"มาร์ค คาเวนดิช" : จากเสมียนตัวอ้วนสู่ยอดตัวสปรินท์ระดับ GOAT ของวงการจักรยาน

Home » "มาร์ค คาเวนดิช" : จากเสมียนตัวอ้วนสู่ยอดตัวสปรินท์ระดับ GOAT ของวงการจักรยาน

มาร์ค คาเวนดิช คือหนึ่งในนักปั่นจักรยานทางไกลสายสปรินท์ที่โดดเด่นที่สุดของโลก เขาคว้าเสื้อเขียว เจ้าความเร็วของศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ในปี 2011 และรางวัลอะไรต่อมิอะไรมากมาย จนถึงขั้นได้รับการประดับยศจากราชินีอังกฤษ

เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ คือตำนานที่ใครหลายคนไม่เคยรู้..  

สิบกว่าปีก่อน เขาเป็นพนักงานออฟฟิศ นั่งติดจอคอม กินไม่ยั้ง ไม่ออกกำลังกาย และอ้วนเกินเกณฑ์ แต่เมื่อบางสิ่งเข้ามา เขาจึงรู้ว่าร่างกายของคนเรานั้นมีขีดจำกัดที่สูงเกินกว่าที่ใครจะมองเห็นมัน หากไม่มุ่งมั่นและตั้งใจจริงๆ

นี่คือเรื่องราวของ GOAT แห่งการสปรินท์ในวงการจักรยาน.. ติดตามได้ที่นี่

วัยเด็ก.. ที่เกือบหลุดโค้ง 

วัยเด็กของ มาร์ค คาเวนดิช นั้นผูกพันกับจักรยานมาตั้งแต่จำความได้ เขาเริ่มขี่จักรยาน BMX ตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ โดยที่ที่เขาจะนัดเจอและรวมแก๊งกับเพื่อนๆคือศูนย์กีฬาแห่งชาติ ในเมืองดักลาส ที่เกาะแมน (Isle of Man – เกาะเล็กๆในการปกครองของสหราชอาณาจักร) ซึ่งในขณะที่เขาทำเช่นนั้นไปทุกเมื่อเชื่อวัน พ่อและแม่ของเขาก็เริ่มจะเห็นบางอย่างในตัวของเขา นั่นคือ มาร์ค คือคนที่ชอบปั่นจักรยานจริงๆ ทว่ารถจักรยาน BMX ของเขาต้องใช้แรงเยอะมากกว่าปกติ จึงจะตามเพื่อนๆที่ปั่นจักรยานเสือภูเขาเสมอ ดังนั้น พวกเขาจึงตั้งใจซื้อจักรยานเสือภูเขาเป็นของขวัญให้ลูกชาย

1

“ผมปั่นจักรยานอยู่เรื่อยเลย จนวันหนึ่งแม่ของผมบอกว่า แม่ตลกมากที่เห็นผมต้องปั่นจักรยาน BMX ไล่กวดรถจักรยานของเพื่อน ผมร้องขอให้ท่านซื้อจักรยานเสือภูเขาให้ผมอยู่พักใหญ่ และสุดท้ายผมก็ได้มันมาครอบครอง” 

“หลังจากได้จักรยานเสือภูเขาคันแรกในวันเกิดครบรอบอายุ 13 ปี ผมเอามันออกมาปั่นแข่งกับเพื่อนๆ และผมสามารถเอาชนะเพื่อนทุกคนได้นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา” คาเวนดิช กล่าว 

ชัยชนะนั้นเป็นเหมือนสิ่งเสพติดสำหรับคนที่เกิดมาเป็นแชมเปี้ยน.. หลังจากนั้นเป็นต้นมา คาเวนดิช เอาจริงเอาจังถึงขั้นตั้งเป้าเป็นนักปั่นจักรยานอาชีพ เขาได้รับแรงบันดาลใจจาก เดวิด มิลลาร์ นักปั่นชาวสก็อต ที่มาแข่งรายการ Isle of Man Cycling Festival ในเกาะบ้านเกิดตอนเจ้าตัวอายุเพียง 11 ปี ความเอาจริงเอาจังนั้นถูกซึมซับมาเรื่อยๆ จนที่สุดแล้ว คาเวนดิช เลือกเส้นทางของตัวเองด้วยการลาออกจากโรงเรียน และหางานทำด้วยการเป็นเสมียนในธนาคาร เพื่อหาเงินให้เพียงพอสำหรับความฝันในการเป็นนักปั่นอาชีพ 

