“3 เกมล่าสุดที่เล่นที่นี่ พวกเรายิงไปถึง 16 ประตู … ดังนั้นวันเสาร์นี้ ผมต้องการคนมาชมเกมของเรามากกว่านี้ … ได้โปรด เราอยากได้แฟนบอลเข้าสนามเพิ่ม เพราะเราจะต้องเหนื่อยแน่”
นี่คือสิ่ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า กุนซือของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ พูดเชิงขอร้องแฟนบอลของพวกเขาให้เข้ามาชมเกมในเวลาที่ทัพเรือใบสีฟ้าเล่นเป็นทีมเหย้า และหลังจากประโยคนี้ … ซิตี้ ทำได้แค่เสมอกับ เซาธ์แฮมป์ตัน 0-0 … โดยที่ผู้ชมยังไม่เต็มความจุเหมือนเช่นเคย
อะไรทำให้สนามของ แมนฯ ซิตี้ ถูกดูแคลนครั้งนี้ มีเหตุผลอะไรที่แฟน ๆ ของพวกเขาเข้าสนามน้อยกว่าทีมใหญ่ทีมอื่น ?
ติดตามได้ที่ Main Stand
ว่ากันด้วยตัวเลขเป็นอย่างไร ?
การหาข้อเท็จจริงที่ดีที่สุดคือการใช้หลักฐานยืนยัน และหลักฐานที่ชัดเจนไม่มีอะไรมากกว่าไปตัวเลขอีกแล้ว สนามฟุตบอล “เอติฮัด สเตเดียม” หรือในชื่อเดิม “ซิตี้ ออฟ แมนเชสเตอร์ สเตเดียม” สนามแห่งนี้มีความจุทั้งหมด 55,017 คน และถือเป็นสนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ในพรีเมียร์ลีก และติดท็อป 10 สนามฟุตบอลทั่วสหราชอาณาจักร
มันเป็นพื้นฐานกับทุกสโมสรคือเมื่อเลือกใช้สนามที่ใหญ่ขึ้น ย่อมมีเหตุผลมาจากพวกเขามีฐานแฟนบอลที่เพิ่มขึ้น แล้ว ซิตี้ ล่ะ ? มีแฟนบอลเพิ่มมากขนาดไหนก่อนจะมาเริ่มใช้สนามแห่งนี้ในปี 2003
แฟนบอลของ แมนฯ ซิตี้ ได้ชื่อว่ามีฐานแฟนบอลท้องถิ่นจากแคว้น Greater Manchester จากการสำรวจของสื่อท้องถิ่นอย่าง Manchester Evening News (MEN) พบว่า แฟนบอลของ แมนฯ ซิตี้ ส่วนใหญ่ที่เป็นคนท้องถิ่นอยู่ค่อนไปทางตะวันออก กินพื้นที่เมือง สต็อกพอร์ต, เทมไซด์, และ โอลด์แฮม
แฟนบอลกลุ่มนี้ได้ชื่อว่าตามติดเชียร์ทีมเรือใบสีฟ้ามาอย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่ตอนใช้สนามเก่าที่ชื่อว่า “เมน โร้ด” พวกเขาเข้าไปเชียร์ทีมรักตั้งแต่สมัยที่ ซิตี้ ยังไม่ได้เล่นในลีกสูงสุด แม้จะไม่มีการยืนยันตัวเลขว่ามีชัด ๆ เท่าไร แต่สิ่งที่เล่าต่อกันมาคือ แฟนบอลของ ซิตี้ มากันเต็มความจุกว่า 35,000 คน
ซึ่งหากวัดกับตัวเลขที่ เอติฮัด สเตเดียม ณ ปัจจุบัน หรือล่าสุดกระทั่งฤดูกาล 2021-22 จากความจุทั้งหมดราว 55,000 คน แฟน ซิตี้ เข้ามาเชียร์เกมเหย้าในการแข่งขันพรีเมียร์ลีกทั้งหมด 51,857 คน คิดเป็น 94.3% ของความจุแบบเต็มจำนวน
จากตัวเลขตั้งแต่อดีตราว 30-40 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน พอจะบอกได้ว่าแฟนท้องถิ่นของ ซิตี้ นั้นมีจำนวนที่เยอะอยู่แล้ว แต่การดันยอดมาถึง 94% ของความจุของสนามใหม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขาได้ฐานแฟนบอลเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะจากท้องถิ่นหรือฐานแฟนบอลทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งแปลกใจที่ เป๊ป