ยะลาโควิดพุ่ง เตียงเต็ม บนฝั่งไม่มีที่แล้ว แก้วิกฤตเปลี่ยนแพท่องเที่ยวทำเป็น รพ.สนาม

Home » ยะลาโควิดพุ่ง เตียงเต็ม บนฝั่งไม่มีที่แล้ว แก้วิกฤตเปลี่ยนแพท่องเที่ยวทำเป็น รพ.สนาม
ยะลาโควิดพุ่ง เตียงเต็ม บนฝั่งไม่มีที่แล้ว แก้วิกฤตเปลี่ยนแพท่องเที่ยวทำเป็น รพ.สนาม

ยะลาโควิดพุ่ง เตียงเต็ม บนฝั่งไม่มีที่แล้ว แก้วิกฤตเช่าแพท่องเที่ยวทำเป็น รพ.สนาม ลอยน้ำกลางเขื่อนบางลาง

เพจเฟซบุ๊ก สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อใหม่ วันที่ 27 มิ.ย. อีกจำนวน 98 ราย  ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสม จ.ยะลา เพิ่มเป็น 1,559 ราย

ทั้งนี้ พบใน อ.เมืองสูงสุด 56 ราย อ.กาบัง อ.บันนังสตา อำเภอละ 11 ราย อ.กรงปินัง 10 ราย อ.รามัน 4 ราย อ.เบตง 3 ราย อ.ธารโต 2 ราย และ อ.ยะหา 1 ราย ในวันนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 11 ราย

ผู้เสียชีวิตอยู่ใน อ.กรงปินัง เป็นเพศหญิง อายุ 54 ปี ร่างกายพิการ มีโรคประจำตัวสำคัญหลายโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ มีไข้ หายใจเหนื่อยเข้ารับการรักษาใน รพ.กรงปินัง ตรวจพบติดเชื้อโควิด19 ปอดผิดปกติ ติดเชื้อในกระแสเลือด อาการทรุดและเสียชีวิต

ส่วนจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาใน รพ. 991 ราย รักษาหาย 557 ราย และยังมีรอผลการตรวจคัดกรองเชิงรุกอีกจำนวน 3,611 ราย

โดยล่าสุด โรงพยาบาลธารโต ใช้แพท่องเที่ยวในเขื่อนบางลางยะลา ทำโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19

นายแพทย์มัซลัน ตะเระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต จ.ยะลา ได้สำรวจพื้นที่เตรียมขอเช่าแพท่องเที่ยว ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มาจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราว สำหรับกักตัวผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว เพื่อรอสังเกตอาการอีก 7 วัน ก่อนส่งตัวกลับบ้าน

นายแพทย์มัซลัน ตะเระ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิดจังหวัดยะลามีผู้ป่วยที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้เตียงในโรงพยาบาลมีจำนวนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งการมีแนวคิดใช้แพท่องเที่ยวเป็นโรงพยาบาลสนามนั้น เป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสม ที่ไม่อยู่ใกล้ชุมชนจนเกินเกินไป แต่ก็ไม่ถึงกับห่างไกลจนเกินไป ที่สำคัญคือ บนฝั่งไม่มีสถานที่เหมาะสมแล้ว เลยมองมาในน้ำดีกว่า เพราะว่าในน้ำพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในชุมชนอยู่ในน้ำอยู่ในป่าและอีกอย่างหนึ่งก็มีแพท่องเที่ยวของชาวบ้าน พร้อมอยู่แล้วที่จะรับคนประมาณ 40 คน ในแต่ละลำ ก็คิดว่าใช้ประมาณ 20 คนในแต่ละลำก็พร้อมอยู่แล้ว เราทำเพียงแค่ขนย้ายเบาะนอน พัดลม และสิ่งสำคัญที่เราต้องทำคือเรื่องของบ่อบำบัดน้ำเสีย

นายแพทย์มัซลัน กล่าวอีกว่า การดูแลผู้ป่วยหลักๆ จะแบ่งเป็นบนฝั่งกับบนน้ำ ซึ่งบนฝั่งก็จะเป็นชุดรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นทางปกครองมีทั้ง ตชด. และมีทั้ง อส.คุมดูแลทั้งหมด ส่วนในน้ำก็จะมีกำลัง อส.เข้าเวรยามดูแล ป้องกันการหลบหนีและบนแพก็จะมีเจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เป็นทีม ER มาอยู่ที่นี่ มีทั้งพยาบาลเวชชกิจอยู่จะมาอยู่ที่นี่และถ้ามีเหตุการณ์อะไรผิดปกติก็มีกู้ชีพข้างบน พร้อมส่งที่จะนำส่งไปโรงพยาบาลโดยใช้เวลา 20 นาที ส่วนผู้ป่วยที่มาพักที่นี้คือมาให้กักตัวอย่างเดียว เพราะคนไข้ที่มาอยู่ที่นี่คือคนไข้ที่หายดีแล้ว ออกจาก รพ.สนามมาแล้วก่อนที่จะไป LQ จะเป็นรอยต่อระหว่างโรงพยาบาลสนามกับ LQ อำเภอ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