27 พฤศจิกายน 2566 เทศกาลวันลอยกระทง กรมเจ้าท่า ได้วางมาตรการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ เพื่อสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนที่มีความประสงค์ที่จะลอยกระทง ซึ่ง วันลอยระทง 2566 นี้คาดว่าจะมีผู้คนออกมาท่องเที่ยวตามสถานที่จัดงานมากมาย จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการจัดงานครั้งนี้ โดยได้ออกมาตรการมาทั้งหมด 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
- วันลอยกระทง จุดพลุ – ปล่อยโคมลอย ไม่ขออนุญาติ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
- แจกพิกัด 5 เว็บลอยกระทงออนไลน์ 2566
- 4 ลัคนาราศี ลอยกระทงปีนี้ ไม่ต้องลอยคนเดียวแล้วนะ!
1. ขณะรอเรือเทียบท่า ควรยืนรอบนท่าเรือไม่ควรยืนรอที่โป๊ะเรือ รอจนเรือจอดสนิท ผู้โดยสารขึ้นจากเรือหมดแล้ว จึงค่อยลงเรือ
- ก่อนลงเรือ ควรสังเกตป้ายบอกจำนวนคนและปริมาณการรับน้ำหนัก ถ้าเห็นว่าเกินกำหนด ไม่ควรฝืน ควรรอเรือลำต่อไป
- ไม่นั่งบนกราบเรือ หรือ วางมือไว้บนกราบเรือ อาจเกิดอันตรายได้
2. ผู้โดยสาร ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจากการขาดสติ รวมทั้งเพื่อสามารถช่วยเหลือตัวเองได้หากเกิดอุบัติเหตุ
3. ก่อนเดินทาง ควรเช็กสภาพอากาศหากมีพายุเข้า เรืออาจจะต้องงดออกเดินเรือ
- ทุกครั้งที่โดยสารเรือ ควรสวมเสื้อชูชีพไว้ตลอดเวลา
4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือ โดยเคร่งครัด
5. ขณะโดยสารเรือให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของนายเรือ
หากพบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยทางน้ำ โทรสายด่วน กรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้รณรงค์มาตรการ 3 ปลอด เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงเทศกาล วันลอยกระทง 2566 ได้แก่
- ปลอด..จากวัสดุไม่ธรรมชาติ 100% เช่น โฟม เข็มหมุด ตะปู ลวดเย็บกระดาษ
- ปลอด..จากประทัด โคมลอย พลุ (ห้ามขาย ห้ามจุด ห้ามปล่อย)
- ปลอด..อันตรายจากโป๊ะ-ท่าเรือไม่แข็งแรง (ตรวจความมั่นคง แข็งแรง และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลประจำโป๊ะ – ท่าเรือ)
ในปี 2566 นี้ คาดว่าจะมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะท่าเทียบเรือโดยสารริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากท่าเทียบเรือพัง โป๊ะล่ม รวมทั้งความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และอันตรายจากการเล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น
กรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงจัดทำ แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 เพื่อ
- กำหนดมาตรการและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์สาธารณภัยในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่อาจเกิดขึ้น ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดสาธารณภัย
- และลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยกำหนดมาตรการ แนวทาง และขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ขั้นเตรียมการก่อนเทศกาลลอยกระทง (ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป) ขั้นปฏิบัติการระหว่างเทศกาลลอยกระทง และขั้นปฏิบัติการหลังเทศกาลลอยกระทง
นอกจากนี้ ยังได้มี ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 และขอความร่วมมือจากผู้ผลิต สะสม จำหน่าย ผู้เล่นดอกไม้เพลิงและโคมลอย ตลอดจนผู้จัดงานเทศกาลลอยกระทง และประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1. กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดแผนป้องกันอันตรายจากดอกไม้เพลิง และการเล่นโคมลอยและจัดตั้งชุดเฉพาะกิจจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ ตรวจตราสถานประกอบการที่ผลิตสะสม และจำหน่ายดอกไม้เพลิงอย่างเข้มงวดตามกฎหมาย ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงเทศกาลลอยกระทงเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน
2. ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการเขตพื้นที่นั้น หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนผู้ประสงค์จะขอจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ ให้ยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาต พร้อมแผนการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ แจ้งศูนย์วิทยุพระราม โทร. 199
3. ห้ามมิให้ผู้ใดทำ สั่ง นำเข้า หรือค้าซึ่งดอกไม้เพลิง รวมตลอดถึงพลุ ประทัดไฟ ประทัดลม และวัตถุอื่นใด อันมีสภาพคล้ายคลึงกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ขอความร่วมมือสถานประกอบการ สถานบันเทิง ผู้จัดงาน หรือเจ้าของพื้นที่ที่จัดงานเทศกาลลอยกระทง ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานที่จัดงาน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องเล่นต่างๆ ภายในงาน หากพบจุดเสี่ยงอันตรายหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดเสียหายให้ดำเนินการแก้ไขให้มีความปลอดภัยหรือประสานผู้รับผิดชอบดำเนินการทันที ตลอดจนจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย คอยดูแลสอดส่องและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กำหนดเส้นทางเข้า-ออก เพื่อลดความหนาแน่นในพื้นที่
5. แจ้งเตือนประชาชน เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลบุตรหลานหรือเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเด็กจมน้ำ หรือพลัดหลง และจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณพื้นที่สำหรับลอยกระทง ให้ลอยกระทงในพื้นที่ที่มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นท่าน้ำหรือโป๊ะเรือต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอ และมีที่กั้นหรือราวจับเพื่อป้องกันการตกน้ำ หากขึ้นเรือลอยกระทงกลางแม่น้ำ ควรสวมเสื้อชูชีพ และรณรงค์ให้ผู้มาร่วมงานเทศกาลลอยกระทง งดดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพของมึนเมาชนิดต่างๆ เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ หรือประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่ และผู้เดินเท้าต้องข้ามถนนโดยใช้ทางข้าม หรือที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยให้ความสะดวก หากพบผู้บาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน แจ้งศูนย์เอราวัณ โทร. 1669
ที่มา เพจ กรุงเทพมหานคร , กรมเจ้าท่า