ยิ่งขุดยิ่งเจอ พบแผ่นจารึกในแม่น้ำโขง ฐานพระสลักอักษร ถอดความระบุปีชัดเจน

Home » ยิ่งขุดยิ่งเจอ พบแผ่นจารึกในแม่น้ำโขง ฐานพระสลักอักษร ถอดความระบุปีชัดเจน

ยิ่งขุดยิ่งเจอ พบจารึกแผ่นใหญ่ในแม่น้ำโขง พร้อมฐานพระสลักอักษร ถอดความแล้วรู้ พ.ศ. บอกยุคสมัยชัดเจน 

จากกรณีที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว มีการขุดการค้นทางโบราณคดี ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 โดยพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุจำนวนมาก จนกระทั่งเมื่อช่วงเช้า (16 พ.ค.) เวลา 10.20 น. พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขงฝังอยู่ในทราย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบในบริเวณนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าเป็นพระประธานวัดสำคัญที่ถูกแม่น้ำโขงพัดหายไปในแม่น้ำโขง เมื่อเปรียบเทียบจากศิลปะน่าจะมีอายุราว 500-600 ปี โดยพระประธาน ฐานชุกชี และแท่นพระประธาน ก็มีความคลายคลึงกับพระประธานวัดหลายแห่ง เช่น วัดมุงเมือง วัดลานตอง วัดปงสนุก ใน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ประเด็นดังกล่าวสร้างความฮือฮาในโซเชียลทั้งฝั่งลาวและไทย มีการตั้งข้อสังเกตถึงพระพุทธรูปที่ขุดพบว่าเป็นของเก่าหรือของใหม่ เนื่องจากมีสภาพสมบูรณ์และสวยงามมาก ทั้งที่จมอยู่ใต้แม่น้ำ มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นโต้เถียงกันอย่างดุเดือด

ล่าสุด มีรายงานว่า การขุดค้นหาโบราณวัตถุยังคงดำเนินต่อไป และมีการค้นพบพระพุทธรูปเพิ่มเติมอีกหลายองค์ วันนี้ (19 พ.ค.67) เฟซบุ๊ก ขัตติยะบารมี ขัตติยะ พระคุณเจ้าที่อยู่ในทีมค้นหา ได้โพสต์ภาพแจ้งว่า มีการพบจารึกแผ่นใหญ่ และพระพุทธรูปที่มีการสลักข้อความไว้ที่ฐาน

ถอดความแผ่นจารึก

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ พิรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้อ่านถอดความจารึกดังกล่าว ระบุว่า

“สักกะ 1122 ตัว (พ.ศ. 2303) ปีกัดเหม้า เดือน 7 (เดือนเมษายน) สัทธาพระสงฆ์สังฆะเจ้าชุต๋นมีครูบาหลวงวัดสันทับหลาก วัดสังก๋าบุญ พร้อมกับ วัดคำแท่นปราสาท วัดต้องภันลานขาวสายนาย วัดบ้านไธยโสธิสอนชัย วัดคำกล๋างบ้าน วัดคว้างชุม วัดไพคำฝนเดื่อปากชน ได้อนัท(อาณัติ) พร้อมเสี้ยงกับด้วยกั๋นทังภายในภายนอกสัทธาทายะกะในเวียงเมืองเชียงแสนชุคนและมหาอุปราชโมยหว่าน นาข้ามอโรเจ้าคาม นาท่านพระยาราชเส พละกำลังชุคน ได้อุบปพาธะ(อุปัฏฐาก) ส้างยัง…เจ๋ติยะธาตุเจ้า ธุ(พระ)ต๋นบนวัดป่า 3 ต๋นชื่อว่า ทิพมละ วัดคำสักคับปล๋า…ไว้จุยามแก่พระสัพพัญญู 62 อรหันต๋านัง 24 โมคคัลลาน” โดยสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำบุญครั้งใหญ่ของเวียงเมืองเชียงแสนในอดีต อาจจะเป็นการบูรณะวัด หรือ หล่อสร้างพระเจ้า 

ขณะที่ อ.อภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์เชียงราย ได้ระบุว่า “จารึกที่พบฝั่งลาว สกราช 1122 ตัวปีกัดเหม้า (พ.ศ.2303) ยุคพม่า #วัดฅำกลางบ้าน (วัดเจดีย์หลวง ปัจจุบัน) #วัดคว้าง #วัดสังกา ฯลฯ ชื่อวัดในเมืองเชียงแสนทั้งสิ้น !!! ลงมาอีก 2 บรรทัด #สัทธาทายกในเวียงเมืองเชียงแสนชู่คน ครับ #มรดกเชียงแสน”

จึงเชื่อได้ว่า จารึกนี้เป็นของยุคเชียงแสน มีการเอ่ยถึงวัดในเมืองเชียงแสนทั้งสิ้น โดยสลักจารึกเมื่อ พ.ศ. 2303 หรือ 44 ปี ก่อนที่เชียงแสนจะแตกในปี 2347 ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่า วัดในน้ำโขงนี้จึงไม่ใช่ยุคสุวรรณโคมคำอย่างบางคนคาดเดา (สุวรรณโคมคำ เป็นตำนานอาณาจักรที่สาบสูญไปก่อนที่จะมีประเทศไทย) แต่เป็นวัดในสมัยเชียงแสน ซึ่งเมืองเชียงแสน เป็นเมืองโบราณของอาณาจักรล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 สร้างในปี พ.ศ. 1871

ถอดความอักษรสลักที่ฐานพระพุทธรูป

ข้อความบนฐานพระพุทธรูป สลักไว้ว่า เจ้าสินประหญา หล่อ แล ศักราช ได้ 866 ตัว (จุลศักราช 866 เท่ากับ พุทธศักราช 2047)

เพจ ลายเมือง Lai-Muang อธิบายเพิ่มเติมว่า เจ้าสินประหญา เป็นชื่อของพระเถระรูปหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ในจารึกและใบลานของล้านนา ซึ่งเป็นผู้สร้างใบลานเรื่อง มิลินทปัญหา ไว้กับหอไตร เมืองท่าสร้อย ในปี พ.ศ. 2038 ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นฆราวาสอยู่ และมีการกล่าวถึงอีกครั้งในจารึกวัดวิสุทธาราม เมืองพะเยา โดยญาติของท่านได้ถูกนำมาถวายเป็นข้าวัดวิสุทธาราม ในปี พ.ศ. 2049 จำนวน 4 ครอบครัว และล่าสุดจากจารึกฐานพระพุทธรูปที่พบใหม่ จากดอนเผิ้งคำ ประเทศลาว ซึ่งประเด็นถกเถียงเรื่องความเก่าแก่ของโบราณวัตถุที่พบไปหมาด ๆ มีข้อความระบุว่า เจ้าสินประหญาได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ถวายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2047

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