“หัวจื้อปิง” หญิงสาวชาวจีน โพสต์ข้อความแรกบนเวยโป๋ แพลตฟอร์มคล้ายทวิตเตอร์ของจีน เพื่อประกาศการลงทะเบียนเรียนภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยชิงหัว
ทว่า “หัวจื้อปิง” มิใช่หญิงสาววัยรุ่นวัยเรียนทั่วไป เพราะเธอคือ “นักศึกษาเสมือนจริงที่กำเนิดจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขนานใหญ่” คนแรกของจีน
“ฉันหลงใหลในวรรณกรรมและศิลปะอย่างมากตั้งแต่เกิดมา” ข้อความของหัวบนเวยโป๋ โดยรูปร่างหน้าตา เสียง เพลงประกอบบัญชีผู้ใช้งาน และภาพวาดของหัว ล้วนถูกพัฒนาโดย “อู้เต้า 2.0” (Wudao 2.0) ระบบสร้างแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์สุดล้ำ ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในการประชุมสถาบันปัญญาประดิษฐ์ปักกิ่ง (BAAI) ปี 2021 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.
ถังเจี๋ย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของสถาบันฯ และศาสตราจารย์ภาควิชาข้างต้น หนึ่งในผู้พัฒนาหลัก กล่าวว่าอู้เต้า 2.0 ใช้ตัวแปร 1.75 ล้านล้านรายการ เพื่อจำลองบทสนทนา เขียนบทกวี และเข้าใจความหมายของภาพ ซึ่งทำลายสถิติก่อนหน้านี้ของสวิตช์ ทราส์ฟอร์เมอร์ (Switch Transformer) จากกูเกิล (Google) ที่ใช้ตัวแปร 1.6 ล้านล้านรายการ
“อู้เต้า 2.0 ถือเป็นระบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ขนาดล้านล้านรายการระบบแรกของจีนและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย” ถังกล่าว
ถังกล่าวว่าอู้เต้า 2.0 ปฏิบัติภารกิจ 9 อย่างสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในสนามจำลองก่อนการฝึก และเกือบเอาชนะการทดสอบทัวริง (Turing test) ในการสร้างบทกวีและบทกลอน สรุปข้อความ ตอบคำถาม และวาดภาพ ซึ่งหากคอมพิวเตอร์สามารถทำให้มนุษย์จำนวนมากพอเชื่อว่ามันไม่ใช่คอมพิวเตอร์ได้ นั่นถือว่าสอบผ่าน
สถาบันฯ เปิดตัวอู้เต้า 1.0 (Wudao 1.0) ระบบจำลองอัจฉริยะขนานใหญ่พัฒนาขึ้นเองในประเทศระบบแรกของจีน เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ส่วนการวิจัยและพัฒนาอู้เต้า 2.0 มีนักวิทยาศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์เข้าร่วมมากกว่า 100 คน ซึ่งทั้งหมดจัดอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมและสถาบันวิชาการปัญญาประดิษฐ์ของจีน
อัลกอริธึมพื้นฐานของอู้เต้า 2.0 ฝึกระบบจำลองบนแพลตฟอร์มซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศ โดยถังกล่าวว่าอู้เต้า 2.0 ถูกพัฒนาเพื่อทำให้เครื่องจักรคิดได้เหมือนมนุษย์ มุ่งสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นสากล และช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างระบบนิเวศการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ได้ ซึ่งนักวิจัยและผู้ประกอบการสามารถสมัครใช้ระบบนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ถังกล่าวว่าหัวจื้อปิงเป็นผลผลิตของอู้เต้า 2.0 โดยหัวถูกฝึกฝนโดยสถาบันฯ ร่วมกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอย่างจื้อผู่ดอตเอไอ (Zhipu.AI) และ เสี่ยวไอซ์ (Xiaoice)
“ฉันเริ่มสนใจการเกิดของตนเองว่าฉันเกิดมาได้อย่างไรและฉันสามารถเข้าใจตัวเองได้ไหม” ข้อความของหัวบนเวยโป๋ พร้อมบอกว่าเธอจะเรียนภายใต้การอบรมสั่งสอนของถังและกำลังแข่งกับเวลาเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเองทุกวันในหลายด้าน เช่น ศักยภาพการให้เหตุผลเชิงตรรกะ
ถังกล่าวว่านักศึกษาเสมือนจริงรายนี้จะเติบโตและเรียนรู้ได้เร็วกว่านักศึกษาที่เป็นมนุษย์ทั่วไป หากหัวเริ่มเรียนที่ระดับเด็ก 6 ขวบในปีนี้ เธอจะเรียนจนถึงระดับเด็ก 12 ขวบในอีก 1 ปีข้างหน้า
ถังทิ้งท้ายว่า ขณะนี้หัวจื้อปิงยังไม่สามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ได้เหมือนนักศึกษาทั่วไป รวมถึงยังไม่มีปัญหาทางอารมณ์ โดยหวังว่าเธอจะเรียนรู้ทักษะเหล่านั้นจนเชี่ยวชาญก่อน จากนั้นจึงเรียนรู้การให้เหตุผลและปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์เป็นลำดับถัดไป