จะต้องการแฟน ๆ มากกว่านี้ในเกมเหย้า และรู้สึกว่ามีคนน้อยเกินไปในช่วงโปรแกรมยุโรป เพราะอันที่จริง ในเกมระดับที่ ยูฟ่า รับรองนั้น จำนวนแฟนบอลในสนามจะลดลงตามปกติ เพราะจะไม่มีการอนุญาตให้ขายตั๋วยืนกับแฟนบอล ดังนั้นตั๋ว 1 ใบ จะเท่ากับ เก้าอี้นั่ง 1 ตัว รวมถึงมีการกันเก้าอี้บางส่วนไว้เป็น “เขตกันชน” ระหว่างแฟนบอลของทั้งสองฝั่ง ซึ่งทำให้ความจุผู้ชมลดลง โดยสำหรับ เอติฮัด สเตเดียม ในเกมยุโรป ความจุสูงสุดจะเหลือเพียง 53,000 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ ย้อนกลับไปในเกมกลางสัปดาห์นั้น แฟนบอลของ ซิตี้ ก็จะลดหายไปเป็นปกติอยู่แล้ว และแทบจะไม่มีเกมที่มีแฟนบอลเต็มความจุเลยหากไม่เจอกับทีมใหญ่ โดยในปี 2018 มีแฟนบอลเข้าสนาม เอติฮัด ในเกม แชมเปี้ยนส์ ลีก พบ ลียง จำนวน 40,000 คน และปีต่อมากับ โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค มีแฟนบอลเข้าสนามเพียง 30,270 คนเท่านั้น
มันค่อนข้างชัดเจนเลยว่าจริง ๆ แล้ว แฟน แมนฯ ซิตี้ นั้นไม่ได้มีน้อย หรือเข้าสนามน้อยอย่างที่คิด แม้การเข้าชมเกมพรีเมียร์ลีกในเอติฮัดจะถือว่าเป็นลำดับ 12 หากเทียบกับอีก 19 ทีมในลีก แต่ถ้ามองในแง่ตัวเลขก็มีคนดูหายไปเพียง 6% ของความจุสนามเท่านั้น
ขณะที่ในเกมยุโรปนั้นมีเหตุผลมากมาย เพราะแข่งขันช่วงกลางสัปดาห์ ลงแข่งขันในเวลา 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาที่ดึกพอสมควรสำหรับการดูบอล 1 เกมโดยมีหน้าที่การงานรออยู่ในวันต่อไป … และชนชั้นกลางถึงชนชั้นแรงงานที่เป็นฐานแฟนบอลหลักของ ซิตี้ นั้นก็ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย อีกทั้งด้วยวิกฤต COVID-19 แต่ละครอบครัวก็ต้องการจะเซฟรายจ่ายของครอบครัวไปด้วย
“มันทำให้ผมประหลาดใจเมื่อเป๊ปพูดแบบนี้ถึงพวกเรา” เควิน พาร์คเกอร์ เลขาธิการทั่วไปฝ่ายแฟนบอลของ แมนฯ ซิตี้ กล่าวผ่านสื่อถึงเรื่องดังกล่าว
“ผมว่าเขาเข้าใจอะไรคลาดเคลื่อนไปบางอย่าง หรืออาจจะเข้าไม่ถึงความยากลำบากของแฟนบอล เพราะการลงเล่นในเอติฮัดตอน 2 ทุ่ม ของคืนวันพุธ มันเป็นเวลาที่ลำบากเอาเรื่องเลย”
“แฟนบอลมีเรื่องลูก ๆ ให้ต้องคิดถึง พวกเขาอาจจะไม่มีแรงพอจะจ่ายได้ แถมยังมีประเด็นเรื่องโควิดมารบกวนอีก ดังนั้นผมก็เลยไม่เข้าใจว่าเขาจะตั้งคำถามกับแฟนบอลและพูดถึงเกมกับเซาธ์แฮมป์ตันที่กำลังจะมาถึงทำไม”
“เพราะผมบอกเลยว่ามันแตกต่างกันมาก ๆ เลยนะ เกมวันเสาร์กับวันพุธเนี่ย เราเล่นเกมกับทีมเล็ก ๆ อย่าง นอริช แฟนบอลของเราก็ยังมาเพียบเต็มความจุ ผมไม่คิดว่าแฟนบอลของ ซิตี้ ควรถูกตั้งคำถามเรื่องความภักดีต่อทีม … แม้ใครจะล้อเลียนเราว่าเป็น ‘Emptyhad’ (สนามที่ไร้แฟนบอล) แต่ความจริงที่แฟน ๆ สนับสนุนทีมนั้นยอดเยี่ยมมาก” พาร์คเกอร์ กล่าวทิ้งท้าย และมันค่อนข้างจะสัมพันธ์กับตัวเลขและสถิติที่เรากล่าวมาในข้างต้นพอสมควรเลยทีเดียว
ถ้าเทียบกับทีมใหญ่อื่น ๆ เป็นเช่นไร ?