ทว่าชีวิตจริงไม่เคยง่าย เมื่อต้องมานั่งทำงานนั่งโต๊ะ เขาก็โดนสภาพแวดล้อมและธรรมชาติของพนักงานออฟฟิศเล่นงาน นั่นคือ เมื่อทำงานติดโต๊ะอยู่ 2-3 ปี เขาก็ออกกำลังกายน้อยลง กินมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาคือน้ำหนักตัวที่อ้วนขึ้น จนไม่สามารถปั่นจักรยานได้ดีอย่างเดิม

2

มาร์ค คาเวนดิช อาจจะไม่เคยบอกว่าเขาอ้วนขนาดไหน แต่เขาให้สัมภาษณ์ว่า “I’m Fat Banker” (พนักงานธนาคารตัวอ้วน) ซึ่งถึงตอนนั้น เขาก็เกือบหลุดจากเส้นทางที่ตนเองเคยฝันแล้ว จนกระทั่งเขาได้พบเจอกับใครคนหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาโดยแท้จริง

ผู้หญิงเปลี่ยนโลก 

“ตอนนั้นอายุ 16 ปีเห็นจะได้มั้ง ผมเองห่างจากวงการปั่นจักรยานพอสมควรเลย ผมเป็นเสมียนในธนาคารบาร์เคลย์ กินๆ นั่งๆ จนมีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์เลยทีเดียว” 

“มื้อเที่ยงของงานจะมีเวลาให้กินราวครึ่งชั่วโมง แต่ผมจัดเต็มมาก กิจวัตรคือการซื้อแซนด์วิชกุ้ง พร้อมมันฝรั่งอบกรอบอีก 1 ห่อใหญ่ ตอนนั้นผมยอมรับเลยว่าผมเสพติดจังค์ฟู้ด (อาหารขยะ) มันเป็นมาจนถึงทุกวันนี้ เวลาเห็นขนมห่อพวกนั้นเหมือนมันกำลังส่งเสียงเรียกผมอยู่” คาเวนดิช กล่าวอย่างอารมณ์ดี 

3

หากใครที่เคยได้เข้าวงการเด็กอ้วน หากินของอร่อย และขี้เกียจออกกำลังกายแล้ว จะเข้าใจดีว่าการลุกออกจากเก้าอี้ทำงานมาออกกำลังกายมันยากขนาดไหน ใครสักคนที่เอาชนะความขี้เกียจได้ นั่นหมายถึงว่าคนๆนั้นจะต้องเป็นคนที่มีแรงจูงใจชัดเจนถึงขีดสุดจริงๆ 

คาเวนดิช ยังคงทำงานไป ซ้อมปั่นจักรยานแบบสมัครเล่นไป แม้ว่าเขาจะมีพรสวรรค์และพลังอยู่บ้าง จนสามารถเก็บเงินเเล้วคัดเลือกเข้าสู่ British Cycling เข้าไปอยู่ใน Olympic Academy ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะก้าวมาเป็นนักปั่นระดับโลก แม้จะเข้าไปได้แบบฉิวเฉียด เพราะเจ้าตัวสอบตกในการปั่นจักรยานอยู่กับที่ ทว่าทีมโค้ชไปขอร้องกับผู้อำนวยการสถาบันให้เก็บตัวไว้เพราะเห็นถึงศักยภาพ 

