ม็อบชาวเทิง บุกศาลากลางเชียงราย ค้านสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จี้ตรวจสอบความโปร่งใส
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านในพื้นที่ ต.สันทรายงาม อ.เทิง จ.เชียงราย นำโดย นายอรุณ จินณรักษ์ ประธานกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ต.สันทรายงาม พร้อมแกนนำประมาณ 10 คน นำรถยนต์ประมาณ 30 คัน ชาวบ้านประมาณ 200 คน รวมตัวชูป้ายข้อความคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ในโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยโดยแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า เทศบาล ต.สันทรายงาม พร้อมเตรียมยื่นหนังสือต่อนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
นายอรุณ กล่าวว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะใช้ปริมาณขยะ 500 – 700 ตันต่อวัน ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 9.9 เมกกะวัตต์ และจะก่อสร้างในพื้นที่หมู่บ้านสันทราย หมู่ 7 ต.สันทรายงาม ซึ่งประชาชนไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะได้รับผลระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงได้รวมตัวกันต่อต้านประมาณ 2,000 คน นอกจากนี้ยังพบมีการดำเนินการยังไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมและขาดการมีส่วนร่วม
การทำประชาคมก็มีข้อน่าสังสัยหลายเรื่อง จึงมาเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย มีคำสั่งให้ ยุติโครงการทันที และถอนถอนนายกเทศมนตรี และคณะผู้บริหารเทศาล ประธานสภาเทศบาล สมาชิกสภาเทศบล (ส.ท.) ให้พ้นตำแหน่งและคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ รวมทั้งให้ดำเนินคดีตามมาตรา 157 กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และให้ย้ายนายอำเภอออกจากพื้นที่ โดยจะมีการติดตามเพื่อหาคำตอบและการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ต่อมานายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เข้ารับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายให้มารับเรื่องจากชาวบ้าน พร้อมแจ้งว่าปัจจุบันโครงการยังไม่ได้มีการก่อสร้างและเรื่องก็ยังไม่ถึงระดับจังหวัดโดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและรับฟังความเห็นประชาชนในระดับตำบลอยู่ แต่ทางจังหวัดรับปากจะติดตามอย่างใกล้ชิดทำให้กลุ่มผู้คัดค้านเข้าใจและแยกย้ายกันกลับไปรอคำตอบและยังคงมีการต่อต้านโครงการต่อไป
ด้านนายประสิทธิ์ พิลาวุฒิ นายกเทศมนตรี ต.สันทรายงาม เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวใช้เทคโนโลยีกำจัดแบบเผาตรงที่ถูกลักษณะจึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรองรับปริมาณขยะสูงสุด 500-700 ตันต่อวัน ไม่มีขยะมูลฝอยตกค้าง แก้ปัญหาขยะมูลฝอยในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 9.9 เมกกะวัตต์ และยังเป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน 100% มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท กำจัดขยะให้ 25 ปี
รูปแบบเป็นโรงงานเผาแบบปิดไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พื้นที่ของโรงงาน 30 ไร่ เป็นบ่อน้ำ 25 ไร่ พื้นที่สีเขียว 10 ไร่ และที่พักคนงานถนน อีก 15 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และจากการสำรวจพบว่าประชาชนเห็นด้วย 85.4% ซึ่งก็จะได้นำไปสรุปและจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ต่อไป ส่วนกรณีมีผู้มาคัดค้านก็จะได้จัดเสวนาและเชิญแกนนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะในเร็วๆนี้