สิ่งเดียวที่ทำให้ ซิตี้ โดนล้อเลียน ณ เวลานี้ก็คือเรื่องของแฟนบอลนั่นแหละ ในขณะที่แฟนบอล ซิตี้ หายไปเกือบ ๆ 15,000 คน ในเกม แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2021-22 กับ แอร์เบ ไลป์ซิก โดยมีผู้ชมเพียง 38,062 คน เมื่อมองดูทีมในลีกเดียวกันที่ลงเล่นฟุตบอลยุโรปอย่าง ลิเวอร์พูล ก็จะเห็นความต่างได้มาก ๆ อย่างสนาม แอนฟิลด์ ที่จุคนดูได้ 54,000 คน ยังมีคนเข้าสนามถึง 51,445 คนเลยในเกมกับ เอซี มิลาน
คุณอาจจะคิดว่านี่อาจเกิดขึ้นเพราะคู่แข่งของ ลิเวอร์พูล เป็นทีมใหญ่เหมือนกัน แถมยังมีปูมหลังที่เกี่ยวข้องกันในรายการนี้จึงอาจจะทำให้แฟน ๆ อยากเข้าชม แต่ก็อยากให้ลองมอง เชลซี ที่เปิดรังเหย้า สแตมฟอร์ด บริดจ์ ชนะ ทีมอย่าง เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก 1-0 โดยในเกมนั้นมีกองเชียร์เข้าสนาม 39,252 คน จากความจุทั้งหมด 41,837 คน
จะเห็นได้ว่า เชลซี เจอทีมจากลีกเล็กกว่า (ไลป์ซิก – เยอรมัน, เซนิต – รัสเซีย) ด้วยซ้ำ แต่แฟนบอลของพวกเขาก็ยังเข้าสนามด้วยเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่า แมนฯ ซิตี้ เยอะเลยทีเดียว
จะด้วยเหตุผลอะไรก็ช่าง มันทำให้แฟน แมนฯ ซิตี้ โดนเรียกว่า “พลาสติกแฟน” (Plastic Fan) หรือแฟนบอลตัวปลอม ขยายความอีกขั้นก็คือ แฟนบอลที่เพิ่งเริ่มหันมาเชียร์เมื่อทีมมีตังซื้อนักเตะเก่ง ๆ จ้างกุนซือดี ๆ โดยที่ก่อนหน้านี้พวกเขาอาจจะเชียร์ทีมอื่น ๆ มาก่อน
จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไรเลยด้วยซ้ำ ทุกคนมีสิทธิ์จะเลือกทีมที่ตัวเองชื่นชอบ และจะเป็นทีมไหนก็ได้บนโลก เพียงแต่ว่าแฟนฟุตบอลนั้นเป็นกลุ่มคนที่ชอบยึดมั่นถือมั่นกับเรื่องของศักดิ์ศรีอยู่พอสมควร พวกเขาจะมีความภูมิใจมาก ๆ ที่ได้บอกว่า “ผมร่วมหัวจมท้ายมาพร้อม ๆ กับสโมสรนี้”
พวกเขาเชียร์ตอนทีมตกชั้น เชียร์ตอนที่ทีมยังแข่งไปก็มีแต่แพ้ หรืออะไรก็ตามที่บ่งบอกถึงความลำบาก ซึ่งในวันหนึ่งที่สโมสรประสบความสำเร็จ พวกเขาก็จะพูดได้อย่างเต็มปากว่าพวกเขาคือ Real Fan หรือแฟนตัวจริง ไม่ใช่ พลาสติก หรือของปลอมทำเหมือน ที่หันมาเริ่มเชียร์ตอนทีมชนะ
ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่เขาพูดนั้นเท่จริงหรือไม่ ? มีศักดิ์ศรีมากกว่าคนอื่น ๆ แค่ไหน ? คำตอบนั้นไม่ตายตัว แล้วแต่คนจะคิด ต้องบอกแบบนั้นจึงจะดีที่สุด
แฟน แมนฯ ซิตี้ ถูกกระทำแบบไม่แฟร์นักที่จะบอกว่าพวกเขาเป็นตัวปลอม ที่สำคัญคำ ๆ นี้เริ่มถูกเอาออกมาใช้ก็ตอนที่ แมนฯ ซิตี้ เริ่มคว้าแชมป์มากขึ้นเรื่อย ๆ จุดนี้อาจจะมองได้ว่าเมื่อถึงวันที่ ซิตี้ เก่งขึ้นในแง่ผลงานในสนามจนทีมอื่น ๆ ยากจะชนะ พวกเขาก็ต้องเอาเรื่องอื่น ๆ เอามาข่มแทน … “หาเรื่องล้อ” ว่าง่าย ๆ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น
