อาจารย์มหาวิทยาลัยชาวญี่ปุ่น พัฒนาจอทีวี ที่สามารถ เลียได้-มีรสชาติ ในอนาคตเตรียมผลิตขายจริง มุ่งลดข้อจำกัดยุคโควิด และ ส่งเสริมการเรียนรู้ทางไกล

Reuters
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า นาย โฮเมอิ มิยาชิตะ อาจารย์มหาวิทยาลัยชาวญี่ปุ่น ได้พัฒนาจอโทรทัศน์ต้นแบบที่ทำให้ผู้ชมสามารถเลียเพื่อชิมรสชาติ โดยจอดังกล่าวนี้ สามารถเลียนแบบรสชาติอาหารแบบต่าง ๆ ได้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นสู่การสร้างประสบการณ์การรับชมโทรทัศน์แบบหลายประสาทสัมผัส
อุปกรณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า “เทสต์ เดอะ ทีวี” หรือ ทีทีทีวี (TTTV) ซึ่งใช้ถังเก็บรสกว่า 10 รสชาติ มาผสมและพ่นสเปรย์รวมกันเพื่อสร้างรสชาติเฉพาะของอาหารตามที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ ตัวอย่างรสชาติจะถูกพ่นลงบนแผ่นฟิล์มที่ถูกสุขอนามัยบนโทรทัศน์จอแบนเพื่อให้ผู้ชมได้ลิ้มลอง

Reuters
“ในยุคโควิด-19 เทคโนโลยีประเภทนี้สามารถปรับปรุงวิธีที่ผู้คนเชื่อมต่อและโต้ตอบกับโลกภายนอกได้มากขึ้น เป้าหมายคือการทำให้ผู้คนได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหารที่ร้านอาหารที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของโลก แม้ในขณะที่ตัวของพวกเขาอยู่ที่บ้าน” นาย โฮเมอิ มิยาชิตะ อาจารย์ชาวญี่ปุ่น สาขาสหวิทยาการ วิทยาการทางคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าว

Reuters
นาย มิยาชิตะ ไม่เพียงสร้างจอโทรทัศน์ที่ชิมรสชาติได้ เขายังทำงานร่วมกับกลุ่มนักศึกษาอีกกว่า 30 คน ในการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับรสชาติอีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โคนรับรสชาติ และ ส้อมที่สามารถเพิ่มความเข้มข้นของรสชาติอาหาร เป็นต้น นาย มิยาชิตะ อธิบายเพิ่มเติมว่า เขาสร้างต้นแบบ “เทสต์ เดอะ ทีวี” ด้วยตนเองในปีที่ผ่านมา และจะมีการสร้างเพื่อผลิตขายในเชิงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้ทุนในการสร้างประมาณ 100,000 เยน (ประมาณ 3 หมื่นบาท)

Reuters
นาย มิยาชิตะ เปิดเผยว่า เขาคาดว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถใช้กับแอปพลิเคชันการเรียนรู้ทางไกล เช่น หลักสูตรทำไวน์ หรือ หลักสูตรทำอาหาร รวมถึง การทดสอบ หรือ เกมต่าง ๆ นอกจากนี้ นาย มิยาชิตะ ยังได้พูดคุยกับบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสเปรย์หัวฉีดของเขาสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย เช่น อุปกรณ์ที่สามารถนำรสชาติพิซซ่าหรือช็อกโกแลตมาทาบนขนมปังปิ้ง
นางสาว ยูกิ โฮ่ว นักศึกษามหาวิทยาลัยเมจิ วัย 22 ปี สาธิตการใช้ “เทสต์ เดอะ ทีวี” ให้ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ดู โดยบอกกับหน้าจอโทรทัศน์ว่าเธออยากชิมช็อกโกแลตรสหวาน หลังจากทดลองสักครู่ เสียงอัตโนมัติจากเครื่อง “เทสต์ เดอะ ทีวี”ก็ดังขึ้น และหัวฉีดรสชาติก็ฉีดตัวอย่างลงบนแผ่นพลาสติก หลังจากชิมรสชาติ เธอกล่าวว่า “มันมีรสเหมือนช็อคโกแลตนม หวานเหมือนซอสช็อกโกแลต”

Reuters