การได้รับการร้องขอครั้งนี้เปรียบเหมือนโอกาสที่ 2 ที่ คาเวนดิช จะพลาดอีกไม่ได้อีกต่อไป เขามุ่งมั่นในการปั่นจักรยานอย่างเต็มที่ แต่วินัยในเรื่องอาหารการกินนั้นยังแก้ไขได้ไม่เต็มร้อย เนื่องจากปีศาจจังค์ฟู้ดยังตามหลอกหลอนเขา พวกขนมกรอบ ขนมถุง ยังเป็นสิ่งที่เขาตัดใจจากมันไม่ได้ และนั่นทำให้ คาเวนดิช ไปไม่สุดทางเสียที 

ในช่วงการเทิร์นโปรเข้าสู่นักปั่นอาชีพในปี 2005 ความเก่งของ คาเวนดิช เริ่มฉาย แต่มันยังไปได้ไม่สุดทางอย่างที่เขาหวัง เพราะสำหรับนักปั่นในสไตล์ที่ทุ่มพลังไปกับการสปรินท์นั้น เป้าหมายคือการลบคำปรามาสในรายการจักรยานทางไกลอย่าง ตูร์ เดอ ฟร้องซ์ นั่นเอง 

4

ช่วงของการพักร้อนในปี 2006 เขาได้พบกับใครสักคนที่สามารถผลักดันตัวเขาได้ดียิ่งกว่าใครๆที่เขาเคยพบเจอ.. เขาไปที่สหรัฐอเมริกา และพบกับคนที่จะมาเป็นภรรยาของเขาในอนาคต

มาร์ค โชคดีที่ได้พบกับผู้หญิงที่ชื่อว่า พีต้า ในระหว่างที่เขาเดินทางไปพักร้อนที่ลอส แอนเจลิส ทั้ง 2 คนเจอกันที่ท่าเรือซานตา โมนิกา และสานสัมพันธ์กันด้วยเดทแรก จากนั้นก็เริ่มคบหาดูใจกันเรื่อยมา 

ไลฟ์สไตล์ของกันและกันคือเรื่องสำคัญมากสำหรับชีวิตคู่ มาร์ค ไม่เคยเจอความรักในแบบที่ พีต้า ให้ เธอเคยเป็นลูกชาวไร่ที่ชอบทำอาหารกินเองที่บ้าน และเมนูที่บ้านของ พีต้า ก็กลายมาเป็นสิ่งที่เธอนำมาวางบนโต๊ะอาหารให้กับ คาเวนดิช แทน จากคนกินจังค์ฟู้ดเต็มระบบ คาเวนดิช ได้รับการจัดเมนูสุขภาพตามฉบับชาวไร่แบบไม่เว้นแต่ละวัน  

“ผมเดทกับ พีต้า ที่ร้านของเชฟ อกอสติโน ซิอันดรี ซึ่ง แม็กซ์ ลูกชายของเขาเคยคว้าเหรียญทองแดง (จักรยาน โรดเรซ) ในแอตแลนต้าเกมส์ ปี 1996 หลังไปที่นั่น เราได้สูตรอาหารแบบทัสคานีมา จากนั้นเราก็ได้สูตร ‘อาหารแบบชาวไร่’ ที่ใช้ส่วนผสมที่หาได้ง่าย ผ่านการปรุงน้อยมาก บางครั้งก็แค่ผักสดคลุกกับน้ำมันและน้ำส้มสายชูนิดหน่อยก็อร่อยแล้ว”

“หลังจากนั้น เมื่อผมแต่งงาน พีต้า ก็เข้ามาควบคุมอาหารการกินของผม เธอเหลือเชื่อมากๆ เธอมีสูตรอาหารที่แตกต่างกันมากมาย เปลี่ยนสูตรการทำทุกวัน ผมได้เรียนรู้ว่าตัวเองเคยกินโปรตีนจากสิ่งไหน ควรรักษากล้ามเนื้อส่วนใดบ้าง” 

การเจอกับ พีต้า ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของ มาร์ค คาเวนดิช อย่างแท้จริง มื้ออาหารของเขาถูกจัดให้อย่างเหมาะสม เพราะ พีต้า นั้นก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ จากการที่เธอเป็นคอลัมนิสต์ด้านอาหารของหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ของอังกฤษอย่าง “เดอะ ซัน”  

