่าวทั้ง 3 ประเทศจะได้รับอาณิสงฆ์กันถ้วนนา เชื่อว่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย
นางเกศสุดา กล่าวด้วยว่า เมืองเชียงแสนเป็นเมืองวัฒนธรรม มีโบราณสถานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีงาม ที่ทางจีนเองเขาไม่ค่อยมี คิดว่านักท่องเที่ยวจีนหรือต่างชาติอื่นคงอยากเห็นวัฒนธรรมเหล่านี้ หากการเดินทางสะดวกเชื่อว่าจะมีชาวต่างชาติเข้ามาพักมาชมในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของเชียงแสนจะดีขึ้น ขณะเดียวกันการขนส่งและค้าขายสินค้าก็จะดีขึ้น เพราะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการสั่งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งวัสดุก่อสร้างจากฝั่งไทยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาอาศัยเพียงทางเรือด้านเดียว มูลค่าการค้าที่เชียงแสนก็มียอดถึงกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่หลังโควิด 19 จีนและลาวปิดท่าเรือทำให้การค้าซบเซาไป การเพิ่มช่องทางติดต่อก็จะมีโอกาสให้การค้าเชียงแสนฟื้นตัว และเชื่อว่าไม่กระทบยต่อทั้งการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าทางเรือเพราะเป็นคนละบริบทกัน
นางสาวอารีย์ คำผง อายุ 43 ปี ผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว อ.เชียงแสน กล่าวว่าการก่อสร้างสะพานดังกล่าวอาจกระทบธุรกิจการเดินเรือเพื่อการท่องเที่ยวบ้าง ที่อาจมีผู้ใช้บริการน้อยลง แต่อาจจะส่งผลดีต่อภาคการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวในภาพรวม ทั้งเรื่องของที่พัก ร้านค้าและร้านอาหารก็อาจจะมีลูกค้าเยอะขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การท่องเที่ยวมีความเติบโตขึ้น การท่องเที่ยวที่เชียงแสนแบ่งเป็น 2 กลุ่มกลุ่มแรกเป็นชาวต่างชาตินิยมเช่าเรือท่องเที่ยวชมบรรยากาศริมแม่น้ำโขง และอีกกลุ่มเป็นคนไทยจะนิยมนั่งเรือข้ามไปเที่ยวยังเขตเศรษฐกิจพิเศษมากกว่านักเรือเที่ยว
นายภานุวัฒน์ ศรีสุข เครือข่ายภาคประชาชน อ.เชียงแสน กล่าวว่าภาคประชาชนชาว อ.เชียงแสน ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลายคนยังกังวลในเรื่องวิถีชีวิตและหลายอาชีพอาจได้รับผลกระทบเช่นเรือรับจ้าง รถสามล้อหรือสองแถวรับส่งสินค้า แต่ก็ยังไม่มีการออกมาคัดค้านโดยส่วนใหญ่จะรอดูรายละเอียดที่แท้จริงของโครงการก่อน เพราะยังเชื่อว่าสะพานอาจทำให้เศรษฐกิจของพื้นที่ดีขึ้น อาจจะมีอาชีพใหม่ออกมาทดแทน แต่หากจะสร้างจริงก็จะต้องมีการศึกษาผลกระทบแบบรอบด้าน มองในด้านผลดี ผลเสียที่จะตามรวมถึงประโยชน์จของท้องถิ่นที่จะได้รับ ส่วนด้านความมั่นคงหรือยาเสพติดเชื่อว่าคงไม่มีปัญหาเพราะระบราชการคงมีการตั้งรับกันอยู่แล้ว ถึงวันนั้นค่อยว่ากันว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านการก่อสร้าง