สปสช.แจงยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชนระบบบัตรทอง 1 ต.ค.นี้ ไม่มีลอยแพผู้ป่วยเกือบ 7 แสนคน เพิ่มทางเลือกเทเลเมดิซีน กรณีผู้ป่วยในยังไม่ต้องย้ายออกจนกว่าจะปลอดภัย
วันที่ 17 ก.ย.65 พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. ได้ยกเลิกสัญญาบริการสาธารณสุข รพ.เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพฯ 9 แห่ง ได้แก่ รพ.มเหสักข์, รพ.บางนา 1, รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 เป็นต้นไป โดย รพ.ทั้ง 9 แห่ง ดูแลผู้มีสิทธิบัตรทอง 696,103 คน จำนวนนี้มีเพียง 62,331 คน หรือ 9% ที่ใช้สิทธิรับบริการ เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 24,058 คน
“สปสช.ได้จัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิรองรับ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา ฯลฯ พร้อม Telemedicine เป็นทางเลือก จัดหา รพ.รับส่งต่อ ประสานและจัดหน่วยบริการแห่งใหม่เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีนัดรักษาหรือติดตามอาการ” พญ.ลลิตยา กล่าว
พญ.ลลิตยา กล่าวต่อว่า กรณีผู้ป่วยในยังนอนอยู่ รพ.ทั้ง 9 แห่ง ยังรักษาต่อไปได้ จนกว่าจะปลอดภัย กรณีนัดรักษาต่อเนื่อง โรคเรื้อรังต่างๆ ที่มีนัดติดตามอาการ ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด ฯลฯ เป็นกลุ่มเร่งด่วน สปสช.ประสานและจัดหาหน่วยบริการเพื่อให้การรักษาต่อเนื่องแล้ว เบื้องต้นขอให้ติดต่อขอรับเวชระเบียนกับ รพ.ที่รักษาอยู่ สปสช.ได้ทำหนังสือถึง รพ. ทั้ง 9 แห่ง เพื่อขอข้อมูลผู้ป่วยพร้อมประวัติการรักษาเช่นกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประสานส่งต่อ และติดต่อไปยังผู้ป่วยในการแจ้งหน่วยบริการที่จะเข้ารักษารักษาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป
“หากผู้ป่วยรายใดไม่ได้รับการติดต่อจาก สปสช. ขอให้โทรมายังสายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป สำหรับผู้ป่วยไตที่มีนัดฟอกไตกับทั้ง 9 รพ.เอกชนนี้ ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม เนื่องจากการยกเลิกสัญญาไม่ได้รวมถึงบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม” พญ.ลลิตยา กล่าว
ส่วนกรณีผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องนั้น ขอให้ตรวจสอบสิทธิการรักษา ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.รพ.ทั้ง 9 แห่ง เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ ขอให้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแห่งใหม่ในเขตพื้นที่ หากไม่มีให้เลือกอย่ากังวลใจ สปสช.อยู่ระหว่างเร่งจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติม หากเกิดภาวะเจ็บป่วยยังใช้สิทธิได้ โดยเข้าหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งในระบบบัตรทอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย และ 2.รพ. 9 แห่งเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ แต่หน่วยบริการประจำ/ปฐมภูมิเป็น คลินิกเอกชนหรือศูนย์บริการสาธารณสุข เมื่อเจ็บป่วยยังรักษาเบื้องต้นตามสิทธิได้ กรณีส่งต่อ สปสช.ได้ประสานให้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ได้จัดหาเพิ่มให้ ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินใช้สิทธิรักษาเหมือนเดิมทุกประการ