5

ซึ่ง คาเวนดิช เล่าว่าอาหารการกินของเขาที่ พีต้า จัดให้แตกต่างกับนักปั่นจักรยานคนอื่นๆ เนื่องจากเธอเอาสัดส่วนและน้ำหนักของเขาไปคำนวณเพื่อเตรียมอาหารที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพได้ดีที่สุด 

พีต้า ทำให้ คาเวนดิช ได้กินของที่มีประโยนช์และส่งผลโดยตรงต่อการฝึกซ้อมของเขา ซึ่งนั่นคือขุมพลังสำคัญที่ทำให้เขากำลังจะเจอเส้นทางที่ยิ่งใหญ่ที่ตนเองฝันมาตลอด

เทพเจ้าแห่งการสปรินท์ 

คาเวนดิช หลับหูหลับตาฝึกอย่างหนักหน่วง เพราะว่ากันกันว่า หลักสูตรการสอนเพื่อยกระดับนักกีฬาที่นี่ไม่ต่างจากเผด็จการ เมื่อได้รับคำสั่งต้องทำตาม ซึ่งในแต่ละปีก็มีคนถอดใจเยอะ แต่ไม่ใช่สำหรับ คาเวนดิช ที่นอกจากจะพยายามในส่วนของการฝึกซ้อมแล้ว เขายังเคยต้องรับงานเป็นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดและพนักงานโรงอาหารในสถาบัน เพื่อรับค่าจ้างราว 60 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ใช้เป็นค่ากินอยู่อย่างประหยัด 

คาเวนดิช เล่าว่าเขาซ้อมปั่นจักรยานราวๆวันละ 7 ชั่วโมงแบบเต็มๆ ซึ่งสิ่งที่เขาปลดล็อกได้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันปั่นจักรยานนั่นคือการ สปรินท์ หรือการเร่งความเร็วแบบเฉียบพลัน ซึ่งต้องใช้พลังงานในการปั่นสูงมาก และร่างกายของ คาเวนดิช ที่กินดี อยู่ดี และ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงตารางการฝึกซ้อมที่เน้นเรื่องกำลังขาในการปั่นขึ้นเนินเขาที่มีความชันสูง ทำให้เขาสามารถมีระยะสปรินท์ได้ไกลกว่าคนอื่นๆในสถาบันทั้งหมด

6

“การฝึกซ้อมของเราเป็นการฝึกที่เข้มข้นมาก เราต้องสปรินท์กันแทบจะทั้งวันทั้งคืน ให้อีกคนหนึ่งเป็นคนนำและให้อีกคนปั่นแซงให้ได้ คำแนะนำเดียวที่ผมได้จากการฝึกซ้อมคือ ‘ออกไปปั่นให้หนักๆเข้าไว้’ เดี๋ยวทุกอย่างจะดีเอง ส่วนเรื่องพรสวรรค์อย่าไปสนมันเลย” 

“ผมมักจะได้รับการเน้นให้สปรินท์ในช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขันเสมอ ผมพยายามฝึกให้ได้เกินระยะกับคนอื่นๆ แม้กระทั่งในการแข่งขัน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ที่คนอื่นสปรินท์กันได้ในระยะ 150-250 เมตรแบบสุด แต่ผมคิดว่าผมสามารถทำได้อย่างต่ำๆก็ 300 เมตรเสมอ” 

เป็นที่เข้าใจในหมู่คอจักรยานว่า ชื่อของ มาร์ค คาเวนดิช นั้นคือหนึ่งใน “GOAT” หรือเก่งที่สุดตลอดกาลด้านการสปรินท์โดยตรง เทคนิคการปั่นของเขาและการเร่งสปีดอันเป็นตำนานถือเป็นทักษะที่เมื่อเขาปลดล็อกได้แล้วทุกอย่างก็สยบใต้แทบเท้าอย่างแท้จริง

จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของเขาเกิดขึ้นเมื่อปี 2005-2006 เมื่อเขาสามารถคว้าแชมป์โลกจักรยานลู่ในประเภทเมดิสัน พร้อมๆกับการก้าวสู่วงการจักรยานถนนระดับมืออาชีพ และหลังจากนั้น เจ้าตัวก็กลายเป็นสปรินท์เตอร์ตัวฉกาจที่กวาดความสำเร็จมาแล้วทุกสนาม

เสื้อเจ้าความเร็วตัวแล้วตัวเล่า ถูกเขานำมาใส่กรอบติดไว้ที่บ้าน รวมถึงเสื้อเขียว เจ้าความเร็วในจักรยานทางไกลรายการที่เก่าแก่และโหดที่สุดในโลกอย่าง ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ที่ทำได้เมื่อปี 2011 ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าตัวยังคว้าแชมป์สเตจรายการนี้ตลอดอาชีพได้มากถึง 30 ครั้ง เป็นรองเพียง เอ็ดดี้ เมิร์กซ์ ที่ทำไว้ 34 ครั้งเท่านั้น

7

แต่หากจะถามว่าเสื้อตัวไหนที่ มาร์ค คาเวนดิช ภูมิใจที่สุด? คำตอบนั้นเจ้าตัวบอกเองว่าคือ เสื้อเหลือง ที่สงวนไว้สำหรับเฉพาะผู้ทำเวลารวมเร็วที่สุดใน ตูร์ เดอ ฟรองซ์ เท่านั้น.. นี่คือเสื้อที่เหล่าสปรินท์เตอร์ได้เพียงแค่ฝัน เพราะโดยปกตินักจักรยานอาชีพจะถูกฝึกให้เด่นแค่ด้านใดด้านหนึ่งเพียวๆ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ได้สวมเสื้อนี้มักเป็นนักปั่นที่ทำผลงานไต่เขาได้ดี แต่ที่สุดแล้ว เขาก็คว้ามันมาได้ 1 ตัว จากการคว้าแชมป์สเตจแรกเมื่อปี 2016

ถึงอายุจะล่วงเลยสู่วัย 35 ปีแล้วในตอนนี้ แต่ชื่อของ มาร์ค คาเวนดิช ยังเป็นตัวเต็งในทุกสนามที่ลงแข่งขัน เพราะแม้หลังๆจะมีอาการบาดเจ็บรบกวนเป็นระยะ แต่ปี 2021 ก็ยังมีผลงานแชมป์สเตจจักรยานทางไกลติดมือ ความสำเร็จหลังยุค 2010s ถือว่าเขานั้นเป็นเบอร์ 1 ของวงการในสายเจ้าความเร็วก็ว่าได้ 

นอกจากความสำเร็จในแง่การแข่งขันแล้ว เขายังเป็นบุคคลแบบอย่างของสังคมในแง่การปฎิบัติตัวแบบมืออาชีพ โดยในปี 2011 เขาได้รับการประดับยศเป็นสมาชิกของภาคีจักรวรรดิอังกฤษ (MBE) นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล BBC Sports Personality of the Year Award ในปี 2011 อีกด้วย

8

เหนือสิ่งอื่นใด ชีวิตของคนเราล้วนต้องการจุดเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย เพื่อสร้างอิมแพกต์ที่ยิ่งใหญ่เกินใครจะคาดเดาได้ 

ใครจะคิดว่าหนุ่มออฟฟิศน้ำหนักเกินเกณฑ์จะเปลี่ยนไปภายในเวลาไม่กี่ปี.. ผู้หญิง 1 คน, อาหาร 1 มื้อ และ บรรยากาศดีๆสัก 2-3 ชั่วโมง มากพอที่จะทำให้ มาร์ค คาเวนดิช ระลึกขึ้นมาได้ว่าฝันที่แท้จริงของเขาคืออะไร?..

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเขาก็หามันเจอ และทะยานไปคว้ามันได้อย่างยิ่งใหญ่สมราคาแชมป์อย่างแท้จริง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