เดนนิส เบิร์กแคมป์ อดีตนักเตะตำนานดาวยิงของ อาร์เซน่อล เคยกล่าวว่า “เมื่อคุณเริ่มเชียร์ทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง คุณไม่ได้เชียร์พวกเขาเพราะเรื่องของถ้วยรางวัล ตัวผู้เล่น หรือประวัติศาสตร์ คุณสนับสนุนและเชียร์ทีม ๆ นี้ ก็เพราะว่าพบว่านี่คือที่ของคุณ มันเป็นบรรยากาศและเป็นสถานที่ที่คุณคิดว่ามันถูกที่ถูกเวลาที่สุดแล้ว”
เราเชื่อว่าประโยคนี้เหมาะสมกับกรณีแฟนบอล แมนฯ ซิตี้ ที่สุด จะด้วยเรื่องแชมป์ ประวัติศาสตร์ หรือนักเตะดี ๆ มันไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือพวกเขาได้เจอทีมที่ใช่สำหรับตัวเอง พวกเขาสนุกและมีความสุขกับวัฒนธรรมรอบตัว ดังนั้นต่อให้ถูกเรียกพวกเขาว่าพลาสติก พวกเขาก็ไม่ควรเปลี่ยนใจเพราะคำล้อนั้น และคงดีกว่ามากหากพวกเขาใช้เรื่องของถ้วยรางวัลและแชมป์ล้อกลับไปบ้าง
ที่เรากล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพราะต้องการทำให้แฟน ๆ ของ แมนฯ ซิตี้ กลายเป็นพระเอก แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่เลย เพราะครั้งหนึ่งแฟน ๆ ของ แมนฯ ซิตี้ ก็ยังเคยล้อเลียนแฟน ๆ ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุคของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เลยว่า เป็นทีมที่ไม่ใช่ความภูมิใจของเมืองแมนเชสเตอร์ เนื่องจากคนที่เข้ามาชมเกมในโอลด์ แทรฟฟอร์ด ต่างเป็นคนต่างชาติทั้งนั้น โดยเฉพาะคนจีนและคนอิหร่าน … นี่คือสิ่งที่พวกเขากล่าวไว้ในช่วงราว ๆ ปี 2000
เรื่องทั้งหมดมันธรรมดามาก แฟน ซิตี้ โดนล้อเลียนกลับในวันที่พวกเขาประสบความสำเร็จที่สุด และยุคนี้ก็เป็นยุคที่สื่อโซเชียลบูมมาก เรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นข่าวได้ทั้งนั้น ดังนั้นคำว่า พลาสติกแฟน จึงกลายเป็นคำติดตลาด และแฟนบอลทีมอื่น ๆ รวมถึงสื่อก็จะเฝ้ารอวันที่แฟนบอลของพวกเขาจะไม่เข้าสนามในเกมไหนสักเกม จากนั้นก็ได้เวลาเอาข่าวมาขยี้เหมือนกับที่ทำอยู่ทุกวันนี้
เพราะ แมนฯ ซิตี้ ไม่ได้แข่งกับ จิลลิ่งแฮม, เปรสตัน หรือ เรดดิ้ง เหมือนในอดีตอีกแล้ว พวกเขาเป็นทีมยักษ์ใหญ่ของลีกตีคู่กับทีมระดับท็อปอีกมากมาย ดังนั้นการเปรียบเทียบจึงเกิดขึ้นได้เสมอ
แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่า แมนฯ ซิตี้ เสียเปรียบทีมอื่น ๆ ตรงที่เรื่องของความสำเร็จเริ่มมากเกิดขึ้นเอาในยุคหลัง ๆ ดังนั้นการสร้างฐานแฟนคลับจากต่างประเทศ จึงทำได้น้อยกว่าทีมอื่น ๆ อย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด หรือ ลิเวอร์พูล ที่ใช้เวลาสร้างประวัติศาสตร์มาหลายสิบปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องเริ่มที่ก้าวแรก และตอนนี้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กำลังเริ่มต้นสิ่งนั้น