อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เตือนพร้อมให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ กรณีโลกออนไลน์แชร์ข้อมูลอ้างว่า “นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล Yoshinori Ohsumi แนะอดอาหารรักษามะเร็ง”
โดยคำกล่าวอ้างเท็จที่ระบุว่า Yoshinori Ohsumi นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น เจ้าของรางวัลโนบาลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ในปี 2559 จากผลงานของเขาเรื่องกลไกการกินตัวเองของเซลล์ (Autophagy) แนะนำการงดอาหารเพื่อรักษาโรคมะเร็ง ถูกแชร์ออกไปนับหมื่นๆ ครั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ในหลายประเทศทั่วโลก
แม้ว่างานวิจัยของ Ohsumi นำไปสู่องค์ความเข้ารู้ใหม่เกี่ยวกับกระบวนการย่อยสลายของเซลล์ ที่สามารถนำไปสู่โรคต่างๆ เช่นโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม AFP ไม่พบหลักฐานว่าคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดมาจากงานวิจัยของ Ohsumi
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนยืนยันกับ AFP ว่าการงดอาหารไม่ช่วยรักษาโรคมะเร็ง พร้อมเตือนว่าการขาดสารอาหารเป็นภาวะที่อันตรายสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กในประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 โดยโพสต์ดังกล่าวแสดงภาพของ Yoshinori Ohsumi พร้อมคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าเจ้าของรางวัลโนเบลคนนี้ แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งงดอาหาร “เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง”
คำกล่าวอ้างเท็จนี้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เนปาล มาเลเซีย และในไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ที่ถูกแชร์นับหมื่นๆ ครั้งในโพสต์เฟซบุ๊กภาษาฝรั่งเศส
เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ Ohsumi ทำงานอยู่ บอกกับ AFP เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ว่าเขาไม่ได้พูดคำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด
AFP ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ โดยได้รับคำตอบตรงกันว่า ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งงดอาหาร Lucile Espert นักวิจัยด้าน autophagy และการติดเชื้อ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติประเทศฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ว่า “การงดอาหารเป็นครั้งคราวไม่ถือเป็นการบั่นทอนร่างกาย และอาจต้องขอบคุณกระบวนการ autophagy ด้วยที่มันไม่ถือเป็นเรื่องไม่ดี” “แต่การที่จะกล่าวว่ามันสามารถใช้เพื่อรักษาโรคนั้น เป็นเรื่องอันตราย”
Laurent Chevallier นักโภชนาการที่ปรึกษา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมงต์เปลลิเย่ร์ อธิบายกับ AFP ว่า “ในส่วนของเนื้องอกวิทยา ผู้ป่วยจะเข้าสู่ภาวะขาดสารอาหารเร็วกว่าคนปกติ” “เมื่อคุณได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มันจะทำให้สภาพ แย่ลง และถือเป็นภาวะที่อันตรายมาก”
Pierre Sonveaux ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคาธอลิก Louvain (UCLouvain) และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยมะเร็งเชิงทดลอง บอกกับ AFP ว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่ควรเปลี่ยนโภชนาการเอง
“ถ้าคุณจะเปลี่ยนแปลงโภชนาการ ควรจะต้องผ่านการปรึกษากับแพทย์มาก่อน”