วันที่ 21 มกราคม 2567 จากกรณี ครูเวรถูกทำร้าย เมื่อวันที่ (20 ม.ค. 67) ที่โรงเรียนบ้านโป่งเกลือ ม.4 ต.ดอยลาน อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ผู้บาดเจ็บคือ นางอัจราภรณ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี ครูประจำชั้น ป.2 ได้รับบาดเจ็บปากแตก มีแผลฟกซ้ำบริเวณใบหน้าและลำตัว กู้ภัยนำส่งตัวไป รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เหตุการณ์ดังกล่าวสืบเนื่องจาก ผู้บาดเจ็บได้รับหน้าที่เข้าเวรเฝ้าโรงเรียน แล้วจู่ๆ มีชายรายหนึ่งบุกเข้ามาทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ทำให้ในโซเชียลต่างเดือดพากันตั้งคำถามว่า ยกเลิกครูเวรกี่โมง
ล่าสุด ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ในเบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมาย ศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. บุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1 นักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่พร้อมทีมสหวิชาชีพ รุดลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามอาการของคุณครูที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับ สพฐ. ให้ดูแลขวัญและกำลังใจของคุณครูที่ประสบเหตุ พร้อมติดตามการดำเนินคดีและกำหนดแนวทางสร้างเสริมความปลอดภัยในสถานศึกษาให้รัดกุมมากขึ้น ซึ่งตนได้โทรศัพท์สอบถามเหตุการณ์และส่งกำลังใจให้แก่คุณครูที่ประสบเหตุด้วยตนเอง พบว่าคุณครูมีขวัญและกำลังใจที่ดี อาการปลอดภัยแล้ว
- อุกอาจ! แก๊งท่าทราย รุมทำร้ายเด็ก 13 ขู่เผาบ้าน พบสมาชิกมีอายุ 13-18 ปี
- สถานพินิจโคราช ระอุ! เยาวชน ไม่สลด ยกพวกตีกันกว่า 100 คน
- ไวรัลหดหู่ ลุงนอนกอดศพแฟน เผยความในใจที่ทำให้ต้อนหันมาสนใจคนรัก
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีว่าการศธ.ทราบถึงภาระและความกังวลใจของคุณครูทั่วประเทศที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเวรกลางวันหรือเวรกลางคืน ซึ่งเป็นไปตาม มติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้สถานที่ราชการทุกแห่งต้องจัดให้มีเวรรักษาการณ์ เพื่อดูแลและป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการ จึงได้กำหนดนโยบายลดภาระครู เพื่อให้คุณครูได้ทุ่มเทเวลาเพื่อการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ และได้สั่งการ สพฐ. ให้เสนอขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคืนอัตรานักการภารโรงกว่า 14,000 ตำแหน่ง เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีนักการภารโรงประจำ ซึ่ง สพฐ. ได้จัดทำคำขอต่อ ครม. เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่กลางเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ รอ ครม. พิจารณาอนุมัติคืนตำแหน่ง “นักการภารโรง” ซึ่งจะสามารถช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โรงเรียนได้อีกแรงหนึ่ง ขอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่หรือผู้นำชุมชน ช่วยจัดเวรยามดูแลความปลอดภัยในโรงเรียน และช่วยเฝ้าระวัง กรณีชุมชนมีบุคคลผู้เสี่ยงมีพฤติกรรมรุนแรง ซึ่ง สพฐ. ส่วนกลางได้มีหนังสือส่งถึงกระทรวงมหาดไทยให้สนับสนุนการทำงานของโรงเรียนก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ สพฐ. จะได้เร่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการจัดเวรยามและการรักษาความปลอดภัยของสถานศึกษาที่เหมาะกับบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเสริมสร้างความปลอดภัย เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ที่สร้างความสุข และความอุ่นใจให้แก่ครู นักเรียน